Skip to main content

สรุป

  • ชาวไทยในอิสราเอลประเมินว่าการอพยพคนไทยออกจากพื้นที่ขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ "เกิดขึ้นได้ยาก" เพราะหากอพยพจะกระทบงานด้านเกษตรกรรมของอิสราเอล
  • สถิติชาวไทยที่เสียชีวิตและบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.2564 มีจำนวน 10 ราย เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 7 ราย และอาการสาหัส 1 ราย
  • การประท้วงและการปะทะระหว่างชาวยิวกับชาวมุสลิมในเมืองต่างๆ ทั่วอิสราเอล เสี่ยงจะยืดเยื้อและมีผลกระทบต่อประชาชน จึงน่าหวั่นใจไม่แพ้การยิงโจมตีและการทิ้งระเบิดบริเวณฉนวนกาซา 
  • สถานทูตไทยในอิสราเอลเตือนคนไทยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ย้ำ "อย่าออกไปถ่ายรูปหรือดูระเบิด-ควรเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินใส่ของสำคัญ เช่น พาสปอร์ต ยาที่ใช้ประจำ น้ำดื่ม ฯลฯ" เผื่อต้องหนีภัย

'เปโดร' แหล่งข่าวชาวไทยในอิสราเอล ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง ให้สัมภาษณ์กับ the Opener หลังจากมีชาวไทยเสียชีวิตแล้ว 2 ราย บาดเจ็บ 7 ราย และอาการสาหัส 1 ราย จากเหตุการณ์ความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย 'เปโดร' ชี้ว่า คนไทยในอิสราเอลแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรก คือ คนไทยที่ได้สัญชาติอิสราเอลแล้ว มีจำนวนไม่มาก คาดว่ามีประมาณหลักพันคน ซึ่ง 'เปโดร' เป็นหนึ่งในคนไทยที่ได้รับสัญชาติแล้วเช่นกัน ยืนยันว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยในอิสราเอลไม่ต้องดูแลอะไรคนกลุ่มนี้มากนัก เพราะถือว่าดูแลตัวเองได้

กลุ่มสอง คือ แรงงานไทยในอิสราเอล มีประมาณ 25,000 คน ซึ่ง 'เปโดร' ระบุว่า ถ้ารัฐบาลอิสราเอลไม่บังคับให้คนกลุ่มนี้อพยพ สถานทูตไทยก็ไม่น่าจะมีคำสั่งใด เพราะถ้าอพยพเมื่อไหร่จะทำให้งานในภาคเกษตรของอิสราเอลได้รับผลกระทบ นายจ้างของอิสราเอลก็จะขาดรายได้ และที่ผ่านมาแรงงานไทยจำนวนหนึ่งเผชิญกับปัญหาสภาพความเป็นอยู่ และค่าแรงที่ได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว หลายครั้งเจ้าหน้าที่ของทางการไทยก็ดูแลได้ไม่ทั่วถึง จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องการอพยพ

กรณีของ 'เปโดร' นั้น บ้านของเขาอยู่ในโซน 'เยรูซาเลม' ซึ่งเจอกับจรวดที่ถูกยิงมาแถวบ้านในช่วงวันแรกของการโจมตี แต่หลังจากนั้นไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และสถานทูตไทยก็ยังไม่มีท่าทีใดนอกจากการแจ้งให้คนไทยในอิสราเอลระวังตัว พร้อมติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

Jerusalem/ Pixabay

การประท้วงอาจนำไปสู่การปะทะในหลายเมืองทั่วอิสราเอล 

เปโดรกล่าวเพิ่มว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับชาวไทยในอิสราเอลไม่แพ้การยิงจรวดของกลุ่มติดอาวุธฮามาสซึ่งมีฐานที่มั่นในฉนวนกาซา คือ การประท้วงของชาวมุสลิม และการปะทะระหว่างชาวยิวและชาวมุสลิมในเมืองต่างๆ ทั่วอิสราเอล

การประท้วงและปะทะเหล่านี้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปอย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะรัฐบาลอิสราเอลสนับสนุนให้ประชาชนเชื้อสายยิวเข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่ที่มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ และเกิดการไล่ที่ รวมถึงการต่อต้านจากผู้อยู่อาศัยเดิม

"การขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีมาเกือบ 100 ปีแล้วครับ รากของการขัดแย้งก็คือศาสนาและศักดิ์ศรี...ดังนั้นผมจึงมองว่า การขัดแย้งครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขัดแย้งหลัก และคงจะขัดแย้งแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีก 2-3 วันอาจจะมีการหยุดยิง แต่อีกปี 2 ปีก็จะมีการรบกันใหม่"

"การประท้วงของชาวมุสลิม และการปะทะกันระหว่างคนยิวกับคนมุสลิมในเมืองต่างๆ ของอิสราเอลและในเขตเวสต์แบงก์ อันนี้ต้องดูกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรในอนาคต และผมมองว่ามันเป็นปัญหาใหญ่กว่ากาซาอีก" เปโดรระบุ

ภาพ: เปโดร

สถานทูตไทยแนะวิธีปฏิบัติเมื่อได้ยินไซเรนเตือนภัย แต่ยังไม่อพยพ

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจของสถานเอกอัครราชทูตไทยในอิสราเอล 'ทุกเรื่องเมืองยิว' เตือนประชาชนให้เตรียมตัวพร้อมว่าต้องทำอย่างไรเมื่อได้ยินเสียงไซเรนเตือนภัย โดยระบุว่า หากอยู่ในรถส่วนตัว ให้หยุดรถข้างทาง ออกจากรถ นอนราบกับพื้นและปกป้องหัวด้วยมือ

หากอยู่ในอาคาร ให้เข้าห้องนิรภัย ปิดหน้าต่าง ล็อกประตู หากอยู่ในรถสาธารณะ เช่น รถที่วิ่งภายในเมือง ควรออกจากรถและเข้าไปในอาคารที่ใกล้ที่สุด แต่ถ้าอยู่ในรถบัสที่วิ่งระหว่างเมืองหรือรถไฟ ควรหมอบใต้กรอบหน้าต่าง และใช้มือปกป้องศีรษะ และหากอยู่ในที่กลางแจ้ง แต่อยู่ในบริเวณที่มีอาคาร ควรเข้าไปในอาคารที่ใกล้ที่สุด แต่ถ้าไม่มีอาคารอยู่ใกล้ ควรนอนราบกับพื้น และปกป้องศีรษะด้วยมือ

นอกจากนี้ คำเตือนของสถานทูตไทยยังระบุด้วยว่า "ไม่ออกไปถ่ายรูปหรือดูระเบิด เพราะจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ควรเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินใส่ของสำคัญ เช่น หนังสือเดินทาง ยาที่ใช้ประจำ น้ำดื่ม ฯลฯ และกรณีฉุกเฉิน ติดต่อสถานทูตฯ ได้ที่เบอร์ 054-636-8150"

อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ระบุว่าเป็นแรงงานไทยในอิสราเอล เข้ามาแสดงความเห็นว่า นายจ้างส่วนใหญ่ไม่อนุญาตหรือไม่ออกคำสั่งให้อพยพแรงงาน แม้พื้นที่เกษตรกรรมที่ทำงานอยู่นั้นจะอยู่ไม่ห่างจากพรมแดนฉนวนกาซาที่เกิดการปะทะโจมตีระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาส ทั้งยังไม่ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ของไทยจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง

ส่วนความคืบหน้าการปะทะโจมตีระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 200 รายในฉนวนกาซา และอีก 12 รายในอิสราเอล ขณะที่นานาชาติเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายลดการใช้ความรุนแรงโจมตีที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อพลเรือน แต่ 'เบนจามิน เนทันยาฮู' นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศฉนวนกาซาต่อในวันที่ 20 พ.ค.2564

รายชื่อคนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุขัดแย้ง

ผู้เสียชีวิต 2 ราย:
1. นายวีรวัฒน์ การันบริรักษ์ อายุ 44 ปี เพชรบูรณ์
2. นายสิขรินทร์ สงำรัมย์    อายุ 24 ปี บุรีรัมย์


อาการสาหัส 1 ราย
นายอัตรชัย ธรรมแก้ว อายุ 28 ปี อุบลราชธานี


ผู้บาดเจ็บ 7 ราย
1. นายณรงค์ศักดิ์ รอดชมพู อายุ 32 ปี อุดรธานี
2. นายเชษฐา ผลาพรม อายุ 40 ปี อุดรธานี
3. นายธนดล ขันธชัย อายุ 26 ปี อุดรธานี
4. นายปรีชา แซ่ลี้ อายุ 32 ปี เชียงราย
5. นายสมศักดิ์ จันทร์ภักดี อายุ 26 ปี สุรินทร์ 
6. นางสาวจรัสศรี กล้าแข็ง อายุ 39 ปี หนองคาย
7. นายจักรี  รัตพลที อายุ 31 ปี หนองบัวลำภู