Skip to main content

ในวันที่สังคมวิกฤต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่รอที่จะช่วยเหลือเท่าที่กำลังจะทำได้ เพราะในอดีตเคยเป็นผู้ได้รับ เมื่อมีโอกาสจึงเป็นผู้ให้ตอบแทนสังคมกลับไป หวังเป็นโมเดลต้นแบบการช่วยเหลือ 

ในช่วงนี้หากเห็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ใช้รถตู้โฟล์กสวาเกน ออกไปรับผู้ป่วยโควิด-19 ตามสถานที่ต่าง ๆ ใน กทม. ไม่ต้องประหลาดใจ เนื่องจากปัญหาเรื่องการรับ-ส่ง ผู้ป่วยไม่เพียงพอ จึงมีนักธุรกิจนำรถยนต์ที่ใช้ประจำมามอบให้ สพฉ. ได้ใช้ชั่วคราว พร้อมออกค่าใช้จ่ายค่าน้ำมัน รวมถึงการซ่อมแซมรถหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจ

ดิ โอเพนเนอร์ มีโอกาสพูดคุยด้วยผ่านทางระบบซูมกับ 'ธีรภัทร์ มีเดช' ประธานบริหาร บริษัท เฟอร์นิช ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด เล่าว่า แนวคิดนี้เกิดจากการพูดคุยกับรุ่นพี่ที่นับถือกัน และกลับไปนั่งคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ โดยรถตู้โฟล์กสวาเกนที่ใช้ประจำสองคัน ทดสอบระบบแอร์ พบว่าด้านหน้าคนขับและส่วนที่เป็นผู้โดยสารระบบแอร์แยกกั้น ที่สำคัญมีกระจกกั้นแบ่งส่วนอยู่แล้ว เชื่อว่านำไปใช้รับ-ส่งผู้ป่วยได้ จึงไม่รอช้าหาข้อมูลหน่วยงานที่จะนำรถไปใช้ และพบว่า สพฉ.เป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการกลาง จึงนำไปมอบให้ และคิดอีกว่าถ้าหากให้รถไปแล้ว ค่าใช้จ่ายที่ตามมา ทั้งค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุง หรือเกิดอุบัติเหตุ หน่วยงานต้องรับผิดชอบและการเบิกจ่ายอาจล่าช้าอีก จึงเสนอว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้รถตู้ให้มาเรียกเก็บได้ที่ตนเอง

"ผมเป็นส่วนเล็กๆ ของสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่เราทนดูไม่ได้กับวิกฤตครั้งนี้ ที่เห็นคนข้าง ๆ หรือเห็นคนผ่านโซเชียลเสียชีวิต เชื่อว่าไม่มีใครทนได้ รวมถึงตัวท่านนายกรัฐมนตรี ผมก็เชื่อว่าท่านทนไม่ได้ แต่ว่าวันนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะโทษใครว่าผิดถูก ถ้าวิกฤตโควิดครั้งนี้ยังไม่จบ ธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างผมก็ตายอยู่ดี มันไปไม่รอดทั้งระบบ วันนี้ผมจะไม่โทษใครผิดใครถูก อยากให้คนไทยทั้งหมดช่วยเหลือกัน สังคมมันสวยงามมาก" ธีรภัทร์ กล่าว 

จากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ 

ธีรภัทร์ กล่าวว่า ในอดีตเคยได้รับการช่วยเหลือจากบุคคล 3 ท่าน ประกอบด้วย 'ลุงเปี๊ยก' เจ้าของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ให้เงินทุนการศึกษา เมื่อครั้งเรียนจบใหม่ๆ ซึ่งขณะนั้นมีโรคประจำตัว ได้เงินจำนวนมากไปรักษาไต ทำให้หายกลับมาเป็นปกติ จนเมื่อขอไปศึกษาต่อ ลุงเปี๊ยกยังให้ทุนการศึกษาอีก ทำให้เป็นพื้นฐานในการทำงานในวันนี้ คนที่สอง คือ 'จิมมี่ ชวาลา' เคยมอบเงินให้ในช่วงที่ไม่ได้มีฐานะมากมายนัก เพื่อเอาไปทำประโยชน์กับสังคมต่อไป และคนสุดท้ายคือ 'พี่ตี๋' แม้จะไม่ได้ให้การช่วยเหลือเป็นตัวเงิน แต่ได้มอบแนวคิดในการทำงาน และแนวคิดในการให้รถตู้ครั้งนี้ 

