Skip to main content

สรุป

  • ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (รจภ.) เปิดเผยว่า วัคซีนโควิดทางเลือก 'ซิโนฟาร์ม' เบื้องต้นนำเข้ามาประมาณ 1 ล้านโดส ภายในเดือน มิ.ย. นี้
  • เลขาฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ย้ำวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนทางเลือก ไม่ปนกับที่รัฐบาลจัดหาให้ฟรีกับประชาชน ส่วนราคานั้นไม่หวังกำไร แยกกันชัดเจน
  • อนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดหาวัคซีนทางเลือกเป็นจริง ประเทศไทยมีวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชนชาวไทยคู่ขนานกันไปกับที่รัฐจัดหาให้

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยระหว่างแถลงข่าวการบูรณาการความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก 'ซิโนฟาร์ม' โดยความร่วมมือของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก 'ซิโนฟาร์ม' ที่เบื้องต้นจะมีการนำเข้ามาประมาณ 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และกระจายให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจจะจัดซื้อพร้อมประกันวัคซีนรองรับสำหรับผู้ที่ฉีดนั้น จะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ คาดว่าราคาของวัคซีนจะอยู่ราวๆ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเข็ม

“อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการประเมินราคาเพิ่มเติมอีกครั้ง เพราะต้องรอปริมาณที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะไม่หนีกันมาก” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

นอกจากนี้ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดต่อขอซื้อราว 3 แสนโดส และกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวนหนึ่ง แต่ยังมีรายอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา “หลักๆ หากเอกชนรายใดจะซื้อไปฉีด จะต้องมีการควบคุมราคา เราเน้นเพื่อประชาชน ส่วนสถานที่ฉีด หากเป็นที่ราชวิทยาลัยฯ ก็ต้องแยกชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะปนกับส่วนที่ฉีดฟรีจากรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอย้ำในเรื่องราคานั้น ราชวิทยาลัยฯ ไม่หวังกำไร” 

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ขอย้ำวัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนตัวเลือกหรือวัคซีนทางเลือก ที่ราชวิทยาลัยฯ จัดหามาโดยใช้งบประมาณรายได้ของราชวิทยาลัยฯ เอง ซึ่งจะไม่ปนกันกับวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้ฟรีสำหรับประชาชน จะแยกกันชัดเจน ทั้งนี้ จะมีการศึกษาข้อมูลว่า ในอนาคตจะมีวัคซีนชนิดใดที่เหมาะสมกับเชื้อที่ระบาดในขณะนั้น ซึ่งราชวิทยาลัยฯ จะติดต่อนำเข้าวัคซีนมาเพิ่มเติมต่อไป

ศ.นพ.นิธิ กล่าวอีกว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) มีชื่อทางการว่า 'BBIBP-CorV' เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่นเดียวกับ ซิโนแวค และ โควาซิน เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ วัคซีนซิโนฟาร์ม ถูกนำมาใช้กว่า 65 ล้านโดส ในประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน ฮังการี และเป็นวัคซีนชนิดแรกที่พัฒนาโดยประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลกฯ เป็นรายที่ 6 โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพ 79% สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จัดเก็บง่าย ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนอื่น นอกจากนี้ ยังมีแถบตรวจสอบบนขวดซึ่งเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิความร้อน จึงสังเกตได้ง่ายว่าวัคซีนปลอดภัยและใช้งานได้หรือไม่

ด้านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดหาวัคซีนทางเลือกเป็นจริง ประเทศไทยมีวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชนชาวไทยคู่ขนานกันไปกับที่รัฐจัดหาให้
          
ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า วัคซีนซิโนฟาร์มของบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้นำเข้า ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นตัวที่ 5 ของไทย ซึ่งวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) วัคซีนชนิดนี้กำหนดฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 ถึง 28 วันโดยวัคซีนนี้ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกแล้ว

วัคซีนทางเลือกที่ไม่ฟรี นอกจาก 'ซิโนฟาร์ม' มีอะไรอีก?

