Skip to main content

กลุ่มนักศึกษาและผู้สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมในฮังการีรวมตัวกันช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อต่อต้านโครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยของจีนในกรุงบูดาเปสต์ ทางด้านรัฐบาลท้องถิ่นที่สนับสนุนผู้ประท้วงได้เปลี่ยนป้ายชื่อถนนรอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าวเพื่อสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน ทั้งถนนดาไลลามะ ถนนมรณสักขีอุยกูร์ ถนนฮ่องกงเสรี รวมถึงถนนที่ตั้งตามชื่อบิชอปซึ่งทางการจีนจับกุม 

ก่อนหน้านี้ ‘วิกโตร์ โอร์บาน’ นายกรัฐมนตรีฮังการี ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมและอนุรักษนิยม ให้สัมภาษณ์ว่าแผนก่อสร้างมหาวิทยาลัย ‘ฟู่ตั้น’ สถาบันการศึกษาเก่าแก่ของจีนขึ้นในกรุงบูดาเปสต์ ถือเป็นการส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษา เพราะจะช่วยให้เยาวชนในฮังการีได้เข้าถึงหลักสูตรที่มีความเป็นเลิศทางการศึกษา ทั้งยังจะช่วยดึงดูดนักศึกษาต่างชาติให้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย

ผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ยกเหตุผลว่าการก่อสร้างจะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้จีนราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 45,000 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่างบประมาณการศึกษาที่รัฐบาลโอร์บานทุ่มให้กับสถาบันในประเทศเมื่อปี 2562 เสียอีก ทั้งยังจะกลายเป็นภาระผูกพันระยะยาว และรัฐบาลก็ไม่ยอมตอบว่าเหตุใดถึงยอมเป็นหนี้รัฐบาลจีนเพื่อสร้างโครงการนี้ แต่ปฏิเสธเงินที่สหภาพยุโรป (EU) เสนอให้รัฐบาลฮังการีกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นำไปสู่การตั้งคำถามเรื่อง ‘ความโปร่งใส’

นอกจากนี้ แกนนำฝ่ายค้านยังวิจารณ์ด้วยว่าการลงทุนก่อสร้างมหาวิทยาลัยของจีนซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของเอกชน ไม่ได้ช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของฮังการี เพราะมีแนวโน้มสูงว่ามหาวิทยาลัยฟู่ตั้นจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น และนักศึกษาที่มีฐานะปานกลางหรือรายได้น้อยจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ 

รัฐบาลฮังการีถูกเปรียบ ‘ม้าโทรจัน’ ที่โน้มเอียงเข้าหาอำนาจนิยม

‘แกร์เกลี คาราชโซนี’ นายกเทศมนตรีกรุงบูดาเปสต์ ซึ่งเตรียมตัวเป็นคู่แข่งคนสำคัญของโอร์บานในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2565 เป็นหนึ่งในผู้วิพากษ์วิจารณ์โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น โดยให้เหตุผลว่าควรปรับปรุงพื้นที่ชุมชนมหาวิทยาลัยดั้งเดิมแทนที่จะไปลงทุนก่อสร้างมหาวิทยาลัยเอกชนของต่างชาติในพื้นที่อื่น เพราะนักศึกษาฮังการีจำนวนมากเดินทางสะดวกกว่า แต่นายกรัฐมนตรีโอร์บานตอบโต้คำวิจารณ์ของคาราชโซนีว่าเป็นการกล่าวหาเกินจริงและเป็นการ “หาเสียงเพื่ออนาคตทางการเมืองของตัวเอง” 

แต่คาราชโซนีไม่ใช่คนเดียวที่คัดค้านแผนนี้ คนรุ่นใหม่ที่ออกมารวมตัวบนท้องถนนนับหมื่นคนสะท้อนความเห็นคล้ายกันว่าพวกเขาต้องการมหาวิทยาลัยหรือระบบการศึกษาที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีภาระหนี้ผูกพัน และไม่ต้องเกี่ยวพันกับอิทธิพลต่างชาติ ทั้งยังมีการวิพากษ์วิจารณ์พรรคฟีแดสของนายกฯ โอร์บานที่เคยชูหลักการต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่กลับมีสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียเอง
.
นอกจากนี้ยังมีเสียงวิจารณ์รัฐบาลฮังการีที่ดังจากประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ ที่มองว่าโอร์บานผูกสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ กับจีนและรัสเซีย ทั้งยังมีท่าทีประนีประนอมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยยกยกตัวอย่างที่รัฐบาลฮังการีคัดค้านการออกแถลงการณ์ประณามทางการจีนที่จับกุมและปราบปรามผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงที่ต่อต้านการแทรกแซงของจีนแผ่นดินใหญ่

รัฐบาลฮังการีถูกเปรียบเทียบว่าเป็นม้าโทรจัน หรือม้าไม้เมืองทรอย ที่อาจทำให้การรวมตัวของอียูล่มสลายจากภายใน เพราะนโยบายของฮังการีมีความโน้มเอียงไปทางจีนและรัสเซียซึ่งเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมและมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการใช้อำนาจของผู้นำรัฐบาล 

อ้างอิง:
Budapest renames streets in Chinese university protest
Karacsony: Fight against Fudan university campus 'first step in retaking Hungary'
Budapest protest against China's Fudan University campus