สรุป
- สิทธิที่จะได้รับการประกันตัวเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะทำให้เสรีภาพในชีวิตและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นจริงได้
- การควบคุมตัวก่อนการตัดสินโทษ กลายเป็นหลักทั่วไปของคดี 112 ซึ่งผิดหลักสากล
- การปฏิเสธการประกันตัวทำได้ในกรณีที่คนนั้นอาจหลบหนี ยุ่งเหยิงกับหลักฐาน หรือเป็นอันตรายต่อคนอื่น แต่การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไม่ทำอันตรายต่อร่างกายกับชีวิต
- คดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในต่างประเทศมีการปฏิบัติต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเมือง ความเป็นประชาธิปไตยและสถานะสิทธิมนุษยชนของประเทศนั้นๆ
การยื่นขอประกันตัวของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะมีการอดอาหารประท้วงการพิจารณาขอประกันตัวมามากกว่า 1 เดือนแล้ว โดยมีการอ้างถึงความผิดร้ายแรงของคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ดิ โอเพนเนอร์ ได้ชวน 'เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว' อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล มาพูดคุยเรื่องการประกันตัวในมุมมองสิทธิมนุษยชน รวมถึงเปรียบเทียบหลักการสากลกับกระบวนการพิจารณาของศาลไทยว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อาจารย์เบญจรัตน์อธิบายการประกันตัวเป็นสิทธิมนุยชนสากลอย่างชัดเจน การประกันตัวนั้นเกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชนใน 2 เรื่องหลัก นั่นคือ 1. เสรีภาพในชีวิต หรือสิทธิในการมีเสรีภาพ 2. สิทธิในการได้รับกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยทั้ง 2 เรื่องนี้อยู่ในกติกาว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นภาคีอยู่ด้วย
“ข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เขาพูดถึงเรื่องว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย แล้วถ้าจะมีการจับกุมก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย และถ้าถูกจับกุมก็ต้องนำตัวไปที่ศาลหรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจโดยทันที”
“แต่ที่คิดว่าเป็นคำที่น่าสนใจอันนึง คือในวรรค 3 ของข้อ 9 ในตัวกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองพูดเอาไว้ว่า พูดถึงกรณีที่คนถูกจับในข้อหาทางอาญา ‘มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมผู้รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัว อาจมีการกำหนดว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี’ หมายความว่าอะไร? หมายความว่า หลักทั่วไป ก่อนที่จะจับกุมตัวไปควบคุมตัวเอาไว้ก่อนการพิจารณาคดี มันไม่ได้เป็นหลักทั่วไป หลักทั่วไปคือให้ปล่อยตัว ก่อนที่จะการพิจารณาโดยที่อาจจะมีการกำหนดเงื่อนไข กำหนดหลักประกันก็ได้ เพื่อให้คนนั้นมาสู่การพิจารณาคดี”
ส่วนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ซึ่งจะอยู่ในหลายขั้นตอนตั้งแต่ถูกจับกุมตัว กระบวนการก่อนการพิจารณาคดี ระหว่างพิจารณาคดี โดยแก่นสำคัญอยู่ที่เรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
“ถ้ามันไม่มีหลักการ คิดไว้ว่าการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด มันก็จะมีผลสืบเนื่องต่อเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอย่างต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ที่จะไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น สิทธิที่จะได้รับการประกันตัวเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะทำให้เสรีภาพในชีวิตและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมันเป็นจริงได้”
ควบคุมตัวก่อนตัดสินกลายเป็นหลักทั่วไปของคดี 112
หลักการพื้นฐานในการพิจารณาให้สิทธิประกันตัวมีเพียงไม่มีเรื่อง ได้แก่ หากออกไปแล้ว จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น จะไม่หลบหนีการพิจารณาคดี และจะไม่ทำลายหรือยุ่งเหยิงกับหลักฐาน ซึ่งเป็นหลักการที่คล้ายกันทั้งในสากลและในประเทศไทยเอง แต่อาจารย์เบญจรัตน์มองว่าสิ่งที่ทำให้แตกต่างไปก็คือ แนวคิดของไทยที่แตกต่างจากสากล
“คิดว่าจุดที่ต่างกันก็คือว่า ในหลักวิธีคิดทางสิทธิมนุษยชนเนี่ย หลักใหญ่คือเรื่องเสรีภาพ การกักขัง การควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้น” อาจารย์เบญจรัตน์ย้ำอีกครั้งว่า “ต้องเป็นข้อยกเว้น” แต่สำหรับระบบกฎหมายไทยแล้ว “เข้าใจว่าเรายังไม่ได้มีหลักนี้เป็นแก่นหลักในกระบวนการยุติธรรม”
ก่อนหน้านี้ พงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมชี้แจงว่า อัตราการให้สิทธิ์การประกันตัวในไทยก็มีมากกว่า 90% ของทั้งหมด และในกรณีที่ไม่ให้ประกันตัวนั้นก็มีหลักการพิจารณาที่เป็นไปตามหลักสากล พร้อมเทียบกับกฎหมายอังกฤษที่ระบุข้อยกเว้นการให้ประกันตัว แต่อาจารย์เบญจรัตน์โดยหลักการทั่วไปนั้นเหมือนกัน แต่คดี ม.112 มีหลักปฏิบัติที่แตกต่างออกไป
“ปัญหาแรกที่เราต้องคุยกันให้ชัดเจนว่า เอ๊ะ ตกลงมีการปฏิบัติที่บังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกันกับทุกกรณีหรือเปล่า ถ้าดูเฉพาะเคส 112 ที่จะต้องถูกกักตัวอยู่ในเรือนจำโดยที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว มันก็ชัดเจนว่ามีการปฏิบัติ ใช้กฎหมายอย่างไม่เท่ากัน ก็อาจจะมีการเลือกปฏิบัติจากเรื่องความเชื่อทางกฎหมาย”
“การปฏิเสธการประกันตัวสำหรับกรณีคดี 112 เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าจำได้ คดีอากง คดีไผ่ ดาวดินที่แชร์ข่าวบีบีซี หรือคดีเจ้าสาวหมาป่า อันนั้นมันมีการยื่นขอประกันตัวหลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแล้ว แต่ยังไม่ใช่ศาลฎีกา เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่า มันเกิดขึ้นค่อนข้างเป็นรูปแบบ แบบแผนสำหรับคดี 112”
“เราก็จะเห็นได้ว่า การตัดสินของศาลไทย โดยเฉพาะการให้เหตุผลว่า กลัวว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ โดยที่ยังไม่มีการตัดสินเลยด้วยซ้ำ เคสของเราตอนนี้ที่เราพูดถึงอยู่เป็นก่อนการพิจารณาคดีด้วยซ้ำนะคะ การกักขังตัวก่อนการพิจารณาคดี ซึ่งบอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามันต้องเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่หลักทั่วไป ตอนนี้มันกลายเป็นหลักทั่วไปสำหรับคดี 112 แล้วก็บอกว่าจะทำความผิดซ้ำ ก็ไปขัดกับหลักสากลอีกที่พูดถึงเรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่ไปบอกว่า เดี๋ยวเขาจะไปทำความผิดซ้ำอีก โดยที่เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาทำความผิดหรือเปล่า นี่ก็เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการแน่ๆ”
การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตใคร
การปฏิเสธการประกันตัวในคดี 112 มักจะมีคำอธิบายว่า เกรงว่าจะมีการกระทำซ้ำ หรือมีการตีความว่าคดีนี้ร้ายแรงจึงไม่สามารถประกันตัวออกมาได้ แต่ อ.เบญจรัตน์ได้ฉายภาพให้เห็นว่า “คดีร้ายแรง” ของไทยนั้นมีความแตกต่างจากสากล
“คำว่าร้ายแรง มันจะต้องเห็นชัด เห็นได้ว่า คาดการณ์ได้ว่า เขาออกไปแล้วจะไปเป็นอันตรายต่อคนอื่น ส่วนใหญ่เท่าที่ดูนะคะ มันจะเป็นคดีที่มีความรุนแรงมากๆ ฆาตกรรม อาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือการก่อการร้าย ที่มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าเขาได้รับการประกันตัวแล้วก็จะออกไปอันตรายกับคนอื่น หรืออย่างกรณีกฎหมายการประกันตัวของอังกฤษที่ได้มีการยกไปอ้างอิงถึงเนี่ย เขาก็จะปฏิเสธเฉพาะกรณีที่ผู้ต้องหาเคยถูกพิพากษาความผิดนั้นมาก่อนแล้ว คือเคยทำผิดเรื่องนั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น มันมีแนวโน้มว่า เขาจะทำผิดคดีนั้นได้อีก”
“ถามว่า 112 เป็นอันตรายต่อใคร การที่ออกไปพูดหรืออาจจะตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์เนี่ย เป็นอันตรายต่อใคร เป็นอันตรายต่อชีวิตคนอื่นอย่างไร”
“อันนี้มันเป็นประเด็นเรื่องความคิดของรัฐไทยอย่างมากนะว่าอะไรคือความมั่นคงของชาติ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ การตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์หรือรัฐบาล คุณนิยามว่าเป็นความมั่นคงของชาติ นิยามความเป็นชาติเอาไว้แบบจำกัดว่า ความเป็นชาติในแบบรัฐไทยเนี่ย มันไม่ได้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มองว่า นี่คือความเป็นชาติ เพราะฉะนั้น ตั้งคำถามไม่ได้ และกลายเป็นภัยอันตรายที่จะต้องไปจับเอาไว้ในเรือนจำ ซึ่งมันก็จะไม่ได้เป็นหลักทั่วไป”
“มันจึงไปโยงกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งก็เป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากลว่า จริงๆ แล้วเราควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงอะไรที่มันกระทบกับชีวิต เนื้อตัวร่างกาย หรือว่าการเมืองของเรานะคะ จะเห็นได้ว่ามันมีหลายชั้นมากเลยที่มันมีการซ้อนทับของการละเมิดหรือการผิดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลอยู่ในกรณีที่มีการปฏิเสธไม่ให้มีการประกันน่ะค่ะ”
มองคดีที่ “กระทบความมั่นคง” ในต่างประเทศ
คดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ของไทยเป็นคดีที่หากฎหมายในต่างประเทศมาเทียบเคียงได้ค่อนข้างยาก หากจะดูวิธีปฏิบัติต่อคนที่ถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติในต่างประเทศก็อาจต้องดูข้อหายุยงปลุกปั่นแทน อ.เบญจรัตน์ กล่าวการปฏิบัติต่อคดีเหล่านี้นั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับสภาพการเมืองของประเทศนั้นๆ
“พยายามหาเคสของประเทศอื่นๆ เหมือนกันนะคะ ที่ถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นจะมีสิทธิ์ขอประกันตัวได้ไหม จริงๆ ว่าก็พบในบางประเทศมีการกำหนดเอาไว้ว่าปรับก็ได้แล้ว จ่ายค่าปรับก็จบไปนะคะ แล้วก็ไม่ได้ต้องติดคุกด้วยซ้ำไป บางประเทศก็อาจจะมีโทษจำคุก แล้วก็มีการถกเถียงกันว่า สามารถที่จะปล่อยได้ไหม แต่เราก็จะพบว่าจริงๆ แล้วคดีอย่างการยุยงปลุกปั่นเป็นคดีทางการเมือง มันก็ขึ้นอยู่กับการเมืองนั้นค่ะ”
“มาเลเซียก็มีการไปตั้งข้อหาเรื่องยุยงปลุกปั่นกับนักเคลื่อนไหวกับนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่หลายคนเหมือนกัน แต่ก็เห็นว่าหลายคนที่รู้จักว่าเขาโดน เขาก็ยังได้รับการประกันตัว โดนตั้งข้อหาแล้วก็ได้รับการประกันตัวแล้วก็ยังออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ ถ้าเป็นช่วงที่มีภาวะที่มีการกดดันเยอะ คดีก็อาจจะถูกยกฟ้องไป อันนี้มันขึ้นอยู่กับภาวะการกดดันในช่วงนั้นด้วย คนที่ถูกจำคุกอยู่บ้างเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับแรงที่ทางทางการเมืองในตอนนั้นด้วย”
“อันนี้มันเลยไม่ได้เป็นเรื่องมาตรฐานกฎหมายอย่างเดียว แล้วมีความเป็นการเมืองและความเป็นประชาธิปไตยเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมากหรือเป็นประเทศที่มีการเคารพสิทธิมนุษยชน คดีเหล่านี้ก็อาจจะไม่ค่อยเกิด หรือถ้าเกิดมันก็จะน้อยมาก หรือกระทั่งประเทศที่ประชาธิปไตยแบบกึ่งๆ ก็จะพบว่าคดียุยงปลุกปั่นจะเอาไว้สำหรับคดีที่ค่อนข้างรุนแรง รัฐรู้สึกว่าเป็นภัยมากๆ แต่ตอนนี้เหมือนกับเราโดนกันเยอะมากในกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมนะคะ ก็เลยเป็นเรื่องที่ลักลั่นมากๆ”
“เวลาที่โดนคดียุยงปลุกปั่นมันดูเป็นเรื่องที่แรงมาก เราก็จะเห็นได้ว่ามันมีการรณรงค์ในหลายประเทศที่จะให้มีการปล่อยตัวคนที่โดนข้อหายุยงปลุกปั่น เพราะถือว่าเป็นการใช้มาตรการที่ค่อนข้างรุนแรงในรัฐที่จะปิดปากคนที่เห็นต่างนั่นเองนะคะ แต่ว่าอย่างในประเทศไทยเราก็เห็นว่ามันมีการใช้เครื่องมือหลายตัวกฎหมาย 112 เนี่ยถูกเอามาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการที่จะปิดปากอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องไปถึงขั้น 116 ที่เป็นข้อหายุยงปลุกปั่นอาจจะใช้ 112 หรือในช่วงหลังมีมาตรา 110 เข้ามาดำเนินคดีทางการเมืองกับคนทั่วไป”
“คดี 112 ส่วนใหญ่มีโทษที่ค่อนข้างแรงมาก แล้วก็โทษหลายครั้งมันไม่ได้สมสัดส่วนกับการกระทำผิดพูดถึงเคสของไผ่ดาวดินที่คลิกไลก์และแชร์หน้าเพจของบีบีซี โดนจำคุกถ้าจำไม่ผิด 5-6 ปี แล้วก็ได้รับการลดโทษครึ่งหนึ่ง เพราะว่าได้รับสารภาพ คิดดูว่าความสูงสัดส่วนของโทษของข้อกล่าวหากับการกระทำผิดมันไม่ได้สัดส่วนกันเลย ดูถึงเรื่องการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในรายละเอียดเคสที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามันมีการเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้นกว่ามีการเพียงตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น แล้วก็อาจจะถูกตั้งข้อหาถูกไปรายงานตัว แล้วก็ถูกประกันตัวออกมาอย่างในบางประเทศ”