มูลนิธิทอมป์สันรอยเตอร์สเผยแพร่รายงานสถานการณ์ Chemsex หรือ ‘ปาร์ตี้ไฮ-ฟัน’ มีจำนวนเพิ่มขึ้นในไทยช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด โดยองค์กรรณรงค์ด้านความหลากหลายทางเพศนิยามว่าปาร์ตี้ไฮ-ฟันเป็นกิจกรรมสังสรรค์ของกลุ่มชายรักชายและหญิงข้ามเพศที่มีแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น การเสพสารเสพติดเกินขนาด ติดยา ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เริม ฯลฯ
รายงานดังกล่าวอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวผู้ให้บริการทางเพศรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่าคำสั่งปิดสถานบันเทิงในช่วงโควิด ทำให้มีการจัดปาร์ตี้ไฮ-ฟันแบบส่วนตัวเพิ่มขึ้น โดยแหล่งข่าวรายนี้ระบุว่าหลังประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรกก็มีงานเข้าร่วมปาร์ตี้ไฮ-ฟันเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีโควิด
นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของมูลนิธิรณรงค์เพื่อกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ AP COM ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้สารเสพติด และการจัดปาร์ตี้ไฮ-ฟันในหลายประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงปี 2553-2562 และประเมินว่าสถิติน่าจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเมืองใหญ่ที่พบการจัดปาร์ตี้ไฮฟันรวมถึงกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการใช้ยาไอซ์
อย่างไรก็ตาม รายงานของมูลนิธิทอมป์สันรอยเตอร์สระบุว่าติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องปาร์ตี้ไฮฟัน แต่ไม่ได้รับคำตอบ
ปาร์ตี้ยาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เหตุผลที่ติดยาไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กซ์
‘ดิ โอเพนเนอร์’ ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง ‘นิกร ฉิมคง’ ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ระบุว่าการจัดปาร์ตี้ที่เกี่ยวโยงกับการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้สารเสพติด ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ แต่รวมถึงกลุ่มผู้ชายผู้หญิง ถ้าดูข้อมูลในทวิตเตอร์หรือสื่อออนไลน์ จะพบว่าชายหญิงก็มีการนัดให้บริการหรือการเสพยาแบบกลุ่ม เพียงแต่ว่าในกลุ่มของชายรักชายจะเผยแแพร่ข้อมูลอย่างเปิดเผยชัดเจนกว่าในโลกการสื่อสารออนไลน์
ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ระบุว่า การใช้สารเสพติดหรือยาออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทในการจัดปาร์ตี้ของกลุ่มเกย์หรือผู้หลากหลายทางเพศอื่นๆ "ไม่ใช่เรื่องใหม่" เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาหลายทศวรรษ แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีปาร์ตี้ใหญ่ๆ ระดับโลกมาจัดที่ประเทศไทย ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของปาร์ตี้เกย์ และถูกยกให้เป็น ‘จุดหมายปลายทางของเกย์’ (Gay Destination) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเกิดโควิดระบาด และเมื่อไม่มีการจัดปาร์ตี้ ก็ยังมีชายรักชายบางส่วนที่ใช้ยาเสพติดต่อไปด้วยเหตุผลอื่นๆ
"สมัยที่ยังไม่มีโควิด ทุกคนยอมจ่ายตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรมในไทย เพราะงานปาร์ตี้ไม่ได้จัดแค่วันเดียว จัด 4-5 วัน หรือเป็นอาทิตย์ เกิดการใช้จ่าย เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสูงมาก โรงแรมเต็มหมด แต่ก็จะเข้ามาพร้อมกับเรื่องของยาเสพติด ซึ่งยานี่ในต่างประเทศ ค่านิยมการใช้ยาเป็นวัฒนธรรมของคนมีเงิน ของคนที่อยากสนุก เพราะยาไม่ใช่ราคาถูกๆ ราคาแพงมาก คนที่มีกำลังก็จะใช้อำนาจในการต่อรองให้คนที่ตัวเองอยากจะมีอะไรด้วย เชิญชวนให้มารับยา เป็นเครื่องมือ เช่น ชวนเกย์วัยรุ่นที่เพิ่งเข้าสู่วงการปาร์ตี้ ก็เลยทำให้เกิดเป็นเทรนด์ขึ้นมา กลายเป็นวัฒนธรรมของผู้ใช้ยา ให้มีความสนุก กระฉับกระเฉง แล้วนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์และเข้าสู่วงจรการใช้ยาเสพติด"
"กลุ่มเกย์ส่วนใหญ่จะอยู่คนเดียว ไม่ได้มีครอบครัว และส่วนใหญ่ก็จะทำอาชีพอิสระ ก็เลยกลายเป็นใช้ยาเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อคลายเหงา เพื่อทำให้การทำงานของตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะว่าตัวเองต้องเป็นศิลปิน ซึ่งเป็นความเชื่อของเขา ใช้ยาเพื่องานปาร์ตี้ ใช้ยาเพื่อคลายเครียด เพราะอาจจะเกิดความกดดันเรื่องของครอบครัว เรื่องของความรัก เรื่องของความโดดเดี่ยวที่ต้องอยู่คนเดียว เรื่องของปัญหาทางเศรษฐกิจก็มีส่วนที่ทำให้เขาเข้าสู่วงจรของยาเสพติด"
ด้วยเหตุนี้ 'นิกร' จึงระบุว่า การทำงานขององค์กรบางกอกเรนโบว์จึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงรณรงค์ให้กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศตระหนักถึงภัยยาเสพติด
"เราไม่ได้ไปบอกเขาว่าต้องเลิก ต้องเข้าสถานบำบัด แต่จะให้ข้อมูลเขาว่าการใช้ยาเสพติดหรือสารเสพติดมันมีผลต่อชีวิตประจำวันยังไง มันทำให้เกิดความสูญเสียทั้งเรื่องของสภาพร่างกาย อาจทำให้สูญเสียความสามารถทางหน้าที่การงาน ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมมันได้ ซึ่งเราก็เจอหลายคนแล้วที่พอใช้ยาเสพติดแล้วกลายเป็นแบบที่ภาษาของเราเรียกว่า 'เท' น่ะ เทหมดทุกอย่างเลย ทำให้คนไม่กล้าจ้างงาน คนไม่กล้าเรียกใช้ รับปากจะไปแล้วไม่ไป มันก็ทำให้เกิดเรื่องของการเสียงานเสียการขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เราพยายามรณรงค์อยู่"