"ผมเคยได้รับการช่วยเหลือแบบนี้มา เลยรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสผมจะไม่หยุดคิดเลย จะช่วยทันที ตามกำลังที่ผมมีสุดความสามารถ ทั้งคุณจิมมี่และคุณเปี๊ยก เคยบอกว่าเหมือนเรามีถังน้ำมันที่เก็บไว้หลังรถและวันนี้เอาถังน้ำมันออกมาเติมให้ วันหนึ่งถ้าเห็นใครข้างทางต้องการความช่วยเหลือ อย่าลังเลที่จะเอาถังน้ำมันถังนี้ไปมอบให้กับคนอื่นต่อ ผมเลยรู้สึกว่า มันคงถึงเวลาต้องทำอะไรบางอย่าง ผมไม่ใช่คนรวยที่สุดของประเทศนี้ เป็นแค่เอสเอ็มอีขนาดเล็กคนหนึ่งที่ทนดูวิกฤตนี้ไม่ได้" ธีรภัทร์ กล่าว 

ให้นโยบายพนักงานติดโควิด-19 นอน รพ.สนาม

ธีรภัทร์ กล่าวว่า เดิมเรียนจบดุริยางค์ทหารบกและเรียนต่อด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานเป็นวาทยากร ในวงออร์เคสตราระยะหนึ่ง จากนั้นคิดอยากทำธุรกิจ จึงเรียนต่อปริญญาต่ออีกสองใบและปริญญาโท ปรึกษากับเพื่อนจนมาทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เพื่อจัดจำหน่าย จนเมื่อธุรกิจขยายตัวมาเรื่อยๆ ก็ได้นำเงินส่วนหนึ่งไปพยุงบริษัทเฟอนิเจอร์ที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เพราะคิดว่าถ้าเลิกกิจการไป พนักงานเหล่านี้มีความถนัดเฉพาะด้าน คงหางานใหม่ยาก ส่วนพนักงานบริษัทตนเองให้นโยบายกับฝ่ายบุคคลว่า จะไม่มีการหักเงินเดือน ขอให้มั่นใจทำงานต่อไป 

"แต่ผมให้เงื่อนไขพนักงาน 2-3 ข้อว่า ถ้าติดโควิดจะให้นอนโรงพยาบาลสนาม จะจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนโดยไม่หัก ถ้านอนโรงพยาบาลสนามแล้วลงไปช่วยเหลือแพทย์พยาบาลหรือเป็นอาสาสมัคร ผมจะจ่ายเบี้ยขยันให้เพิ่ม ในช่วงวิกฤต ผมรู้สึกว่าบุคลากรทางการแพทย์หนักแล้ว วันนี้คุณได้มีโอกาสเข้าไปตรงนั้น คุณต้องไปช่วยสังคมที่ตรงนั้นให้ได้ รวมถึงผมเองถ้าติดโควิดวันนี้จะไม่นอนโรงพยาบาลเอกชน ผมจะนอนโรงพยาบาลสนาม และจะไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์อย่างทันทีไม่ลังเล" ธีรภัทร์ กล่าว  

ธีรภัทร์ บอกเพิ่มเติมด้วยว่า ที่มีแนวคิดสวนทางกับคนอื่น เหตุผลคือ เราไม่รู้ว่าเราจะติดวันไหน เรามีครอบครัวมีญาติหลายคน แต่ไม่รู้บังเอิญว่าญาติเราจะไปอยู่โรงพยาบาลสนามไหนหรือไม่ แต่ถ้ามีคนหนึ่งคนไปช่วยเหลือญาติเรา เราจะรู้สึกอย่างไร เราก็คงรู้สึกดีที่มีคนไปช่วยเหลือญาติหรือคนในครอบครัวของเรา แต่วันนี้ถ้าเราป่วย แต่อาการไม่หนัก เชื่อว่าจะมีประโยชน์กับคนหลายๆ คน ต้องไม่สร้างภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง 

"ผมเชื่อว่าเวลาผ่านไป ชุดไอเดียเหล่านี้ หลายท่านจะปรากฎมากขึ้นว่ามีคนอยากช่วยเหลือสังคมจริง ซึ่งชุดความคิดเหล่านี้ ที่ได้มาจากคนที่ทำงานจริง" ธีรภัทร์ กล่าว  

