Skip to main content

พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี '8 ปี ประยุทธ์' ระบุคำตัดสินทำให้ประชาชนสิ้นหวัง ตอกย้ำให้ประชาชนเคลือบแคลงใจในสถาบันตุลาการของบ้านเมือง ว่ากำลังปกป้องคุ้มครองการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารมากกว่าปกป้องคุ้มครองหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

โดยพรรคก้าวไกลจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนอีกครั้ง มาร่วมกันเข้าชื่อเพื่อให้มีการจัดทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้วันเลือกตั้งไม่เป็นเพียงโอกาสในการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหรือเปลี่ยนขั้วรัฐบาล แต่เป็นโอกาสในการเปลี่ยนโครงสร้างและกติกาของประเทศ ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 

แถลงการณ์พรรคก้าวไกล ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี “8 ปี ประยุทธ์”

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ เป็นอีกครั้งที่ทำให้ประชาชนไทยรู้สึกสิ้นหวัง

มิใช่สิ้นหวังเพียงเพราะบุคคลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แม้ขาดทั้งความชอบธรรมทางการเมืองและความสามารถในการบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤตที่รุมเร้า

แต่สิ้นหวัง เพราะคำวินิจฉัยในวันนี้ยิ่งตอกย้ำให้ประชาชนเคลือบแคลงใจ ว่าสถาบันตุลาการของบ้านเมืองที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กลับกำลังปกป้องคุ้มครองการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร มากกว่าปกป้องคุ้มครองหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ จะตรงกันข้ามกับคำวินิจฉัยตามสามัญสำนึกของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมายาวนานเกินกว่า 8 ปีแล้ว ผ่านการทำรัฐประหารและการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ

ตราบใดที่สังคมไทยยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สถาบันทางการเมืองต่างๆ ก็จะยังถูกใช้เป็น “อาวุธ” ของระบอบการเมืองที่อำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง  หนทางเดียวในการคืนประเทศให้กับประชาชน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

แม้การเลือกตั้งครั้งใหม่ จะเป็นโอกาสให้ประชาชนได้พิพากษา พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยมือของตนเอง แต่ตราบใดที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่ถูกรื้อ ประเทศไทยจะยังไม่หลุดพ้นจากวังวนของระบอบรัฐประหาร

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนอีกครั้ง มาร่วมกันเข้าชื่อเพื่อให้มีการจัดทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้วันเลือกตั้งไม่เป็นเพียงโอกาสในการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหรือเปลี่ยนขั้วรัฐบาล แต่เป็นโอกาสในการเปลี่ยนโครงสร้างและกติกาของประเทศ ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

เราทราบดีว่า 8 ปีภายใต้ระบอบประยุทธ์ ได้สร้างความเจ็บปวดที่ชินชา และบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าจะยังคงเป็นไปได้หรือไม่ แต่พรรคก้าวไกลขอยืนหยัดและยืนยัน ว่าความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎร แม้อาจยังไม่มากพอที่จะกำจัดระบอบอยุติธรรมที่กัดกินประเทศได้ในทันที แต่หากพวกเรา ประชาชน ไม่สิ้นหวัง และเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยที่มี “อนาคต” จะรออยู่ข้างหน้า

อนาคตของเศรษฐกิจที่เติบโตเพื่อทุกคน

อนาคตของสังคมที่คนเท่ากัน

อนาคตของประชาธิปไตยเต็มใบที่ไม่มีใครอยู่เหนือหัวประชาชน

หากเหตุการณ์วันนี้ทำให้พี่น้องประชาชนคับแค้นผิดหวัง โปรดเปลี่ยนความคับแค้นผิดหวังนั้นให้เป็นพลัง เพื่อใช้ขีดเขียน “อนาคตใหม่” ไปด้วยกัน หนึ่งเสียงของทุกคนในการแสดงออก หนึ่งคะแนนของทุกคนในคูหาเลือกตั้ง และหนึ่งชื่อของทุกคนในการสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือหนึ่งพลังของความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศไทยที่ก้าวหน้า

พรรคก้าวไกล

ส่วนพรรคไทยสร้างไทย ออกแถลงการณ์ ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นับแต่วันที่ทำรัฐประหาร  ข้ออ้างใช้ยึดอำนาจเป็นวาทกรรมโกหกหลอกลวง กระทำตัวคู่ขัดแย้งกับฝ่ายประชาธิปไตย ล้มเหลวในการบริหารประเทศทุกด้าน ชวนผลักดันให้มีการแก้ รธน.2560 โดยส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน 

พรรคไทยสร้างไทยมีความเห็น ดังนี้ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ทำรัฐประหารล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และต่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 โดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐประหาร (คสช.) ตั้งขึ้น ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่สถาปนาขึ้นเอง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีความชอบธรรม ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนหลักนิติธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ทำรัฐประหาร 

เหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ในการยึดอำนาจ โดยสรุปคือต้องการยุติความขัดแย้งทางการเมือง โดยย้ำว่าขอเวลาประชาชนประมาณ 1 ปี  เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ทั้งหมดล้วนเป็นวาทกรรมโกหกหลอกลวง เพราะนอกจากจะใช้เวลาถึง 3 ปีกว่า จึงจัดให้มีรัฐธรรมนูญฯ 2560 แล้วแทนที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง กลับทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง โดยเฉพาะกับฝ่ายประชาธิปไตยและร่วมมือกับฝ่ายอำนาจนิยมที่สมคบกันมา 

พล.อ.ประยุทธ์ จัดให้มีรัฐธรรมนูญฯ 2560 เพื่อสืบทอดอำนาจ ใช้การลงประชามติสร้างความชอบธรรม ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยการข่มขู่และเล่นงานคนไม่เห็นด้วย ที่ร้ายแรงยิ่งคือการนิรโทษกรรมการรัฐประหารและผลพวงต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยบังคับให้ทุกคนยอมรับว่าการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นสิ่งที่ขอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนโจรที่ปล้นบ้านเขาแล้วบังคับให้ทุกนยอมรับว่าการปล้นของพวกตนนั้นเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 

พล.อ.ประยุทธ์ ล้มเหลวในการบริหารประเทศทุกด้าน จนนำความตกต่ำมาสู่ประเทศและความทุกข์ยากแสนสาหัสสู่ประชาชน กู้เงินประมาณ 10 ล้านล้านบาทมาโปะงบประมาณรายจ่ายในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นสูงสุดกว่า 90% ของ GDP หรือมากกว่า 14 ล้านล้านบาท การคอร์รัปชันเป็นไปอย่างมโหฬารชนิดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทั้ง ๆ ที่โฆษณาหนักหนาในช่วงประชามติว่ารัฐธรรมนูญฯ 2560 ของตนเป็นฉบับปราบคอร์รัปชัน เอื้อประโยชน์กับทุนใหญ่และทุนพรรคพวกจนยิ่งร่ำรวยและรวยเร็ว หาประโยชน์จากรัฐราชการและงบประมาณฯ ที่มาจากภาษีประชาชนและเงินกู้อย่างไม่ละอาย มีแม้กระทั่งการฝากเด็กเป็นตำรวจ เป็นทหารเพื่อรับใช้กันส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่ เขียนเรื่องปฏิรูปประเทศและปฏิรูปตำรวจไว้ในรัฐธรรมนูญเอง 

พรรคไทยสร้างไทยขอเรียนว่า ประเทศและประชาชนไทยกำลังจะไม่เหลือโอกาสและเวลาให้เดินไปข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และมีความมั่นคงในทุกช่วงวัย “ตั้งแต่เกิดจนแก่” พรรคไทยสร้างไทยขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคนร่วมกับพวกเราต่อสู้ผลักดันใน 2 เรื่องสำคัญขณะนี้ คือ 
การก้าวข้ามหรือออกจากความขัดแย้งของความคิดแบบ 2 ขั้ว คืออำนาจนิยมกับประชาธิปไตยแบบครอบครัวหรือแบบสุดโต่ง ที่เดินเป็นเส้นขนานกันมานานกว่า 16 ปี อันนำความแตกแยกไปทุกหัวระแหง ทำลายความคิดและวัฒนธรรมแบบพี่น้อง การให้อภัย ความเห็นอกเห็นใจ และการแบ่งปันไปจนหมดสิ้น 
การร่วมเร่งผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ 2560 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เพื่อไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจอีกต่อไป และเพื่อปลดปล่อยประขาชนจากการกดทับของอำนาจนิยมและรัฐราชการ ตลอดจนการสร้างพลังให้กับประชาชนในการทำมาหากิน และการมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศรวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจและการคอร์รัปชัน 

ดร.โภคิน พลกุล 
ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ 
พรรคไทยสร้างไทย 
30 กันยายน 2565

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี แต่จะครบปี 2568 หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่สิ่งที่พรรคห่วงและกังวลก็คือ ปัญหารากเหง้าที่กลืนกินสังคมไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อแปดปีที่ผ่านมา จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริงอย่างไร และที่น่าห่วงกังวลอีกประการคือ บรรทัดฐานความความถูกต้องของการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเห็นว่าน่าจะมีปัญหาแต่ไม่มีกลไกใดที่จะตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นโจทก์ใหญ่ที่ทุกคน ในสังคมต้องช่วยกันคิดและหาทางออกต่อไป

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง
     
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ นั้น

จะเห็นได้ว่า ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวเชื่อได้ว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการและประชาชนในวงกว้าง ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและผลผูกพันแห่งคำวินิจฉัย แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การตีความต้องยึดตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบกัน เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 บัญญัติห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี และให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แต่เมื่อถือเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็ยังคงมีผลใช้อยู่ต่อเนื่องมาภายหลังวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การตัดตอนเอาวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อาจหาตรรกะใดมาอธิบายได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏชัดในบันทึกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับรวมด้วย อันถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็รับรู้เป็นการทั่วไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
  
พรรคจึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการตีความที่นักวิชาการกฎหมาย และสังคมต้องร่วมกันคิดว่าหลักคิดและเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีเหตุผล ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงช่วยกันทบทวนถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น ควรจะมีการทบทวนเพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร
  
พรรคเพื่อไทยมิได้กังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปจนถึงครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 และยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่สิ่งที่พรรคห่วงและกังวลก็คือ ปัญหารากเหง้าที่กลืนกินสังคมไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อแปดปีที่ผ่านมา จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริงอย่างไร และที่น่าห่วงกังวลอีกประการคือ บรรทัดฐานความความถูกต้องของการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเห็นว่าน่าจะมีปัญหาแต่ไม่มีกลไกใดที่จะตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นโจทก์ใหญ่ที่ทุกคน ในสังคมต้องช่วยกันคิดและหาทางออกต่อไป     

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
30 กันยายน 2565