Skip to main content

“เราอยากจะให้คนจดจำใบหน้า ลักษณะ แววตาของคนที่เป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์และสร้างนวัตกรรม” ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือและนิทรรศการ 'ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม'

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า NIA ต้องการสื่อสารสาธารณะที่พูดถึง 'นวัตกร' หรือบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจทางนวัตกรรม และเป็นที่มาของหนังสือ 'ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม' เล่มที่ 3 ในงานนี้

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า นวัตกร หรือผู้สร้างนวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเสมอไป คนที่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นปัญหาให้ดีขึ้น ด้วยแนวคิด ไอเดียที่คนอื่นๆ ยอมรับ และนำมาใช้ก็ถือว่าเป็นนวัตกร

ผอ.NIA กล่าวด้วยว่า หนังสือ 100 ใบหน้า เล่มที่ 3 เป็นที่ภาคภูมิใจมากขององค์กรอย่างมาก เพราะได้รับการติดต่อจากห้องสมุดสภาคองเกรสของสหรัฐ ให้ส่งหนังสื่อไปไว้ในห้องสมุดสภาคองเกรสที่วอชิงตัน ดีซี

ส่วนธีมของหนังสือเล่มนี้ คือ sustainable innovation ซึ่ง NIA ให้ความสำคัญกับ นวัตกรรมสังคม ซึ่งผลกำไรจากบริบทของการทำนวัตกรรมสังคม หรือกิจการเพื่อสังคม ตอบใน3 เรื่อง คือ Planet กำไรส่วนหนึ่งคือโลก สภาพแวดล้อม, People ส่วนที่สองก็คือ คน และ Profit กำไรส่วนที่สาม คือ กิจการต้องไม่ขาดทุนและอยู่รอดได้

สิ่งที่ต้องการสื่อคือ นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะเพียงแต่เรื่องเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องมาจากนักวิจัยหรืองานวิจัย นวัตกรรมมาจากใครก็ได้ในสังคมที่มองเห็นความท้าทาย มองเห็นประเด็นทางสังคม มองเห็นประเด็นทางธุรกิจ คือ change maker คือคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

เรื่องเล่าเหล่านั้น อาจสร้างแรงบันดาลใจ กลไกทางนวัตกรรมมีความหลากหลายมาก แต่ละคนที่มีลวดลายชีวิตต่างกัน

“หนังสือ 100 ใบหน้า เป้าหมายคือ อยากให้คนไทยจดจำใบหน้า จดจำคนไทยที่เป็นนวัตกรให้มากขึ้น” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

 

พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ริเริ่ม 'โครงการข้าวเพื่อหมอ' 

ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดบริการ เสียงโอดครวญผ่านทางโซเชียลมีเดียของบรรดาเจ้าของร้านอาหาร ร่วมกับการได้เห็นบุคลากรทางแพทย์แถวหน้าที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิดในช่วงยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีน ต้องทานอาหารบริจาคที่เป็นอาหารแช่แข็งเกือยทุกวัน ทำให้ 'พันชนะ วัฒนเสถียร' เจ้าของร้านอาหาร 'เป็นลาว' ที่ตั้งอยู่ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เกิดความคิดอยากระดมทุนเพื่อทำโครงการช่วยเหลือ

พันชนะเล่าถึงแนวคิดในการทำโครงการว่าเกิดจาก 3 ส่วนประกอบกัน คือ ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารให้ยังคงรักษาร้านเอาไว้ให้ได้ ทำให้เกษตรกรยังสามารถส่งวัตถุดิบมาให้ครัวของร้านทำการปรุงอาหารได้ และเพื่อทำอาหารส่งไปให้บุคลากรการแพทย์ในแนวหน้า จึงริเริ่มโครงการ 'Food for Fighters' หรือโครงการข้าวเพื่อหมอ ขึ้น

เธอได้ติดต่อขออนุญาตใช้โลโก้ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ในการรณรงค์เปิดระดมแบบคราวด์ฟันดิ้ง โดยเริ่มทำโครงการที่ รพ.ปากช่องนานา

ในการระบาดของโควิดระลอกสอง เกิดการระบาดใหญ่ที่ชุมชนคลองเตย ในฐานะศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันชนะขอใช้พื้นที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในการระดมอาสาสมัคร และทำอาหารส่งไปที่ชุมชนคลองเตยที่มีการระบาดอย่างหนัก จำนวนอาหารที่ส่งไปในชุมชนสูงสุดวันละนับหมื่นกล่อง และได้รับข้าวสารบริจาคจำนวนนับพันตัน

เธอกล่าวว่า ได้เห็นถึงพลังของอาสาสมัคร ซึ่งเป็นฟองน้ำคอยรองรับวิกฤต จึงตั้งชื่อกล่มอาสาสมัคว่า 'ใจใหญ่' ที่มาจาก 'ใจเขาใหญ่' โดยมุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร

ปัจจุบัน อาสาสมัครโครงการ 'Food for Fighters' ยังคงเหนี่ยวแน่น และมีเครือข่ายร้านอาหารทั่วประเทศนับร้อยร้าน

 

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ 'เลี้ยงลูกนอกบ้าน' เชื่อว่าเด็กจะเติบโตไปได้ดี เกิดจากการที่สังคมช่วยเลี้ยงดู

ประสบการณ์จากการศึกษาต่อต่างประเทศ ทำให้ พญ.จิราภรณ์ นำความรู้กลับมาใช้กับเด็กไทย และเมื่อเธอให้กำเนิดลูกน้อย จึงนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้กับลูก และพบว่าได้ผลที่ดีมาก

พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า เด็กไทยถูกเลี้ยงภายใต้บริบทวัฒนธรรมเชิงอำนาจ จึงทำให้อยากแบ่งปันข้อมูลการเลี้ยงลูกเชิงบวก และองค์ความรู้ในการดูแลเด็กที่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงเป็นที่มาของการเริ่มเขียนเฟซบุ๊กเพจ 'เลี้ยงลูกนอกบ้าน' นอกจากนี้ ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น จึงมีสิ่งที่อยากเล่าถึงปัญหาของกลุ่มวัยรุ่นเกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งเรื่องสุขภาพจิต การเลี้ยงดู การมาแก้ไขตอนที่เป็นวัยรุ่นแล้วนั้นทำได้ยาก จึงอยากให้พ่อแม่ลงทุนกับการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่วัยเด็ก

พญ.จิราภรณ์อธิบายถึงควายหมายของ 'เลี้ยงลูกนอกบ้าน' ว่ามี 2 นัยยะ หนึ่ง คือ การพาเด็กออกจากพื้นที่ปลอดภัย โดยเด็กจะพัฒนาตัวเองเสมอเมื่ออยู่นอกพื้นที่ปลอดภัย สอง คือ เชื่อว่าเด็กจะเติบโตไปได้ดี ต้องเกิดจากการที่สังคมช่วยกันเลี้ยงดูเด็กทุกคนในสังคม ความเชื่อส่วนตัวในการสร้างสังคมที่จะช่วยเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพร่วมกัน เป็นแรงผลักดันให้เขียนบทความเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเชิงบวกเรื่อยมา

พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า ทุกอย่างที่เขียนท้าทายต่อบริบทความเชื่อของสังคมวัฒนธรรมไทย เช่น รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หรืออย่าชมเด็กจะเหลิง ซึ่งค่านิยมหลายอย่างที่กดทับรวมถึงการเลี้ยงลูกเชิงลบ ตรงข้ามกับสิ่งวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าดี และทุกครั้งที่เขียนจะมี 'ทัวร์' ลงเสมอ ซึ่งเธอมองว่าเมื่อมีแรงเสียดทาน แสดงว่า สิ่งที่ทำนั้นกำลังไปเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง และการทำงานด้านเด็กหรือครอบครัว ทำให้รู้ว่าบริบทของสังคม ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการศึกษา ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กที่จะเติบโตมา

ในช่วงหลังการชุมนุมของม็อบเยาวชน มีเยาวชนที่โดนคดี ทำให้ได้รับฟังความคิดเห็นของวัยรุ่น และนำมาสื่อสารให้สังคมเข้าใจมุมมองของวัยรุ่นว่าคิดอะไร ทำไมต้องออกไปชุมนุม เพราะไม่มีพื้นที่ในการฟังเสียงของพวกเขาจริงๆ ทำให้ต่อมาจึงเขียนเรื่องของบริบทสังคม เรื่องโครงสร้างเพื่อให้เห็นว่า การที่เด็กวัยรุ่นจะเติบโตไปได้ดี ไม่ใช่แค่เรื่องการเลี้ยงลูก แต่รวมถึงการที่พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงลูกหรือไม่ การทำให้สังคมมีโครงสร้างสังคมที่ดีขึ้น มีระบบนิเวศที่ทำให้วัยรุ่นเติบโตไปได้ดี เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน

 

ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจ 'การตลาดวันละตอน' เล่าเรื่องการตลาดด้วยภาษาคนเดินตลาด

ณัฐพลเล่าว่า สมัยทำงานบริษัทมาร์เก็ตติ้ง มักมีการใช้คำที่เป็นศัพท์แสงยากๆ เป็นคำประดิษฐ์พิสดาร ทั้งที่ความหมายไม่ซับซ้อน เลยเกิดความคิดว่า แล้วทำไมไม่ทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปล่ะ ทำให้เริ่มต้นการเขียนแบบไม่จริงจังในสิ่งที่รู้ ความอยากแชร์เรื่องการตลาดและการโฆษณาให้กับคนที่รู้จักรอบๆ ตัว เมื่อพอผ่านไปจำนวนคนติดตามก็เพิ่มขึ้น

ณัฐพลกล่าวว่า เขาอยากเล่าเรื่องการตลาดเพื่อให้คนเดินตลาดทั่วไปเข้าใจ แม้วิธีที่แม่ค้าทักลูกค้าก็เป็นการตลาดได้ และเป็นการตลาดของคนปรกติทั่วไป และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเพจ 'การตลาดวันละตอน'

ณัฐพลเล่าว่า เมื่อเพจเติบโตถึงจุดหนึ่ง ในช่วงของการล็อกดาวน์โควิด มีโรงแรมมาชวนให้ไปทำรีวิว จึงเกิดไอเดียการทำบาร์เทอร์กับโรงแรม โดยเอาดาต้าไปแลกที่พัก และเกิดความคิดว่า แทนที่จะทำดาต้าให้เฉพาะเจ้าของโรงแรมบนเกาะเสม็ดกลุ่มเดียว จะเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการทุกรายบนเกาะเสม็ดเลยได้ไหม และเป็นที่มาของโปรเจคต์ Data inside 76 จังหวัด ด้วยความคิดที่อยากแบ่งปันให้คนอื่น โดยค่อยๆ ไล่ทำไปเดือนละจังหวัด ให้ผู้ประกอบการรายย่อย SMEได้ใช้งาน

ณัฐพลกล่าวว่า การเปลี่ยนโลกอาจเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว “เราอยากใช้ความสามารถที่มีเล็กๆ น้อยๆ ช่วยคนที่อยากทำตัวเองให้ดีขึ้น การที่คนอ่านบทความ สเตตัสของเราแล้วได้ไอเดียบางอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ”