Skip to main content

สรุป

  • ผู้แทนประเทศสหภาพยุโรป (EU) ฟ้อง 'แอสตราเซเนกา' (AZ) จัดส่งวัคซีนโควิดล่าช้า ทั้งยังปรับลดจำนวนโดสที่ต้องจัดส่งในเดือน ม.ค. จากเดิม 80 ล้าน เหลือ 30 ล้าน
  • แอสตราเซเนกาโต้กลับอียู ยืนยัน "ทำตามเงื่อนไขทุกประการ" พร้อมย้ำว่าจะสู้ในกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
  • วัคซีนแอสตราเซเนกาที่จัดส่งล่าช้า ทำให้รัฐบาลอียูหลายแห่งถูกโจมตีเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19
  • ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศว่าจะกระจายวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ประเทศที่ต้องการทั่วโลก หลังจากโรงงานในสหรัฐฯ ผลิตวัคซีน AZ ได้กว่า 60 ล้านโดส แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังไม่ได้รับรองการใช้วัคซีนตัวนี้ก็ตาม

คณะกรรมาธิการยุโรป ยื่นฟ้อง 'แอสตราเซเนกา' บริษัทยาร่วมทุนอังกฤษ-สวีเดน และผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 รายใหญ่ เนื่องจากแอสตราเซเนกาไม่จัดส่งวัคซีนโควิดให้กับประเทศสหภาพยุโรป (EU) ตามกำหนด ส่งผลกระทบต่อแผนการกระจายวัคซีนให้แก่ประชากรในยุโรป และโฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปรายหนึ่งให้ข้อมูลกับ BBC ว่าสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศต่างก็สนับสนุนการฟ้องร้องครั้งนี้ 

บีบีซีรายงานเพิ่มเติมว่าเมื่อเดือน ส.ค.2563 แอสตราเซเนกาและคณะกรรมาธิการยุโรปได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่เป็นการร่วมผลิตระหว่างออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา จำนวน 300 ล้านโดส แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แอสตราเซเนกาแจ้งว่าวัคซีนที่จะจัดส่งให้อียูต้องลดจำนวนลง เพราะประสบปัญหาด้านการผลิต มีผลให้วัคซีนที่ควรจะส่งถึง EU ทั้งหมด 80 ล้านโดสในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดเหลือ 30 ล้านโดส

ส่วนวัคซีนที่แอสตราเซเนกาต้องจัดส่งให้อียูในไตรมาสที่สองของปีนี้ จะอยู่ที่ 70 ล้านโดส แทนที่จะเป็น 180 ล้านโดสตามที่เคยตกลงกันไว้แต่แรก 

ขณะที่ 'สเตลลา คีเรียคีดีส' กรรมาธิการด้านสุขภาพยุโรป ย้ำกับบีบีซีว่า หน้าที่ของคณะกรรมาธิการยุโรปคือการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิดไปกระจายให้กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชน พร้อมระบุว่า วัคซีนทุกโดสมีค่า วัคซีนทุกโดสช่วยชีวิตคนได้ แต่การไม่จัดส่งวัคซีนให้ได้ตามกำหนดถือเป็นการไม่เคารพต่อเงื่อนไขข้อตกลง

แอสตราเซเนกาแถลงโต้อียู "พร้อมสู้คดี" 

ภายหลังมีข่าวฟ้องร้อง บริษัทแอสตราเซเนกาได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง โดยย้ำว่าเงื่อนไขในสัญญาระหว่างบริษัทและคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศอียู ไม่ได้ระบุกรอบเวลาไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องจัดส่งวัคซีนในเดือนใด แต่มีการระบุไว้ว่า แอสตราเซเนกา "จะพยายามอย่างดีที่สุด" เพื่อจัดส่งวัคซีนให้ได้ตามความต้องการของอียู

