สรุป
- ภาพรวมของประเทศ การฉีดวัคซีนครบทั้งสองเข็มอยู่ที่ 513,454 คน คิดเป็น 0.78% ของประชากรทั้งประเทศ เข็มแรกอยู่ที่ 1,296,440 คน คิดเป็น 1.96% ของประชากรทั้งประเทศ
- จังหวัดที่มีอัตราการได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็มมากที่สุดมักเป็นแถบจังหวัดการท่องเที่ยวทางทะเล รวมถึงจังหวัดเขตพื้นที่สีแดงและจังหวัดในแนวชายแดน เช่นเดียวกันกับอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรก
- ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็มน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน เช่นเดียวกันกับอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรก
- ในขณะที่ยอดการจองฉีควัคซีนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนจองการฉีดวัคซีนผ่านทางแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ มีเพียง 1,563,486 ราย หรือเพียง 12.61% ซึ่งเป็นอัตราที่ยังต่ำ
นอกจากเรื่องจำนวนของวัคซีนโควิด-19 แล้ว ประเด็นความล่าช้าในการฉีดวัคซีน รวมไปถึงจำนวนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนจองการฉีดวัคซีนผ่านทางแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ที่ยังถือว่าน้อยอยู่ จนเกิดเป็นประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้มีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น เร็วขึ้น และมีผู้จองฉีดวัคซีนมากขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ขณะที่รัฐบาลเองก็ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งเรื่องการได้รับวัคซีนที่ล่าช้า การกระจาย อัตราการฉีดวัคซีน ความเชื่อมั่นต่อวัคซีน ไปจนถึงความยุ่งยากของการใช้แอปฯ ‘หมอพร้อม’ ที่ทำให้ยอดการจองวัคซีนของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังนั้นไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งจะส่งผลต่อการได้ฉีควัคซีนครบของประชากรทั้งประเทศและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง
Rocket Media Lab ซึ่งทำงานข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน จึงได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับอัตรการฉีดวัคซีน และการจองวัคซีน โดยอาศัยข้อมูลจากไทยรู้สู้โควิด กรมควบคุมโรค และข้อมูลจำนวนประชากร ปี 2563 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อจัดแสดงให้เห็นอัตราและสัดส่วนของการฉีดวัคซีนและจองวัคซีนรายจังหวัด
ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปถึงไหน จังหวัดไหนฉีดได้มากที่สุด
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค (รายงานวันที่ 10 พ.ค. 2564) จะพบว่า จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนครบสองเข็มมากที่สุดคือจังหวัดสมุทรสาคร 102,182 เข็ม ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สีแดง รองลงมาคือภูเก็ต กรุงเทพมหานคร ตาก และสุราษฎร์ธานี แต่หากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของจังหวัดนั้นๆ จะพบว่าจังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มมากที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต 22.60% สมุทรสาคร 17.43% ตาก 4.43% สุราษฎร์ธานี 2.44 พังงา 1.87%
และหากสังเกตดูจะพบว่าจังหวัดที่อยู่ในลำดับต้นๆ ที่มีประชากรฉีดครบสองเข็มจำนวนมากมักจะเป็นจังหวัดเชิงการท่องเที่ยวทางทะเล รองลงมาคือจังหวัดแนวชายแดน
ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการฉีดครบสองเข็มน้อยที่สุดคือ นครนายก 0.02% อุบลราชธานี 0.04% นครราชสีมา 0.04% บุรีรัมย์ 0.06% และศรีสะเกษ 0.06% โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน
สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกนั้น จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกจำนวนมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ภูเก็ต ตาก และชลบุรี แต่หากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของจังหวัดนั้นๆ จะพบว่าจังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกมากที่สุด ได้แก่ สมุทรสาคร 26.86% ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ภูเก็ต 23.61% ระนอง 7.97% ตาก 6.85% และกรุงเทพมหานคร 5.26% ซึ่งยังคงเป็นแนวจังหวัดที่ใกล้เคียงกันกับอันดับการฉีดครบทั้งสองเข็ม
ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการฉีดเข็มแรกน้อยที่สุดคือ กาฬสินธุ์ 0.35% ศรีสะเกษ 0.54% มหาสารคาม 0.58% ลำปาง 0.59% ร้อยเอ็ด 0.60% โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน
โดยในภาพรวมของประเทศ การฉีดวัคซีนครบทั้งสองเข็มอยู่ที่ 513,454 คิดเป็น 0.78% เข็มแรกอยู่ที่ 1,296,440 คิดเป็น 1.96%
สำหรับเรื่องการจองการฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ จากข้อมูลของเพจไทยรู้สู้โควิด (ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564) พบว่า จังหวัดที่มีการจองการฉีดวัคซีนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ลำปาง นนทบุรี สมุทรปราการ และเชียงใหม่
ส่วนจังหวัดที่มียอดการจองน้อยที่สุดก็คือมุกดาหาร 1,177 คน ยโสธร 1,237 คน แม่ฮ่องสอน 1,368 คน สตูล 1,664 คน และ ชัยนาท 2,081 คน
ส่วนจำนวนผู้สูงอายุนั้น จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดก็คือ กรุงเทพมหานคร 1,108,912 คน นครราชสีมา 473,644 คน เชียงใหม่ 349,970 คน ขอนแก่น 326,053 คน และอุบลราชธานี 289,179 คน
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ไม่สามารถแสดงสัดส่วนผู้จองวัคซีนกับจำนวนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปได้ เพราะการจองการฉีดวัคซีนครั้งนี้ เป็นโควต้ารวมทั้งผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ดังจะเห็นว่าในบางจังหวัด ตัวเลขการลงทะเบียนจองวัคซีนนั้นสูงกว่าตัวเลขผู้สูงอายุ เช่น ลำปาง เป็นต้น
เพจไทยรู้สู้โควิดให้ข้อมูลว่า ประเทศไทย ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนรวม 11.7 ล้านคน และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน แต่ในขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรังลงทะเบียนเพียง 1,563,486 ราย หรือเพียง 12.61% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำ และในหลายจังหวัดก็ยังมีสัดส่วนที่ยังต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรวมของประชากรสูงวัย
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นภาพรวมและรายละเอียดรายจังหวัดที่กว้างมากขึ้น และทำให้เห็นภาพว่าการฉีควัคซีนโควิด-19 ของไทยนั้นดำเนินไปเช่นไร และควรจะทำนโยบายในด้านไหน พื้นที่ไหน อย่างไรต่อไป เพื่อให้สามารถฉีควัคซีนได้อย่างครอบคลุมและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้เร็วที่สุด
ที่มา
• รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยกระทรวงสาธารณสุข
• ข้อมูลการเปิดจองคิวฉีดวัคซีนโควิด 19 จากหมอพร้อม ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564