Skip to main content

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เเสดงความคิดเห็นหลังจากพริษฐ์ ชีวารักษ์ (เพนกวิน) เเละปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) ผู้ต้องหาตามคดีมาตรา 112 อดหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวเพื่อสู้คดี โดยเทียบเคียงคดีอากง ผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ที่ได้ถูกคุมขังจนถึงแก่ความตายในเรือนจำโดยไม่มีสิทธิออกมาสู้คดี เพื่อทวงความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อตัวเองว่า ขณะนี้บ้านเมืองเรา มีประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกจองจำระหว่างดำเนินคดี จากเหตุของการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งรวมถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างน้อย 20 คน

ทุกคนในจำนวนนี้ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ต่อหน้ากฎหมาย เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการสู้คดี ยังไม่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุด และมี 3 คนที่กำลังทรมานตัวเองด้วยการอดอาหาร ที่นานที่สุดก็ถึง 36 วันแล้ว เพื่อให้ความเจ็บปวดของพวกเขาส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ว่า สิทธิในการประกันตัวที่พวกเขาพึงมีได้ถูกล่วงละเมิด กระบวนการยุติธรรมหาได้ยุติธรรมอย่างที่กล่าวอ้างใช่หรือไม่

"น่าอนาถใจที่จนวันนี้ บรรดาผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งไม่ใช่ใครนอกจากศาล ยังคงปิดหูไม่รับฟัง ไม่รู้สึกรู้สา ปล่อยให้ชะตากรรมของคนเหล่านี้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปสู่ปลายทางที่สังคมเริ่มมองเห็นใกล้เข้ามาเรื่อยๆ นั่นคือความตาย จากกรณี คุณอำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ ถูกอัยการฟ้องคดีมาตรา 112 จากข้อกล่าวหาว่าเขาส่ง SMS ข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ไปหาเลขานุการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว แม้จะไม่เห็นความเป็นไปได้เลยที่ชายชราธรรมดาคนนี้จะหนีคดีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายอื่นๆ และในเวลานั้นจำเลยก็มีโรคประจำตัวคือมะเร็ง สมควรได้รับการรักษาและเฝ้าระวังอาการเป็นอย่างดี นับแต่วันฟ้องคดี 18 มกราคม 2554 จนถึงวันที่ขอถอนอุทธรณ์คดี 3 เมษายน 2555 รวมเวลา 1 ปี 2 เดือน 17 วัน มีการยื่นขอประกันตัว 4 ครั้ง ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว 3 ครั้ง ยื่นฎีกาคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 1 ครั้ง แต่ศาลไม่เคยคืนสิทธิในการประกันตัวกลับมาเลย จนในอีก 1 เดือนต่อมา อากงอำพลก็เสียชีวิตลงในเรือนจำ" รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ ยังตั้งคำถามว่าประเทศชาติได้อะไรจากกรณีนี้บ้าง กระบวนการยุติธรรมได้รับความเชื่อถือมากขึ้นหรือไม่ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนมากขึ้นหรือไม่ ก็ไม่เลย พระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์และกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับยิ่งถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงจากสังคมไปทุกสารทิศ จากคนที่ไม่เคยทราบไม่เคยสนใจ ก็เริ่มหันมามองเรื่องดังกล่าว และเกิดคำถามขึ้นเป็นวงกว้าง

แล้วการใช้มาตรา 112 และการไม่ให้การประกันตัวครั้งนั้น ก็นำมาสู่การทำให้สถาบันอันควรเป็นศูนย์รวมจิตใจ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมสั่นคลอนอย่างไม่เคยมีมาก่อน  เเละกลับมาที่คำถามเดียวกัน การไม่ให้จำเลยคดีการเมือง จำเลยมาตรา 112 ประกันตัวออกมาสู้คดีตามสิทธิที่ประชาชนไทยพึงมี ประเทศชาติต้องแลกกับอะไรไปบ้าง

กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามหนักกว่าเดิมเรื่องการถูกแทรกแซง กระบวนการจำกัดการติดต่อระหว่างผู้ต้องหา ทนาย และครอบครัว จนถูกจับตาเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ ไปจนถึงว่าขณะนี้ เพนกวิน รุ้ง ฟ้า อดอาหารมาเป็นเวลานานมากพอที่จะเสียชีวิตลงเมื่อไรก็ได้ เพียงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว สมมติว่าผู้ที่ถูกจองจำเหล่านี้อดอาหารจนเสียชีวิตคาคุกไป มลทินของกระบวนการคัดค้านการประกันตัวของกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้จะหนักหนากว่ากรณีของอากงมากขนาดไหน อย่าลืมว่ากรณีนี้สังคมกำลังจับตาดูอยู่ มีบรรดาครอบครัวและผู้ห่วงใยไปทำกิจกรรมหน้าศาลทุกวันติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

"ตอนนี้ยังไม่สาย ที่จะพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่างๆว่า หากการธำรงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องยึดหลักการที่ว่าทุกคนคือผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินถึงที่สุด และความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม" รังสิมันต์ ระบุ 

ขณะที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนเพื่อเรียกร้องต่อความยุติธรรมให้แก่ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เช่นเดียวกัน อมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรคนหนึ่งขอเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจและมีสิทธิพิเศษที่จะใช้ดุลยพินิจคดีมาตรา 112 ดังนี้ ขอให้ลงโทษการกระทำของคน มิใช่ลงโทษความคิดของคน กฎหมายอาญาเป็นกฏหมายที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยตรง การใช้ดุลยพินิจต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเฉพาะกรณี หรือเฉพาะบุคคลด้วย 

การใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษต้องไม่เป็นไปตามทฤษฎีแก้แค้น หรือทฤษฎีข่มขู่ยับยั้งการใช้เสรีภาพ และการใช้ดุลยพินิจเป็นอำนาจและเป็นสิทธิพิเศษของศาล เกี่ยวข้องกับการใช้วิจารณญาณส่วนตนของผู้พิพากษา การลงโทษนั้นมีประโยชน์และจำเป็นแต่ต้องมิใช่การลงโทษความคิดของคน

"ขอเรียกร้องการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาที่เพียงแต่โดนกล่าวหา คดีของพวกเขายังไม่เข้าสู้ขั้นตอนสืบพยานปากแรกเลยด้วยซ้ำ วันที่พวกเขาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่นักโทษ กักขังพวกเขาไว้ทำไม"  อมรัตน์ กล่าว 

ขณะที่ทวิตเตอร์ส่วนตัวของ เบญจา เเสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความเรียกร้องให้คืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 โดยระบุว่า ให้เขามีชีวิตอยู่เพื่อได้เห็นดอกผลของความเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นเราถากถางเอาไว้และส่งไม้ต่อให้คนรุ่นเขาได้สร้างอนาคตที่ดีของเขาเอง  เพนกวิน-รุ้ง คุณจงมีชีวิตอยู่เพื่อรอดูการเปลี่ยนแปลง เวลาเดินไปข้างหน้า เมื่อวันนั้นมาถึง เวลาจะอยู่ข้างเรา