Skip to main content

'วัน อยู่บำรุง' ซัดรัฐบาลแก้ปัญหายาเสพติดล้มเหลว ชี้หากทำไม่ได้ให้ยุบสภาคืนอำนาจ ปชช. ด้าน ‘อมรัตน์’ ขอรัฐบาลนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้เยาวชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
  
วัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงปัญหายาเสพติดในประเทศขณะนี้ว่า เกิดจากการบริหารประเทศแบบไม่เอาใจใส่ดีแต่ใช้วาทกรรม จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้ยาเสพติดเติบโตอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจฝืดเคือง กระบวนการค้ายาเหล่านี้จึงอาศัยโอกาสนี้จูงใจกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่น ให้มาร่วมกระบวนการ โดยเฉพาะขั้นตอนการขนส่ง ลำเลียง โดยมีค่าจ้างเป็นแรงจูงใจ พิษโควิด - 19 ทำให้เงินทองที่เคยหาได้หาได้ยากขึ้น กลุ่มวัยรุ่นจึงตัดสินใจผันตัวเข้าสู่วงการ จากไม่เคยเสพยาก็มาเป็นเด็กเดินยา ส่วนราคายาเสพติดปัจจุบันมีราคาถูกมาก เพราะมียาเสพติดจำนวนมาก ตอนนี้ในพื้นที่กทม. ไม่ต่างจากสวรรค์ของนักค้ายา

"รัฐบาลทำเศรษฐกิจพัง ค่าครองชีพแพง ถูกอยู่อย่างเดียวคือยาเสพติด ปัจจุบันพวกค้ายาใช้เยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปี เป็นเด็กเดินยา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากจะยึดติดอำนาจ แต่ทำงานไม่เป็น ยังใจดำปล่อยให้กระบวนการค้ายาเสพติดกระจายไปทั่วประเทศ" วัน กล่าว
    
วัน กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ รัฐบาลต้องปิดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสกัดกั้นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ต้องตัดวงจรลักลอบการนำเงินออกนอกประเทศ ต้องมีการตั้งศูนย์อำนวยการที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพกำกับดูแลป้องกัน และเน้นการป้องกันมากกว่าการจับกุม เน้นการปราบปรามตามแนวชายแดนและหัวเมืองใหญ่ๆ พร้อมกันนี้ ขอฝากถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ลงพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน เพื่อตรวจสอบดูบ้างว่ามีการลับลอบขนยาเสพติดบ้างหรือไม่ ปัญหายาเสพติดรัฐบาลต้องปรับปรุงแนวทางแก้ปัญหาให้เป็นระบบมากกว่านี้ อนุญาตให้รัฐบาลนำแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดไปใช้ได้ รัฐบาลไม่ต้องอายถ้าจะแก้ปัญหาประเทศได้ตนยินดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วเลือกตั้งใหม่


‘อมรัตน์’ ขอรัฐบาลนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้เยาวชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

ด้าน อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวหน้า อภิปรายถึงวิกฤตของประเทศไทย วิกฤตของผู้นำ การที่กองทัพส่งแม่ทัพมายึดอำนาจ แต่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ แถมยังตกเป็นเครื่องมือของนายทุนใหญ่ แต่จารีตนิยม ราวกับฝาแฝดอิน-จัน กินอยู่สบายบนกองภาษีอากรของประชาชน ระบอบการเมืองประชาธิปไตยจอมปลอม สร้างระบอบการเมืองแบบใหม่ที่อนุญาตให้เราเข้าหูหาไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเป็นครั้งคราว แต่อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของนายทุนและฝ่ายขวาจารีต การเอาการเมืองกลับมาสู่ประชาธิปไตยคือการเปิดให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
วิกฤตนิติรัฐ เกิดจากความย่ามใจใช้กฎหมายปราบปรามประชาชน เกิดวิกฤตศรัทธาสูงต่อสถาบันต่างๆ เช่น ตุลาการ

