นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับประชาชนที่จองคิวผ่าน 'หมอพร้อม' ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ถูกเลื่อนคิวในเดือน มิ.ย. โดยเปิดให้บริการฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเยียวยาช่วยเหลือประชาชน 2 กลุ่มที่จองคิววัคซีนผ่านหมอพร้อม ได้แก่ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่หากติดเชื้อโควิด-19 แล้วจะมีโอกาสเสี่ยงป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต จึงควรได้รับวัคซีนเป็นเป้าหมายที่รองมาจากกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข หลังจากนั้นจะเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจ อย่างเช่นที่ฉีดใน จ.ภูเก็ต และ อ.เกาะสมุย ไปจนถึงการฉีดในพื้นที่ระบาด การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายครบ 2 เข็มตามจำนวนเป้าหมาย ดังนี้ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มากสุด 86.5% บุคลากรด่านหน้า 12.7% อสม. 10.4% กลุ่มโรคเรื้อรัง 1.5% ประชาชนทั่วไป 2% ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 1.5% และ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 0.3% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ากลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสีย แต่ยังได้รับวัคซีนจำนวนน้อย
นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ. ตั้งใจให้ 2 กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนตามเป้าหมายภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค. เพื่อลดการสูญเสียและเพื่อให้ระบบสาธารณสุขไปดูแลโรคอื่นได้ และไม่โหลดงานมากเกินไป จึงเปิดให้ 2 กลุ่มนี้จองหมอพร้อมก่อน ล็อกไว้ว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก ฉีดได้ 300 คนต่อวัน รพ.ขนาดใหญ่ 600 คนต่อวัน โดยกำหนดจำนวนวัคซีนในเดือน มิ.ย. ไม่เกิน 4 ล้านโดส เดือน ก.ค. ไม่เกิน 5 ล้านโดส ซึ่งยอดจองจริงๆ ของ 2 กลุ่มนี้คือ 8.1 ล้านคน ดังนั้นถ้าหารดีๆ 2 กลุ่มนี้ควรได้ฉีดตามที่จองภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค. จึงเป็นที่มาว่าทำไม สธ. จึงต้องเข้ามาช่วยกรณีนี้ และต้องทำความเข้าใจกับจังหวัดต่างๆ ว่า 2 กลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีนในเป้าหมายแรกๆ โดยมั่นใจว่าจังหวัดต่างๆ สามารถบริหารจัดการได้
ซึ่งการเยียวสำหรับประชาชนที่จองหมอพร้อม ฉีดในรพ. ในพื้นที่กทม. อยากให้ไปติดต่อกับ รพ.ตามที่จองไว้ก่อน หากพบปัญหาจริงๆ สธ.จะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือ โดยไม่ได้เป็นการแย่งงานของ กทม. เพราะ กทม. เองก็มีบทบาทหน้าที่ แต่เราคำนึงถึงการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม กทม.ได้วัคซีนจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ระบาดหนัก 2 กลุ่มนี้ควรจะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ตัวเลขที่จองหมอพร้อมใน กทม. เดือน มิ.ย. รวมทั้งหมด 456,414 ราย ได้รับการฉีดไปแล้วกลุ่มสูงอายุ เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 161,449 ราย เข็มที่ 2 ฉีด 11,063 ราย ส่วนกลุ่มป่วยเรื้อรัง เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 120,151 ราย เข็มที่ 2 ฉีด 16,822 ราย คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาเรื่องวัคซีน
ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำประชาชนที่จองหมอพร้อมเฉพาะในกทม. หากไม่มีการเลื่อนนัดคิวจากโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ก็ให้ไปเข้ารับการฉีดได้ตามนัด หรือแม้มีการเลื่อนฉีด ก็ขอให้ติดต่อกลับไปที่ รพ.ว่า ที่เลื่อนออกไปนั้น เลื่อนกลับเข้ามาแล้วหรือไม่ ก็สามารถเข้ารับการฉีดได้ตามนัดเช่นเดิม โดยยืนยันว่าศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ จะเป็นการสำรองไว้ เช่นบางรายที่ถูกเลื่อนไปฉีดในเดือน ก.ค. และไม่อยากรอ สามารถมาฉีดที่ศูนย์ฉีดฯ บางซื่อได้ โดยติดต่อไปที่สายคอลเซ็นเตอร์ หมอพร้อม โทร 02-792-2333 ที่มีกว่า 200 คู่สาย เพื่อรับคำแนะนำในการขอรับการฉีด โดยจะได้รับข้อความ เพื่อแสดงข้อมูลก่อนฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดฯ บางซื่อ โดยจะมีจุดบริการกลุ่มเปราะบาง แบบ One Stop Service แต่หากกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ จะเข้าระบบการฉีดปกติ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กลุ่มหมอพร้อม จะมาจากส่วนที่ผู้ไม่มารับวัคซีนตามนัด หรือไปฉีดที่หน่วยบริการอื่นแล้ว ซึ่งมีประมาณ 10% ต่อวัน ดังนั้นจึงเป็นวัคซีนที่ต้องจัดสรรมาที่ศูนย์ฉีดฯ บางซื่ออยู่แล้ว ไม่ได้เป็นส่วนที่รับจัดสรรเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทั้งนี้ สัปดาห์นี้จะมีวัคซีนกระจายออกไปเพิ่มเติม จึงคาดว่าจะมีปัญหากับผู้ที่จองในช่วงวันที่ 15-16 มิ.ย. นี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตามพรุ่งนี้ (16 มิ.ย.) สามารถเปิดให้บริการฉีดวัคซีนกับผู้ที่ถูกเลื่อนได้ทันที เบื้องต้นตั้งเป้าไว้รองรับ 2,000 คนต่อวัน เฉลี่ย 200 คนต่อชม. และขอให้มาตามเวลานัดหมาย ไม่ต้องมาก่อนเวลา เนื่องจากจะแออัด การฉีดวัคซีนนี้เป็นการสำรองกับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเร็วขึ้นไม่อยากถูกเลื่อน แต่ขอให้โทรศัพท์สอบถามโรงพยาบาลที่มีนัดหมายฉีดจนแน่ใจก่อนว่า ถูกเลื่อนเป็นเวลานาน
นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนการกระจายวัคซีนยังเป็นไปตามแผนที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ร่วมกับ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าใน เดือนมิ.ย. จะมีการกระจายวัคซีนอย่างน้อย 6 ล้านโดส ระหว่างวันที่ 7-14 มิ.ย. เราได้กระจายไปแล้ว 3.5 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวค 1.5 ล้านโดส และได้เริ่มฉีดไปแล้ว 8 วัน สะสมที่ 2,410,663 โดส เช่น เมื่อวานนี้ (14มิ.ย.) ฉีดไปแล้ว 323,060 โดส ซึ่งการฉีดยังดำเนินการต่อเนื่องและจุดฉีดต่างๆ ยังให้บริการประชาชนได้อย่างดี ภาพรวมเฉลี่ยหากฉีดวันละ 3 แสนโดส เดือนหนึ่งก็จะสามารถฉีดได้ 10 ล้านโดส เป็นศักยภาพการฉีดที่สูง อย่งไรก็ตาม ภาพรวมการฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 14 มิ.ย. ฉีดแล้ว 6,511,184 โดส แบ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ และซิโนแวค การฉีดจึงเป็นไปตามเป้าหมาย
นพ.โอภาส กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนครึ่งหลังเดือนมิ.ย. จะมีวัคซีนเข้ามาอย่างน้อย 3 ล้านโดสและจะมีการกระจายไปจุดต่างๆ ในสัปดาห์นี้ โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานปลายทางแล้ว จะเห็นว่าขณะนี้ เดือนมิ.ย. เราจัดส่งวัคซีนไปได้ตามแผน 6.5 ล้านโดส โดยสธ.ที่ได้รับมอบหมายจาก ศบค. ยังไม่ละความพยายามในการจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติมเพื่อให้ทันต่อการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดการเสียชีวิตและควบคุมการระบาดในพื้นที่ หากมีจำนวนวัคซีนเข้ามาก็จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ และยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน