Skip to main content

ฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักข่าว AFP สื่อระดับโลกซึ่งมีสำนักงานในฝรั่งเศสและอีกหลายแห่งทั่วโลก เตือนการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดจากผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทย โดยอ้างอิงถึงโพสต์ของ "ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและรอยัลลิสต์ ซึ่งมีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊กกว่า 80,000 คน"

โพสต์ของ ดร.อานนท์ แนบลิงก์ไปยังบทความ People rejected, allergic to Pfizer-BioNTech or Moderna vaccines to be reimbursed if they get Sinovac COVID-19 jab at private clinics ของ Channel News Asia (CNA) ช่องโทรทัศน์ของประเทศสิงคโปร์ ที่รายงานเกี่ยวกับโครงการฉีดวัคซีนในประเทศสิงคโปร์ เมื่อ 4 มิ.ย.2564

ส่วนคำบรรยายโพสต์ของ ดร.อานนท์เขียนว่า “มั่นใจว่าชาวสิงคโปร์ฉลาดกว่าสามสัสและสามกีบอย่างแน่นอน" และย้ำว่า "ที่สิงคโปร์ ประชาชนออกมาปฏิเสธ​วัคซีน’​ไฟเซอร์​กับโมเดอน่า’ เริ่มทนการแพ้  ไม่ไหว  ขอฉีดซิโนแวคแทน” โดยโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่เมื่อเวลา 13:17 น.วันที่ 8 มิ.ย.2564

เอเอฟพีระบุว่าบทความของ CNA ที่ ดร.อานนท์อ้างอิง มีพาดหัวที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “คนที่ถูกปฎิเสธการฉีดหรือมีอาการแพ้ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา จะได้รับการชดเชยถ้าพวกเขาตัดสินใจรับวัคซีนซิโนแวคที่คลินิกเอกชน” 

ส่วนคำว่า “สามกีบ” ในโพสต์ของ ดร.อานนท์นั้น เอเอฟพีรายงานว่าเป็นชื่อที่บุคคลบางกลุ่มใช้เพื่อเรียกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทยในปี 2563 และ 2564 ซึ่งคำเรียกนี้ถูกนำไปใช้กับพรรคฝ่ายค้านด้วย เช่น พรรคก้าวไกล

AFP Factchecking

(ภาพประกอบของ AFP)

เอเอฟพีย้ำว่าบทความของ CNA รายงานว่า บุคคลที่มีอาการแพ้ หรือ “ถูกปฎิเสธ” จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา จะได้รับการชดเชยโดยรัฐบาลสิงคโปร์ ถ้าบุคคลในกลุ่มดังกล่าวตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคที่คลินิกเอกชนแทน แต่ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวว่าสิงคโปร์ปฎิเสธการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา

"ก่อนการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะต้องกรอกเอกสารคัดกรองและเอกสารข้อมูลวัคซีน ณ สถานที่ฉีดวัคซีน"

"จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขประเทศสิงคโปร์ บุคคลที่ไม่ผ่านการประเมินเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา จะสามารถ “รับวัคซีนได้ในภายหลังเมื่อวัคซีนดังกล่าวมีข้อมูลมากขึ้น” หรือ “สามารถรับวัคซีนตัวอื่นแทน” 

โพสต์ของ ดร.อานนท์ จึงถูกเอเอฟพีสรุปว่า "คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด" เพราะบทความ CNA ไม่ได้รายงานว่าประชาชนสิงคโปร์ปฎิเสธการฉีดวัคซีนของของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา และย้ำว่า "ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงใช้ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคและโมเดอร์นาเป็นวัคซีนหลัก ในขณะที่วัคซีนโคโรนาแวค หรือซิโนแวค เป็นวัคซีนทางเลือกที่มีอยู่ในคลินิกเอกชน"

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเพิ่มเติมในวันที่ 18 มิ.ย.2564 พบว่าโพสต์ของ ดร.อานนท์ที่เอเอฟพีกล่าวถึง ได้เปลี่ยนคำบรรยายภาพจากเดิม เหลือเพียงคำว่า "น่าคิด" แต่ท้ายโพสต์ดังกล่าวถูกระบบของเฟซบุ๊กขึ้นคำเตือนว่า "ข้อมูลบางส่วนเป็นเท็จ ตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระ" และก่อนหน้านี้ ดร.อานนท์ ได้ชี้แจงในการสนทนาท้ายโพสต์เฟซบุ๊กว่าเป็นการตีความระหว่างบรรทัด

Arnond FB