ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความเพจ Thanathorn Juangroongruangkit ระบุ ศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ เป็นอดีตนักโทษในต่างแดนก็เป็น รมว.ไทยได้? รับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยความประหลาดใจ แม้จะไม่ผิดความคาดหมายที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ มือประสานสิบทิศของรัฐนาวาประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดจากการพ้นสภาพรัฐมนตรี แต่คำวินิจฉัยของศาลวันนี้ (5 พ.ค.) เกินความคาดหมายไปมาก เพราะระบุว่าแม้ศาลออสเตรเลียจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกธรรมนัสในคดียาเสพติดจริง แต่เป็นศาลออสเตรเลีย ไม่ใช่ศาลไทย จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี ขอตั้งข้อสังเกต 2 ข้อ ดังนี้
• ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยชัดๆ ว่า "ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ก่อนลงสมัคร ส.ส. ร.อ.ธรรมนัส ยอมรับว่าเคยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย" และ "เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวล เครือรัฐออสเตรเลีย" หมายความว่าที่ธรรมนัสกล่าวอ้าง ทั้งในสภา กับวาทะ "มันคือแป้ง" และนอกสภา ที่เขายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าไม่เคยติดคุก ไม่ได้ค้ายาเสพติด เป็นเรื่องไม่จริง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่ธรรมนัสจะขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะมีความสง่างามได้อย่างไร จะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนได้อย่างไร หากมีรัฐมนตรีที่โกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องคอขาดบาดตายอย่างการพัวพันกับการค้ายาเสพติด
• ประการที่สอง คำวินิจฉัยในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทยใช่หรือไม่ ว่าไม่ว่าจะเป็นอาชญากรหรือนักโทษมาจากไหน แต่ประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เป็นรัฐมนตรีได้เสมอ ตราบใดที่ไม่ได้ต้องคดีในไทย ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปพ่อค้ายา พ่อค้าอาวุธทั่วโลกก็คงสามารถเอาเงินจากการก่ออาชญากรรม มาซื้อตำแหน่งรัฐมนตรี กลายเป็นผู้บริหารประเทศไทยได้ใช่หรือไม่
เราจะปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้จริง ๆ หรือ?
หากเป็นแบบนี้ต่อไป อย่าแปลกใจเลยที่คนไทยจำนวนมากจะอยากย้ายประเทศ เพราะไม่มีใครหรอก ที่อยากอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่มีที่อยู่ให้กับคนมีความสามารถ แต่กลับมีที่ยืนให้กับบุคคลเช่นนี้
ส.ส.ก้าวไกล ผิดหวังคำวินิจฉัยศาล รธน.
ที่พรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า โดยชัยธวัช กล่าวว่า ผิดหวังกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง เพราะขัดต่อแนวทางปฏิบัติและแนวทางกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 ซึ่งกระทรวงมหาดไทย เคยได้ทำหนังสือขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในครั้งนั้น รัฐธรรมนูญในขณะนั้นคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไว้ว่าเรื่องหนึ่งว่าคือ บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่กระทำผิดโดยได้กระทำโดยประมาท
ชัยธวัช กล่าวว่า ในครั้งนั้นคณะกรรมการกฤษฎีการมีความเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกไม่ได้ระบุว่าเป็นคำสั่งของศาลประเทศใด และบุคคลดังกล่าว ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศก็จะลักลั่นไม่เป็นธรรมและผิดหลักเหตุผล ในกรณีเช่นทำผิดอย่างเดียวกัน มีโทษอย่างเดียวกัน แต่ผิดในประเทศต้องห้าม ผิดในต่างประเทศไม่ต้องห้าม ฉะนั้น ให้บุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งทางกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะจำคุกในประเทศไทยหรือในต่างประเทศก็ต้องเป็นบุคคลต้องห้าม ไม่ให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
"แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส จะรอดในวันนี้ แต่เรายังเห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะเราจะมีรัฐมนตรีที่ทำผิดและเคยถูกจำคุกในคดีร้ายแรงคือค้าเฮโรอีนในต่างประเทศได้อย่างไร การมีรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเรื่องนี้มาแล้วเกือบสองปี เขาไม่เพียงไม่ถูกปลดแต่ยังเติบโตในหน้าที่การงาน ทั้งในพรรคและมีตำแหน่งในรัฐบาล แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลโจรอุ้มโจร รัฐบาลแบบนี้ไม่ตอบโจทย์สังคมไทย จึงชัดเจนอย่างยิ่งว่าจำเป็นต้องมีรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อคืนความปกติให้สังคมไทยและเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติที่รัฐบาลนี้ไม่มีปัญญาจัดการ" ชัยธวัช ระบุ