Skip to main content

ภาคภูมิ แสงกนกกุล

“ความยุติธรรม คือ คุณธรรมที่สำคัญที่สุดในสังคม” จอห์น รอวลส์

 

ความยุติธรรมในการกระจาย 

เรามาสมมติเล่นเกมส์กัน มีคน 8 คน และพิซซา 1 ถาด คำถามคือ เราจะแบ่งพิซซาถาดนี้อย่างไรให้เกิดความยุติธรรม ผู้อ่านอาจจะตอบว่า “ก็แบ่งเป็น 8 ส่วนเท่าๆกันสิ” ซึ่งคำตอบนี้ก็ฟังดูเข้าท่าและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่ได้รับพิซซาใช่ไหมครับ แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าผมเพิ่มรายละเอียดลงไปทีละข้อๆ ท่านผู้อ่านยังคงคำตอบเหมือนเดิมไหม?
เช่น

•ถ้าราคาพิซซาที่จ่ายไปแล้ว มีนาย ก เป็นคนจ่ายคนเดียว การแบ่งเป็น 8 ชิ้นเท่าๆกัน ท่านผู้อ่านรู้สึกว่าเป็นธรรมไหม?
•ถ้าคนทั้ง 8 คน มีน้ำหนักตัวไม่เท่ากัน มีความจำเป็นในการใช้พลังงานในแต่ละวันไม่เท่ากัน และถ้าขาดพลังงานแล้วอาจสูญเสียชีวิตได้ ยังจะแบ่งเป็น 8 ส่วนเท่ากันอีกไหม?
•ถ้าพิซซาได้มาฟรี แต่ต้องมี 1 คนในนั้นเดินไปเอาพิซซาจากร้านค้าด้วยตนเอง แล้วการแบ่งพิซซาเป็น 8 ส่วนเท่ากันยังยุติธรรมอีกไหม? 
เมื่อถึงตรงนี้ผมเชื่อว่า แต่ละคนมีคำตอบในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป 

ความยุติธรรมจึงมิขึ้นอยู่กับชุดความคิดว่า 'ต้องปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนๆกัน' เท่านั้น แต่มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไปตามชุดแนวคิดมโนธรรมของแต่ละคน และสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนไป

บางครั้งการปฏิบัติที่เหมือนกัน กลับกลายเป็นความอยุติธรรม และอำมหิตด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีการตัดสินใจแบ่งพิซซาเท่าๆกัน 8 ชิ้นโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นของการใช้พลังงานที่แตกต่างกันของแต่ละคนแล้ว ผลสุดท้ายก็อาจจะปล่อยให้คนที่ต้องการพลังงานสูงขาดอาหารและเสียชีวิตในที่สุด
การให้รางวัล และการชดเชย 

พิซซา

ดังนั้นแล้วความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องอย่าลืมพิจารณาหลักการให้รางวัลและชดเชยด้วย ซึ่งทั้งสองหลักการมองว่า ความยุติธรรมไม่จำเป็นที่ต้องปฏิบัติเหมือนกัน หรือ แต่ละคนได้อะไรเหมือนๆกัน แต่สามารถได้มากกว่าหรือน้อยกว่าคนอื่นได้ ด้วยสถานการณ์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การให้รางวัล และการชดเชยมีความแตกต่างจากฐานความคิดเช่นกัน

การให้รางวัล วางอยู่บนฐานความคิดเรื่อง merit กล่าวคือ คนที่ใช้ความพยายามมากกว่าก็ควรจะได้มากกว่าตามความเหมาะสมของผู้ที่ใช้ความพยายามนั้น โดยความพยายาม ดังกล่าวไม่ได้ไปกระทบกับความยุติธรรมอื่นๆ ดังเช่น ตัวอย่างสถานการณ์ข้อที่ 3 เมื่อพิซซาที่ได้มาฟรีจากร้านค้า แต่ต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเสียพลังงานและเวลาไปรับมันมาเพื่อนำมาแจกจ่ายให้พวกพ้อง ซึ่งคนที่ไปรับพิซซาอาจจะรู้สึกไม่ยุติธรรมนักถ้าได้รับเท่ากับคนอื่นๆ ดังนั้นแล้วจึงจำเป็นที่จะต้องไกล่เกลี่ยหารือกันในกลุ่มว่า สุดท้ายแล้วเขาควรจะได้เพิ่มอะไรบ้างเป็นรางวัลตอบแทน 

ส่วนการชดเชย วางอยู่บนฐานของการแก้ไขความอยุติธรรม ในสถานการณ์ที่ใครคนใดคนหนึ่งได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแล้ว จึงได้รับการชดเชยอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น เช่น ในกรณีที่ 2 การที่คนที่มีความจำเป็นใช้พลังงานมากกว่า ถ้าได้รับพิซซาน้อยเกินไปอาจเกิดเสียชีวิตได้ ซึ่งเป็นปัญหามโนธรรม ในกล่มจึงจำเป็นต้องหารือใหม่ว่า เขาคนนั้นควรจะได้พิซซาเพิ่มเท่าไหร่ แล้วใครควรจะได้สัดส่วนที่ลดลง 

