งานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดพบว่า ผู้หญิงชาวจีนที่เกิดหลังปี 1990 โดยเฉลี่ยแล้วจะมีการศึกษาสูงกว่าสามี ซึ่งแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้หญิงจีนรุ่นก่อนๆ และการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้ผู้หญิงเหล่านี้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการมีลูก โดยการศึกษาพบว่า ผู้หญิงจีนที่มีการศึกษาเลือกจะมีลูกเพียงคนเดียวเท่านั้น
งานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดของ ชิงซือซ่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรแห่งมหาวิทยาลัย East China Normal ค้นพบว่า ผู้หญิงชาวจีนที่เกิดหลังปี 1990 โดยเฉลี่ยมีระดับการศึกษาสูงกว่าสามีของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิงจีนรุ่นก่อนหน้า และความเปลี่ยนแปลงในระดับการศึกษาของคู่สามีภรรยา ส่งผลต่อการตัดสินใจวางแผนครอบครัว โดยผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงกว่าสามีมีแนวโน้มที่จะมีลูกเพียงคนเดียวหรือไม่มีเลย
ชิงซือซ่ง ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดของคู่สามีภรรยาชาวจีนมากกว่า 12,000 คู่ ที่เกิดระหว่างปี 1950 - 1990 ซึ่งนำมาจาก China Family Panel Studies (CFPS) หรือการสำรวจครัวเรือนประชาชนชาวจีน ที่จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และข้อมูลที่ชิงซือซ่งได้รับก็เผยให้เห็นสัดส่วนแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนของผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายที่มีระดับการศึกษาสูงกว่ากลับมีแนวโน้มลดลง
ชิงซือซ่งระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวเกิดจากจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของผู้หญิงจีนที่มีการศึกษาสูงขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2009 มีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในมหาวิทยาลัยของประเทศจีน ซึ่งถือเป็นการพลิกกลับช่องว่างทางของความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทางตะวันตกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ชิงซือซ่งกล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับการศึกษาระหว่างคู่สามีภรรยาชาวจีน จะส่งผลต่อระดับรายได้ของพวกเขามากน้อยเพียงใด และจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในส่วนนี้เพิ่มเติม
แต่ข้อมูลบ่งชี้ว่า แนวโน้มดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการตัดสินใจของคู่รักเรื่องการวางแผนครอบครัวและการมีลูก โดยงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงกว่าสามี มีแนวโน้มที่จะมีลูกเพียงคนเดียวหรือไม่มีเลย
“สำหรับคู่แต่งงานที่ฝ่ายภรรยามีการศึกษาสูงกว่า ผู้หญิงดูเหมือนจะมีอำนาจในการต่อรองมากกว่า ในการตัดสินใจเรื่องการมีลูก เพราะพวกเธอรู้สึกว่าสิทธิของพวกเธอยังคงไม่ได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอภายใต้บทบาททางเพศแบบดั้งเดิม เช่น การต้องแบกรับความรับผิดชอบเรื่องการดูแลบ้านและการดูแลลูก เป็นต้น”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่แต่งงานและมีลูกมากขึ้น เนื่องจากความกังวลเรื่องประชากรสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยทางการจึนได้ผ่อนปรนกฎ “ลูกคนเดียว” และปัจจุบันคู่สมรสสามารถมีลูกได้มากถึง 3 คน และรัฐบาลยังได้ออกมาตรการจูงใจอื่นๆ อีกมากมายเพื่อผลักดันให้คู่สมรสมีลูกมากขึ้น
แต่ผลการวิจัยก็ได้ชี้ให้เห็นว่าวิธีที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีลูกนั้น อาจเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มากกว่าการให้แรงจูงในทางเศรษฐกิจ
“การจะบรรลุเป้าหมายเรื่องการมีลูกจำเป็นต้องส่งเสริมการแบ่งงานระหว่างชายหญิงให้เท่าเทียมกันอย่างจริงจัง และให้การสนับสนุนสถาบันที่เข้มแข็ง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมใหม่เกี่ยวกับการแต่งงานและการมีบุตร การสนับสนุนให้คู่สมรสทั้งสองแบ่งปันความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตร และการนำนโยบายที่สามารถลดภาระในการเลี้ยงดูบุตรในระดับครอบครัวมาใช้” ชิงซ่งซือกล่าว
อ้างอิง
In China, Young Women Are Now More Educated Than Their Spouses
Young Chinese wives more educated than husbands.
Educational 'marrying down' more common among women