Skip to main content

สรุป

  • วัคซีนของซิโนฟาร์มมีอย่างน้อย 2 ตัว: ตัวแรกผลิตและทดลองทางคลินิกโดยบริษัท BIBP กิจการในเครือของซิโนฟาร์มที่จดทะเบียนใน ‘ปักกิ่ง’ และตัวที่สองผลิตโดยบริษัท WIBP ในเมือง ‘อู่ฮั่น’

  • องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองการใช้งานฉุกเฉินเฉพาะวัคซีนโควิดของซิโนฟาร์มที่ผลิตโดยบริษัท BIBP ในปักกิ่งเท่านั้น แต่ยังไม่รับรองวัคซีนที่ผลิตโดย WIBP ในอู่ฮั่น 

  • WHO ระบุว่าวัคซีนซิโนฟาร์มจากปักกิ่งและอู่ฮั่น “เป็นผลิตภัณฑ์คนละตัว” เพราะใช้เชื้อตายเป็นไวรัสโคโรนาต่างสายพันธุ์กัน และ WHO “ยังไม่ได้พิจารณา” วัคซีนซิโนฟาร์มจากอู่ฮั่น

  • ส่วน อย.ไทยเผยว่า วัคซีนซิโนฟาร์มที่ยื่นขออนุญาตขณะนี้ชื่อว่า COVILO นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค และสื่อต่างประเทศ Nature รายงานว่าวัคซีนตัวนี้ผลิตโดย WIBP ขณะที่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท วีโนว่า อินเตอร์เนชั่นแนล เคยยื่นขออนุญาตวัคซีนซิโนฟาร์มที่ผลิตโดย BIBP ปักกิ่ง แต่ไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อของ อย.

  • อย.ไทยแถลงข่าวในวันที่ 28 พ.ค. ยืนยันว่าวัคซีนที่ อย.อนุมัติการนำเข้าอย่างเป็นทางการตัวที่ 5 คือ วัคซีนซิโนฟาร์มที่ผลิตจากปักกิ่ง BIBP โดยมีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นตัวแทนที่ได้รับอนุญาตเพียงรายเดียว

ซิโนฟาร์ม ‘วัคซีนม้ามืด’ ที่ WHO รับรองก่อนซิโนแวค

องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ ‘ซิโนฟาร์ม’ อยู่ในรายชื่อวัคซีนที่สามารถใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Listing) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2564 พร้อมระบุว่ามีอย่างน้อย 5 ประเทศในโลกที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนซิโนฟาร์มแล้ว ได้แก่ จีน บาห์เรน โบลิเวีย เซเชลส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ขณะที่วัคซีน ‘โคโรนาแวค’ ของบริษัท ‘ซิโนแวค’ ที่ไทยอนุญาตให้ใช้งานฉุกเฉินไปแล้วนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ WHO

ส่วนประเทศและเขตปกครองที่อนุญาตให้ใช้งานวัคซีนซิโนฟาร์มฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) มีทั้งหมด 52 แห่ง: แอลจีเรีย แองโกลา อาร์เจนตินา เบลารุส ภูฏาน บังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา มาเก๊า โคโมรอส คองโก โดมินิกา อียิปต์ เอธิโอเปีย อีเควทอเรียลกินี กาบอง จอร์เจีย กินี กายอานา ฮังการี อินโดนีเซีย อิรัก จอร์แดน คีร์กิสถาน ลาว เลบานอน มัลดีฟส์ มอริเทเนีย มองโกเลีย มอนเตเนโกร โมร็อกโก โมซัมบิก เมียนมา นามิเบีย เนปาล ไนเจอร์ นอร์ทมาซีโดเนีย มอริเชียส ปากีสถาน เปรู เซเนกัล เซอร์เบีย เซียราลีโอน หมู่เกาะโซโลมอน โซมาเลีย ศรีลังกา ซูดาน เติร์กเมนิสถาน ซิมบับเว เขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา

WHO ได้เผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานของวัคซีนซิโนฟาร์มในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2564 ระบุว่า ‘ซิโนฟาร์ม’ คืออีกชื่อหนึ่งของ China National Biotech Group เครือกิจการเทคโนโลยีชีวภาพของรัฐบาลจีน แต่วัคซีนโควิดที่ได้รับการรับรองให้อยู่ในลิสต์ฉุกเฉิน คือ Vero Cell ที่ผลิตและทดลองทางคลินิกโดยบริษัทในเครือซิโนฟาร์ม Beijing Institute of Biological Products (BIBP) ซึ่งจดทะเบียนที่กรุงปักกิ่ง ทั้งยังระบุว่ามีอีกหลายบริษัทย่อยซึ่งพัฒนาวัคซีนให้ซิโนฟาร์ม รวมถึงวัคซีนโควิดของ Wuhan Institute of Biological Products (WIBP) ในเมืองอู่ฮั่น แต่ถือเป็นผลิตภัณฑ์คนละตัว เพราะใช้เชื้อตายเป็นไวรัสโคโรนาต่างสายพันธุ์กัน

กลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มที่ผลิตโดย BIBP คือประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งข้อมูลของ WHO ระบุว่าวัคซีนซิโนฟาร์ม BIBP ผ่านการทดลองทางคลินิกระยะ 3 ในหลายแห่ง มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ราว 79% ถ้าฉีดครบ 2 โดสภายในระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ 

อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำว่าผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนมาก่อนและผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ควรหลีกเลี่ยงวัคซีนซิโนฟาร์ม BIBP (ปักกิ่ง) และผู้ที่มีไข้ราว 38.5 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป ควรเลื่อนฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าจะหายดี และไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงที่มีต่อผู้ตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร

ส่วน Reuters รายงานว่าวัคซีนโควิดของซิโนฟาร์มที่ผลิตโดย WIBP อู่ฮั่น มีประสิทธิภาพราว 71.25% โดยเก็บข้อมูลและประเมินผลจากการทดลองที่เผยแพร่ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ WHO ยังไม่ได้รับรองวัคซีนซิโนฟาร์มจาก WIBP อู่ฮั่น ให้อยู่ในรายชื่อวัคซีนที่ใช้งานกรณีฉุกเฉิน (EUL) และยังไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับผลข้างเคียงในกลุ่มเป้าหมายต่างวัยและผู้ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพอื่นๆ

conolan/ pixabay

วัคซีนทางเลือก เมดอินปักกิ่งหรืออู่ฮั่น? 

กรณีของไทย องค์การอาหารและยา (อย.) ได้เผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์เมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า วัคซีนของซิโนฟาร์มกำลังอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียนในไทย และวัคซีนซิโนฟาร์มตัวนี้คือ COVILO ซึ่งข้อมูลจากวารสาร Nature ระบุว่าเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดย WIBP

ส่วนวัคซีน COVILO ที่จะเข้ามาไทย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด (Biogenetech Co.Ltd.) ซึ่งบริษัทเตรียมยื่นเอกสารให้ อย.ประเมินคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด Covaxin ของบริษัท Bharat Biotech จากอินเดียอีกหนึ่งตัว

อย่างไรก็ตาม นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แถลงข่าวในวันที่ 28 พ.ค.2564 ยืนยันว่าวัคซีนที่ อย.อนุมัติการนำเข้าอย่างเป็นทางการตัวที่ 5 คือ วัคซีนซิโนฟาร์มที่ผลิตจากปักกิ่ง BIBP โดยมีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นตัวแทนที่ได้รับอนุญาตเพียงรายเดียว

ขณะที่ ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวัคซีนซิโนฟาร์ม เพราะมีการประกาศว่าจะแถลงข่าวเกี่ยวกับ “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม" โดยกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในวันศุกร์ 28 พ.ค. เวลา 13.30 น.-14.30 น. ที่สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7 

ผู้ที่จะเข้าร่วมในงานแถลงข่าวครั้งนี้มีทั้งรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่ก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า วัคซีนที่จะนำเข้านี้จะมาจาก ‘ปักกิ่ง’ หรือ ‘อู่ฮั่น’

สิ่งที่น่าจับตาอีกประการคือบทบาทของ ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ ในการเป็นผู้จัดสรร นำเข้า และกระจายวัคซีน หลังจากมีประกาศในราชกิจนุเบกษาเมื่อ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์การฉุกเฉินอื่นๆ “เทียบเท่ากระทรวง ทบวง กรม”

กรณีดังกล่าวได้รับคำยืนยันจาก ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อในวันที่ 27 พ.ค.ยืนยันว่า สถานะของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เทียบเท่ากระทรวง ทบวง กรม “จึงสามารถเจรจาจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิดเองได้” แต่ยังต้องขออนุญาต อย.และกระทรวงสาธารณสุข และต้องใช้งบประมาณของตัวเอง ถ้าหากไทยผลิตวัคซีนโควิดได้เองเมื่อไหร่ก็จะต้องหยุดนำเข้าทันที

ข้อมูลอ้างอิง:

The Sinopharm COVID-19 vaccine: What you need to know
COVID-19 vaccines technical documents
China approves two more domestic COVID-19 vaccines for public use
Table 1 Progress of representative COVID-19 vaccines developed by different platforms