เนื่องจาก คสช. เข้ามาสู่อำนาจจากการปูทางของตุลาการภิวัฒน์ แต่งตั้ง ส.ว. เกิดการโยกย้ายยึดกุมระบบราชการ และเมื่อยึดองค์กรอิสระได้ก็อาศัยนักร้องและสื่อเพื่อสะกดจิตสังคม ทำให้คนไม่สนใจกฎหมาย และให้คดีความขึ้นสู่เงื้อมือของศาล กฎหมายความมั่นคงถูกรัฐบาลอำนาจนิยมมาใช้อย่างไม่ละอาย เพื่อให้ประชาชนเข็ดหลาบไม่ลุกขึ้นมาต่อต้าน เอาตัวไปขังในเรือนจำทั้งที่ยังไม่มีการพิพากษา ทรมาน ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว หรือแม้ว่าจะปล่อยตัวก็ใช้กำไล EM ล่ามเท้า ขังให้อยู่ในบ้าน ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วถึงเดือนมกราคมในปีนี้มีประชาชนและเยาวชนถูกดำเนินคดีไปแล้ว 1,767 รายจาก 1,009 คดี ทั้งคดีอาญา คดีความมั่นคง คดีจาก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อ้างว่าใช้ควบคุมโรคระบาด พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ, พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, ข้อหาละเมิดศาล หรือแม้แต่ พ.ร.บ.ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็เอามาใช้กับประชาชนชนชั้นนำไทยก็เอาแต่หวาดกลัวว่าสังคมจารีตกำลังจะถูกทำลาย นี่คือยุคมืดอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นยุคที่เกิดคดีความทางการเมืองมากที่สุด ต่อจากยุคสงครามเย็น การใช้กฎหมายกดหัวประชาชนอาจจะต่ออายุรัฐบาลไปได้เล็กน้อย แต่ในอนาคตจะกลายเป็นระเบิดเวลา ที่ทุกสถาบันจะพังกันไปหมด การทำนิติสงครามกับประชาชนต้องหยุดทันที เราต้องปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสถาบันการเมือง หยุดดำเนินคดีกับประชาชน และเปิดพื้นที่พูดคุย

โดยเริ่มจากนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมด เวลาแม่ทัพฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด แต่กลับนิรโทษกรรมได้ แล้วทำไมจะนิรโทษกรรมให้กับประชาชนไม่ได้ การนิรโทษกรรมจะเป็นประตูบานแรกเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยของนายควง อภัยวงศ์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, นายเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นต้น หรือบทเรียนจากไต้หวัน ที่คล้ายกับประเทศไทย อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ประชาชนถูกจับกุมและหนีออกจากบ้านเกิด ซึ่งสุดท้ายปัญหาสมองไหลกลายเป็นอุปสรรค์ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการเยาวชนแห่งชาติ เพื่อยอมรับความจริงที่ทำให้เกิดสมองไหล เรื่องจากขาดเสรีภาพทางการเมืองและวิชาการ ในปีเดียวกันมีการเปิดให้เลือกตั้งอย่างเสรีเป็นครั้งแรก และยกเลิกกฎอัยการศึกในปีต่อมา จะเห็นว่าการเมืองที่เปิดกว้างและนโยบายเชิงรุก ทำให้บุคคลที่มีความสามารถเดินทางกลับประเทศ 

บทเรียนจากเรื่องนี้ อย่าปล่อยให้ความห่วงแหนอำนาจของคนรุ่นเก่าผลักใสคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติออกไป การนิรโทษกรรมให้เยาวชน ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่เป็นการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอีกด้วย การนิรโทษกรรมไม่ใช่แค่ปล่อยเพื่อเรา แต่เป็นการปลดปล่อยศักยภาพของประเทศของประเทศ ประเทศที่กักขังความคิดของประชาชนก็จะกักขังความสร้างสรรค์ ไม่กล้าตั้งคำถาม หมดความสามารถที่จะคิดนอกกรอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ เยาวชนไม่มั่นใจว่าจะมีอนาคตในประเทศที่มีโครงสร้างทางสังคมแบบนี้อย่างไร

"นี่ไม่ใช่การเรียกร้องจากผู้มีอำนาจ หรือวิงวอนร้องขอการอภัยโทษให้เยาวชนของชาติ แต่เป็นการยืนขึ้นมาเสมอกัน เพื่อส่งเสียงจากสภาไปยังรัฐบาล และชนชั้นนำของประเทศ หากสภาพที่เป็นอยู่นี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ประเทศนี้จะเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคตกันทั้งหมด รวมทั้งชนชั้นนำไทยด้วย" อมรัตน์ กล่าว