ประคองธุรกิจให้อยู่ได้ในวิกฤต-ดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัว

ธีรภัทร์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณพนักงาน วันนี้เราอยู่เป็นครอบครัว เติบโตพร้อมพวกเขา เขาเห็นรอยรั่วอะไรที่ประหยัดได้เขาจะเริ่มประหยัด

"ตอนนี้มีไข่ มีข้าวหุงให้น้องกินได้ตลอดเวลา มีหน้ากากอนามัยแจกให้พนักงานอย่างเพียงพอ และให้หยิบกลับไปให้คนที่บ้านด้วย"

"ถ้าวันนี้ไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้อย่างดี อย่าหวังว่าผมจะดูแลคนที่ไกลออกไปได้ดีเลย พนักงานของผมคือคนในครอบครัวผม ผมเชื่อว่าถ้าผมดูแลครอบครัวดี เขาจะทำโดยที่ไม่ร้องขอ ปัจจุบันมีลูกน้องประมาณ 60 คน ผมคุยกับน้องๆ ว่า เงินเดือนที่หลืออยู่จ่ายได้สามเดือน แต่ผมมีเงินเก็บของผมอยู่ ยินดีจ่ายให้พนักงานตอนนี้ ขอให้มั่นใจ ในฐานะผู้บริหารจะหาเงินมาเติม เพราะเป็นหน้าที่ ส่วนพนักงานก็ทำหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง" ธีรภัทร์ กล่าว 

อัดฉีดเม็ดเงิน-หยุดจ่ายภาษี-พักชำระดอกเบี้ย ทางออกช่วยเอสเอ็มอี 

ธีรภัทร์ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจในภาวะวิกฤตนี้ ถ้าพูดแบบเร็วสุดคืออัดฉีดเม็ดเงินมาช่วยเอสเอ็มอี และงดการจ่ายภาษี ต่อมาน่าจะเป็นการพักชำระหนี้ เพราะมาตรการที่ผ่านมาแม้บอกจะพักหนี้ แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้พักดอกเบี้ย เท่ากับดอกเบี้ยยังคงไหลไป สุดท้ายระยะดอกเบี้ยยืดออกไป เท่ากับไม่ได้พักจริงๆ อยากขออุตสาหกรรมทางการเงินที่ปล่อยเงินกู้ให้ช่วยเหลือ ถ้าวันนี้เอสเอ็มอีตาย ระบบเศรษฐกิจจะตายทั้งประเทศ จะตายเป็นลูกโซ่ทั้งหมด

"แต่วันนี้ถ้าระบบสาธารณะสุขของเราแข็งแรงจริง ๆ ผมเชื่อว่า เมดิคัลฮับจะโต เพราะตอนนี้เทรนด์ของโลกเป็นเรื่องของการรักษา การเยียวยา อายุคนจะยาวขึ้น ถ้าประเทศไทยเป็นฮับการรักษาที่ดี ระบบสาธารณสุขที่ดี การท่องเที่ยวเชิงการรักษาจะเข้ามา และนักท่องเที่ยวเชิงการรักษาจะเป็นคนที่มีเงินมหาศาล เป็นคนรวยที่จะบินเข้ามาพร้อมเม็ดเงินขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลต้องปลดล็อกขั้นตอนให้ขอวีซ่าได้ง่ายขึ้น แล้วเปิดโอกาสให้เม็ดเงินเข้ามาให้กับสตาร์ทอัปอย่างเร่งด่วน ดึงเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเพื่อช่วยผลักดัน ให้พื้นที่ช่วยคิดช่วยทำ ลองฟังนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าเงินเข้ารัฐบาล เงินอัดฉีดเข้ารากหญ้า" ธีรภัทร์ กล่าว 

ธีรภัทร์ บอกด้วยว่า กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าวันนี้รู้สึกว่าหมดกำลังใจ ขอให้หันไปบอกคนข้างหลังคุณว่า ชีวิตเรากำลังจะดีขึ้น เราจะผ่านมันไปได้ แล้วคุณจะมีกำลังใจว่าคุณจะดูแลเขาให้ได้ดี เริ่มจากคนใกล้ตัว ดูแลเขาไปบอกรักเขา มันเริ่มต้นได้