 

ความยุติธรรมในการกระจายวัคซีน

ความขัดแย้งในโลกมนุษย์ครั้งใหญ่ๆ มักมาจากปัญหาเรื่องความขาดแคลนทรัพยากร เช่นเดียวกับการกระจายวัคซีนโควิด-19 ซึ่งถ้ามันมีความเพียงพอต่อประชากรแล้ว ปัญหาการกระจายก็ลดน้อยถอยลงไป ปัญหาการแก่งแย่งวัคซีนกันก็น้อยลงไป แต่ในสภาพความเป็นจริงปัจจุบันแล้ว วัคซีนโควิด-19 เกิดความขาดแคลนผลิตไม่ทัน ดังนั้นการตัดสินใจลำดับก่อนหลังว่าใคร ประชากรกลุ่มใดควรจะได้ก่อนจึงเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ผู้ออกแบบนโยบายขาดแคลนไปไม่ได้ 

การตัดสินใจว่ากลุ่มใด จังหวัดใดได้ก่อนหลัง ก็ต้องพิจารณาหลักการให้รางวัลไปพร้อมๆ กับการชดเชยด้วยเช่นกัน นโยบายวัคซีนของไทยได้จัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรการแพทย์ และกลุ่มคนปฏิบัติงานที่ต้องลงพื้นที่เสี่ยงก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วมันคือ หลักการให้รางวัลจากความเสียสละที่พวกเขาเหล่านั้นได้เสี่ยงภัยเพื่อให้บริการแก่สังคม

นอกจากนี้การกระจายวัคซีนยังต้องวางอยู่บนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และการระบาดด้วยเช่นกัน ในสถานการณ์ที่วัคซีนขาดแคลนมาก การกระจายให้แต่ละจังหวัดได้วัคซีนเท่าๆ กันอาจจะไม่สัมฤทธิผลในการควบคุมโรคด้วยซ้ำ เช่น สมมติมีวัคซีน 1 แสนโดส แบ่งให้แต่ละจังหวัดได้ ประมาณ 1,400 โดส ซึ่งไม่เพียงพอต่อการควบคุมโรคในแต่ละจังหวัด แต่ถ้าตัดสินใจให้จังหวัดเดียวอาจจะช่วยให้จังหวัดหนึ่งจังหวัดใดควบคุมโรคได้

ประเทศไทยได้มีการกระจายวัคซีนไปที่จังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่าง กรุงเทพมหานคร และ ภูเก็ต เพื่อหวังว่าเมื่อจังหวัดเหล่านี้ควบคุมโรคได้แล้ว จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวการบริโภค ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบขึ้นมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามการกระจายดังกล่าวย่อมส่งผลให้จังหวัดอื่นๆ ที่ขาดแคลนวัคซีนรู้สึกไม่ยุติธรรมและเรียกร้องให้รัฐบาลปลดเสรีการจัดการวัคซีนด้วยอำนาจท้องถิ่นเอง ดังนั้นหลักการชดเชยจึงต้องนำมาพิจารณา จังหวัดที่ได้วัคซีนก่อน เศรษฐกิจรุดหน้าก่อนย่อมต้องมีภาระหนี้ผูกพันกับคนอื่นในชาติ เช่น ต้องรับภาระจ่ายภาษีที่มากกว่าเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือแก่จังหวัดอื่นๆ งบประมาณที่ได้มาก็ควรจะถูกหั่นออกไปช่วยจังหวัดอื่นๆที่ได้รับวัคซีนล่าช้า

ประยุทธ์ ฉีดวัคซีน

ความยุติธรรมด้านกระบวนการ

ท้ายสุดแล้วไม่ว่าผลของนโยบายการกระจายวัคซีนเป็นอย่างไร กระบวนการยุติธรรมย่อมขาดไปไม่ได้คือ ความโปร่งใส เพื่อเป็นตัวรับประกันว่า 'มีความยุติธรรมด้านกระบวนการ' ในการตัดสินใจด้านนโยบายของรัฐบาลออกมา รัฐบาลที่อยากสร้างความมั่นใจและไว้เนื้อเชื่อใจแก่ประชาชน ต้องเคารพการใช้จ่ายภาษีของประชาชน ด้วยการเปิดเผยเอกสารข้อมูลอย่างโปร่งใส ในกระบวนการจัดซื้อจัดหาวัคซีน กระบวนการกระจายวัคซีน แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติวัคซีนแก่ประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลได้ 

"รัฐบาลที่ไม่มีความโปร่งใสในการใช้จ่ายภาษีแล้ว ย่อมไม่มีความชอบธรรมต่อประชาชน"