วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการซื้อวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่า มี 2-3 ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนของ อปท. ถ้าซื้อตรงจากผู้ผลิต ไม่ว่าประเทศใดหรือยี่ห้อใดไม่สามารถซื้อได้เพราะว่าผู้ขายไม่ขายให้ ไม่ใช่เพราะประเทศไทยห้าม ทั้งอเมริกา จีน ก็ห้ามหมด หรือถ้าจะไปซื้อจากตัวแทนจำหน่ายอาจจะทำได้
ทั้งนี้ตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกรายมีพันธะกับผู้ซื้อแล้ว อย่างกรณีของ ชิโนฟาร์ม มีพันธะกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว หรือโมเดอร์น่า มีเอเย่นต์แล้ว ซึ่งเอเย่นต์เหล่านี้ไม่สามารถไปขายให้คนอื่นต่อได้ เพราะฉะนั้นเหลือทางเดียวคือไปซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือใครก็ตามที่ทำอย่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
วิษณุ กล่าวว่า แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องการล้วงเอาเงินออกมาใช้ โดยเฉพาะกรณีของ อปท.ที่ทราบว่าจะซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีระเบียบของกระทรวงมหาดไทย (มท.) อยู่ จึงต้องปลดล็อกส่วนนี้ก่อนซื้อ และที่ผ่านมามหาดไทยไม่ได้ปลดล็อกตรงนี้ เพราะไม่คิดว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปซื้อวัคซีน ฉะนั้น อปท.ต้องติดต่อทางมหาดไทย ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบการใช้เงินผิดประเภท ดังนั้น อปท.ต้องทำให้เป็นเงินที่ถูกประเภทเสียก่อน ก็คือการให้มหาดไทยอนุญาตการใช้เงินเพื่อซื้อวัคซีน แต่มหาดไทยจะอนุญาตหรือไม่ ยังไม่ทราบ
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ถึงกรณีการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ติดล็อกคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่วินิจฉัยว่าระยะแรกเท่านั้นที่รัฐจะเป็นผู้ซื้อ อปท.และ ภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อโดยตรงได้ ว่า ตามกฎหมาย อปท.ทุกรูปแบบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พัทยา กทม.สามารถดำเนินการจัดซื้อวัคซีนทีต้องการได้ โดยสามารถดำเนินการได้เอง แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่าการดำเนินการทำไม่ได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งตรงไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ตามกฎหมาย สถ.จะต้องแจ้งไปยัง อปท.แล้วจึงจะแจ้งมหาดไทยทราบ โดยสรุปได้แจ้งไปยัง อปท.ให้ยุติการดำเนินการ จึงยังไม่มี อปท.จัดซื้อ เพราะข้อแนะนำดังกล่าว มาถึงการพิจารณาข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่าในระยะแรกเท่านั้น ที่บอกว่าไม่สามารถให้ภาคเอกชนและ อปท.ดำเนินการจัดซื้อ แต่ถ้าพ้นระยะแรกเมื่อไหร่ก็สามารถกระทำได้ตามอำนาจหน้าที่ คงไม่ต้องไปถามผู้ตรวจการแผ่นดินอีก
อย่างไรก็ตาม อปท. 7,000 กว่าแห่งส่วน อบจ. 76 แห่ง จัดซื้อวัคซีนได้ มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบไว้ เมื่อมีโรคติดต่ออันตราย ให้ อปท.สนับสนุนการระงับการแพร่ระบาดได้ โดยสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการควบคุมโรคติดต่อ จะต้องประสานในทางปฏิบัติและด้านนโยบาย ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจขณะนี้คือกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ถ้าจะต้องมีการหารือก็ต้องได้ข้อยุติจาก ศบค. เพราะถ้ามีการจ่ายวัคซีนของรัฐผ่าน ศบค. และ อปท.ซื้อเองอีก ใน อบจ.บางที่ก็อาจจะได้วัคซีนมากเกินไป จะเกิดความเหลื่อมล้ำกับ อบจ.เล็ก ๆ ดังนั้น ดูจากกฎหมายและสถานการณ์ อย่างไรก็ต้องให้ ศบค.พิจารณาว่าผ่านระยะแรกไปหรือยังว่าจะให้เอกชนและ อปท.มาสนับสนุนฝ่ายรัฐ และถ้าเอกชนและ อปท.จะซื้อก็ต้องให้รัฐซื้อให้ เพราะเป็นวัคซีนฉุกเฉิน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ อปท. แสดงเจตจำนงที่จะซื้อวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ของตนเอง ว่า ต้องดูว่าท้องถิ่นจะสามารถจัดซื้อวัคซีนด้วยตัวเองได้หรือไม่ และวัคซีนจะเอามาจากที่ไหน ซื้อจากใคร วันนี้ยอดวัคซีนของบริษัทที่มาเจรจาขอจดทะเบียน เขาขายกับรัฐบาล สมมุติว่าถ้ามีใครจะซื้อก็สามารถตัดจากยอดของรัฐบาล ซึ่งก็ต้องแล้วแต่บริษัทเขาด้วย