Skip to main content

วันนี้ (8 มิ.ย.) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาให้ วรเจตน์  ภาคีรัตน์ จำเลยในคดีที่ คสช. แจ้งความดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวต่อ คสช. เมื่อปี 2557 ว่าจำเลยไม่มีความผิดตามประกาศของ คสช. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ว่า ประกาศ คสช. ที่เรียกให้บุคคลมารายงานตัวและที่ให้บุคคลฝ่าฝืนไม่รายงานตัวมีความผิดตามประกาศ  ถือเป็นประกาศที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร

 

ที่มาของการฟ้องร้องคดี

ก่อนหน้านี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง 3 (แขวงดุสิต) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลย คดีหมายเลขดำ อ.2074/2562 ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 5/2557, 57/2557 (เรียกชื่อให้มารายงานตัว) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 (กำหนดโทษคนไม่มารายงานตัว) กรณีที่กล่าวหาวรเจตน์ ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ซึ่งคดีที่ฟ้องนี้เป็นการโอนคดีจากศาลทหาร โดยในการต่อสู้คดีจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแขวงดุสิต ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเกี่ยวกับประกาศดังกล่าวที่ใช้บังคับแก่คดีนี้ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

วรเจตน์ จำเลย โต้แย้งว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยประกาศฉบับที่ 29/2557 ประกาศใช้บังคับหลังจากที่มีคำสั่งฉบับที่ 5/2557 จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาบังคับใช้ย้อนหลังแก่จำเลย เป็นกฎหมายที่มุ่งหมายบังคับใช้แก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไป และประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาเกินสมควรแก่เหตุ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 26 นอกจากนี้ ประกาศฉบับที่ 29/2557 มีลักษณะเป็นการบังคับข่มขู่ ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 4 และ 27

อีกทั้งเมื่อ คสช. สิ้นอำนาจไปแล้ว วัตถุประสงค์ของคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวจึงสิ้นสุดลงไปด้วย เนื่องจากการลงโทษทางอาญานั้น วัตถุประสงค์ของการกำหนดโทษในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดจะต้องดำรงอยู่ในขณะที่มีการลงโทษ การดำรงอยู่ของประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29

โดยก่อนหน้านี้ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 30/2563 กรณีดังกล่าว ที่ได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212

 

ศาล รธน. วินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช. ขัด รธน. - นำมาใช้ไม่ได้

ขณะที่เนื้อหาคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญประเด็นดังกล่าวสรุปได้ว่า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 279 บัญญัติรับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของ คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมาย ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับจึงยังมีผลเป็นกฎหมายต่อไปแม้ คสช. จะสิ้นสภาพไปแล้ว และรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ทั้ง 2 ฉบับด้วย

โดยขณะที่ประกาศใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นช่วงที่ คสช. กระทำการยึดอำนาจปกครองแผ่นดินสำเร็จ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีความต้องการให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางประการ

อย่างไรก็ดี เมื่อยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง โดยบุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ฯ ซึ่งเป็นหลักการสากล

อีกทั้งการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ ต้องเป็นไปตามมาตรา 26 ต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี เพื่อไม่ให้ตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้แก่ประชาชนตามอำเภอใจ โดยประกาศ คสช. ทั้ง 2 ฉบับ เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การกำหนดโทษทางอาญาจึงต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสม เมื่อเทียบเคียงกับกรณีการนำตัวบุคคลที่ยังไม่ได้กระทำความผิด เพียงแต่มีเหตุอันควรสงสัย มีการกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 46 แทนการกำหนดโทษทางอาญา

นอกจากนี้เมื่อเทียบเคียงการไม่รายงานตัวฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กับกรณีบุคคลขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายอื่น การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศ คสช. ยังไม่ใช่การกระทำอันมีผลร้ายแรงถึงขนาดต้องกำหนดโทษทางอาญา ให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกทั้งยังมีมาตรการทางกฎหมายอื่น ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ที่เป็นมาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นความผิดลหุโทษที่เหมาะสม จำเป็นและพอสมควรแก่กรณี

ดังนั้น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 ไม่มีความเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำผิด ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และขัดต่อหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 26 นอกจากนี้การออกคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวก่อน แล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวในภายหลัง เป็นการกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยว่าประกาศ คสช. ทั้ง 2 ฉบับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ประกาศทั้ง 2 ฉบับเป็นอันใช้บังคับไม่ได้

จึงวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่งด้วย