แอสตราเซเนกากล่าวว่า ปีที่ผ่านมา บริษัทต้องค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งต้องเจรจาต่อรองในประเด็นที่ซับซ้อนยุ่งยาก และเจอความท้าทายในกระบวนการผลิต แต่ยังสามารถจัดส่งวัคซีน 50 ล้านโดสให้กับประเทศอียูได้ภายในสิ้นเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งไม่ได้ผิดไปจากเงื่อนไขในสัญญา พร้อมย้ำว่า วงจรการผลิตวัคซีนต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งปัจจัยทั้งสองประการย่อมส่งผลให้การผลิตวัคซีนจนเสร็จสิ้นต้องใช้เวลามากขึ้น

"การฟ้องร้องครั้งนี้ไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด" แถลงการณ์ของแอสตราของเซเนกากล่าวถึงการตัดสินใจฟ้องร้องของคณะกรรมาธิการยุโรป พร้อมย้ำว่า บริษัทจะต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมาย 

ขณะเดียวกัน The New York Times รายงานว่า ข้อพิพาทระหว่างแอสตราเซเนกาและอียูเริ่มเห็นชัดเจนในเดือน ม.ค.2564 ซึ่งแอสตราเซเนกาแจ้งขอปรับลดจำนวนวัคซีนที่จะจัดส่งให้กับประเทศปลายทาง ทำให้ผู้นำรัฐบาลแถบอียูถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนโควิดมาให้แก่ประชาชนได้ตามที่เคยประกาศเอาไว้  

ที่ผ่านมา แอสตราเซเนกาจัดส่งวัคซีนโควิดให้กับ 135 ประเทศทั่วโลก แต่การฟ้องร้องจากประเทศยุโรปจะทำให้บริษัทประสบความยากลำบากเพิ่มขึ้น จากเดิมที่พบปัญหาวัคซีนมีผลข้างเคียงเกี่ยวกับลิ่มเลือด ทำให้ประเทศแถบยุโรปบางแห่งประกาศระงับการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาชั่วคราว

สหรัฐฯ มีวัคซีน AZ กว่า 60 ล้านโดส พร้อมกระจายให้ทั่วโลก

ขณะที่ยุโรปกำลังรอวัคซีนของแอสตราเซเนกา 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็แถลงว่ารัฐบาลของตนจะกระจายวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในสหรัฐฯ ราว 60 ล้านโดสให้เแก่ประเทศที่จำเป็นต้องใช้ทั่วโลก โดยสหรัฐฯ จะดำเนินการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของวัคซีนให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มส่งไปยังประเทศปลายทางที่ต้องการ โดยจะใช้เวลาไม่กี่เดือนต่อจากนี้ 

'แอนโทนี ซูร์เชอร์' ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำอเมริกาเหนือ วิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากักตุนวัคซีนเอาไว้เกินความจำเป็นต้องใช้ แต่ตอนนี้สหรัฐฯ กำลังเริ่มนโยบายวัคซีนทางการทูตอย่างจริงจัง และได้ส่งวัคซีนโควิดไปให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกและแคนาดาไปแล้ว ส่วนประเทศที่สหรัฐฯ จะช่วยเหลือด้านวัคซีนเป็นอันดับต่อไปคืออินเดีย ที่กำลังเจอโควิดแพร่ระบาดรุนแรงระลอกใหม่ 

นอกจากนี้ เดอะนิวยอร์กไทม์สยังรายงานตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า โรงงานผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในเมืองเวสต์เชสเตอร์ มลรัฐโอไฮโอของสหรัฐฯ ผลิตวัคซีนได้แล้วกว่า 30 ล้านโดส ขณะที่โรงงานผลิตอีกแห่งในแมรี่แลนด์ก็เตรียมผลิตวัคซีนเพิ่มอีกหลายสิบล้านโดส ขั้นตอนที่เหลือคือการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานอาหารและยา (FDA)

ที่ผ่านมา FDA ของสหรัฐฯ ได้รับรองการใช้งานวัคซีนโควิดไปแล้ว 3 ตัว ได้แก่ วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่ยังไม่ได้รับรองวัคซีนของแอสตราเซเนกา ขณะที่ 70 กว่าประเทศทั่วโลก ประกาศรับรองแอสตราเซเนกาแล้ว รวมถึงประเทศไทย