ระหว่างการแถลงร่วมกันระหว่างตัวแทนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (รจภ.), กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีผู้สื่อข่าวตั้งคำถามถึงสถานะของ รจภ.ในการคุยกันกับซิโนฟาร์ม ถือเป็นการคุยกันแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) หรือไม่ และเพราะเหตุใดจึง รจภ.จึงระบุว่ามอบหมายให้บริษัทเอกชน 'ไบโอจีนีเทค' เป็นตัวแทนขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทาง อย.

นพ.นิธิ ในฐาน เลขาฯ รจภ. ตอบว่า ไม่ใช่การคุยแบบจีทูจีตามความหมายที่คนทั่วๆ ไปเข้าใจกัน พร้อมระบุว่า ผู้ผลิตวัคซีนจะคุยกับหน่วยงานของรัฐ และ รจภ.ซึ่งเป็นองค์กรที่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นหน่วยงานรัฐที่ไปคุยกับผู้ผลิตวัคซีน และมอบอำนาจให้ไบโอจีนีเทคไปดำเนินการส่งต่อวัคซีน เพราะไม่ใช่หน่วยงานไหนก็ทำได้ เนื่องจากมีมาตรฐานสูงมาก แม้แต่ รจภ.ก็ทำไม่ได้

"พอพูดจีทูจี แล้วกลับเข้าไปรัฐบาล คือขณะนี้ผู้ผลิต รัฐบาลที่ผู้ผลิตเขาดูอยู่ เขาจะคุยกับหน่วยงานของรัฐ แต่พอเราคุยกันเสร็จแล้ว ก็โอเคนะ เราจะเอามาใช้ในประเทศนี้แน่นอน มาใช้ในคนไทยแน่นอน เราก็จะมอบหมายให้คนที่เคยทำเรื่องนี้ เพราะการส่งต่อวัคซีนระหว่างกันมันต้องมีมาตรฐานสูงมาก ไม่ใช่หน่วยงานไหนก็ทำได้ รจภ. ก็ทำไม่ได้ เราก็มอบอำนาจอันนี้ให้บริษัทไบโอเจนเนเทคไปดำเนินการ เพราะเขาต้องตรวจสอบกันว่าบริษัทนี้สามารถที่จะขนส่งวัคซีนได้ไหม เก็บไว้ในที่ที่ถูกไหม เขาก็ไปทำแทน รจภ. โดยใช้เงินจากรายได้ของ รจภ. ไม่ใช่แบบจีทูจี อย่างที่ความหมายที่คนทั่วๆ ไปเข้าใจกัน แต่ว่าต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไปคุยกับเขา เขาถึงคุยด้วย"

ส่วนวัคซีนทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ซิโนฟาร์ม จะเป็นการจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยวัคซีนที่คืบหน้ามากที่สุด คือ โมเดอร์นา ซึ่งสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแถลงข่าวว่าวัคซีนได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อย.ไปเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะจัดหาโควตาวัคซีนได้ราว 10 ล้านโดสเพื่อกระจายให้โรงพยาบาลเอกชนฉีดวัคซีนโมเดอร์นาแก่ประชาชนได้ประมาณเดือน ต.ค.

ภญ. ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยกับสื่อด้านสาธารณสุข Hfocus ก่อนหน้านี้ว่า อภ.ได้ร่วมมือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการฉีดวัคซีนโควิด โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอยู่ระหว่างรวบรวมจำนวนความต้องการเบื้องต้นก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป แต่การฉีดวัคซีนทางเลือกนี้ผู้รับบริการต้องผู้รับผิดชอบจ่ายค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ การกำหนดราคาวัคซีนทางเลือกอาจขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจัดส่ง ค่าคลังจัดเก็บ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลเอกชนต้องบริหารจัดการเอง แต่ทางรัฐจะกำหนดราคาควบคุมที่เป็นมาตรฐาน ในระดับที่สมเหตุสมผล และเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มก็ยืนยันว่าเป็นไปตามกลไกของระบบภาษีในประเทศไทย ไม่ได้มีการคิดซ้ำซ้อนแต่อย่างใด