Skip to main content

'ฉัตรชัย​ พรหมเลิศ' ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) แถลงชี้แจงผ่านสื่อไทย หลังมีการเผยแพร่เอกสารของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ในเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อ 19 มิ.ย. บ่งชี้ว่า ศบค.มท.มีเอกสารให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ​และอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ "พิจารณาสนับสนุน" วัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานและครอบครัวของบริษัท ไทยเบฟเบเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ 'ไทยเบฟ' รวมกว่า 7 หมื่นคน​ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสื่อออนไลน์

เนื้อหาในเอกสารต้นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ลงวันที่ 17 มิ.ย.2564 ระบุว่า ไทยเบฟ "เป็นภาคเอกชนที่มีภารกิจและโครงสร้างการดำเนินงานในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ" จึงขอให้ กทม.และจังหวัดอื่นๆ พิจารณาให้การสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่มี พร้อมย้ำว่า ศบค.มท.ได้แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุข "พิจารณาสนับสนุนวัคซีนให้บริษัทแล้ว"  

ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ติดแฮชแท็ก #ไทยเบฟ จึงพากันตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดบริษัทมหาชนที่สร้างรายได้ต่อปีเป็นจำนวนมหาศาลจึงต้องขอความอนุเคราะห์เรื่องวัคซีน ในเมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (รจภ.) ได้จัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อจัดสรรให้แก่บริษัทที่มีกำลังซื้อ 'วัคซีนทางเลือก' เพื่อไปฉีดให้แก่พนักงานในความดูแลของตัวเอง

กรณีนี้ ปลัด มท.ชี้แจงว่า ทุกบริษัทหรือองค์กรเอกชนมีสิทธิขอให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนไปฉีดให้แก่บุคลากรเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นคลัสเตอร์และติดเชื้อแพร่ระบาดได้ และที่ผ่านมาก็มีทั้งส่วนราชการ​  เอกชน​ สมาคม รวมถึงสภาอุตสาหกรรมฯ ทำหนังสือผ่านทั้ง​สำนักเลขา ศบค. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ขอให้จัดหาวัคซีนไปฉีดให้บุคลากร

ปลัด มท.ยืนยันว่า กรณีขอความร่วมมือ กทม.และจังหวัดอื่นๆ พิจารณาจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานและครอบครัวของพนักงานบริษัทไทยเบฟ "เป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในเรื่องการจัดหาวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ​ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและระบาด​" และ "ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินการจัดสรรวัคซีนของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และ ศบค.ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีเลือกปฏิบัติเพราะการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ​ที่ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมรวดเร็วมากที่สุด"

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ของไทยช่วงเช้า 20 มิ.ย. มีคำว่า #ไทยเบฟ ติดอันดับหนึ่ง โดยผู้ติดแฮชเท็กส่วนใหญ่สงสัยว่าประชาชนที่ถูกเลื่อนฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 14-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน เพราะหลายคนที่ถูกเลื่อนเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์หรือรับจ้างอื่นๆ ที่ต้องออกไปทำงานพบปะผู้คนจำนวนมากในแต่ละวัน แต่กลับไม่มีคำสั่งจาก ศบค.มท.อย่างเป็นลายสักษณ์อักษรให้มีการจัดหาวัคซีน ทั้งยังไม่มีการยืนยันว่าได้แจ้งกระทรวงสาธารณสุขให้พิจารณาสนับสนุนวัคซีนแบบที่ปรากฏในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับไทยเบฟ จึงมีคำถามว่าเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันจริงหรือ

ส่วนกรณีที่ผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนหมอพร้อมที่เคยถูกเลื่อนช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มมีการส่ง SMS จากโรงพยาบาลที่เป็นจุดบริการฉีดวัคซีน แจ้งเตือนให้ผู้ลงทะเบียนเตรียมไปรับวัคซีนตามกำหนดการอีกครั้ง โดยให้ผู้ลงทะเบียนตรวจสอบวันเวลาที่แอปหมอพร้อม เพราะโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรวัคซีนมาแล้ว 4.5 แสนโดส