ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' แถลงประเด็นเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในปี 2564 เพราะมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเสี่ยงยืดเยื้อและมีความรุนแรงเป็นระยะ อาจทำให้เศรษฐกิจไม่อาจขยายตัวได้ตามเป้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และจะส่งผลกระทบต่อแรงงานหลายกลุ่ม
กลุ่มแรก แรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) อาจตกงานมากขึ้น หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน โดยธุรกิจ MSMEs ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2563 และประเมินว่าอาจจะพอประคองธุรกิจไปได้อีกราว 6 เดือน
กลุ่มสอง แรงงานในภาคท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่ โดยศูนย์วิจัยด้านการตลาด ท่องเที่ยวของ ททท. คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนเกิดโควิดฯ ได้ราวปี 2569 กระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวกว่า 7 ล้านคน อาจถูกเลิกจ้างหรือไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ตามปกติ อาจต้องเปลี่ยนอาชีพ
กลุ่มสาม นักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 มีจำนวนประมาณ 4.9 ล้านคน แต่เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ธุรกิจเลื่อนการขยายตำแหน่งใหม่ ทำให้ตำแหน่งงานไม่เพียงพอที่จะรองรับเด็กจบใหม่
นอกจากนี้ยังจะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยผู้ว่างงานมีแนวโน้มจะว่างงานระยะยาวมากขึ้น หรือว่างงานนานกว่า 12 เดือน ส่วนแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากจะกลายมาเป็นแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีหลักประกันรองรับ
ขณะที่ผู้ว่างงานในระบบที่ได้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวนแค่ 3.46 แสนคน และผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย มี 62,731 คน
ส่วนประเด็นที่ต้องจับตาของภาคเกษตร คือ การเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเพาะปลูกของเกษตรกรไทย