Skip to main content

กรมวิทย์ฯ ตรวจพบสายพันธุ์ XBB.1.5 ลูกผสมของโอมิครอนสายพันธุ์ BJ.1 และ BM.1.1.1 ในไทย จำนวน 2 ราย ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่น

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ตรวจพบโควิดสายพันธุ์ XBB.1.5 ซึ่งเป็นลูกผสมของโอมิครอนสายพันธุ์ BJ.1 และ BM.1.1.1 จำนวน 2 รายในไทย โดยเป็นคนไทย 1 ราย และชาวต่างชาติ 1 ราย ซึ่งปัจจุบันหายดีแล้วและยังไม่พบผู้ใกล้ชิดติดเชื้อ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ถึงความรุนแรงและความเสี่ยงด้านสาธารณสุขเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ

XBB.1.5 เป็นเชื้อสายสืบสกุลของ XBB ซึ่งเป็นลูกผสมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 สองสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ BJ.1 และ BM.1.1.1 จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2566 มีการรายงานสายพันธุ์ XBB.1.5 ทั่วโลกพบ 33,219 ราย ส่วนใหญ่พบในสหรัฐอเมริกา 24,505 ราย (73.7%) ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร (6.6%) แคนาดา (5.3%) เดนมาร์ก (1.0%) เยอรมนี (2.65%) ไอร์แลนด์ (1.0%) และออสเตรีย (1.5%)

จากลักษณะทางพันธุกรรมและอัตราการเติบโตของ XBB.1.5 พบว่ามีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง F486P โดยกรดอะมิโนตำแหน่ง 486 เปลี่ยนจากฟีนิลอะลานีน (phenylalanine) เป็นโปรลีน(proline) ซึ่งเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะกับเซลล์ ส่งผลให้มีความได้เปรียบในการแพร่กระจาย และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีเช่นเดียวกับสายพันธุ์ XBB.1 แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ความรุนแรงและความเสี่ยงด้านสาธารณสุขเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่าสายพันธุ์ XBB.1.5 มีการระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา โดยพบสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นมา แต่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยที่พบในไทย คือ BN.1 และลูกหลาน ซึ่งมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วใกล้เคียงกัน จึงทำให้โอกาส ในการที่ XBB.1.5 มาแทนที่ BN.1.* มีไม่มากนัก

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อถึงกรณีที่จีนเปิดประเทศ ว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ที่ระบาดในจีน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีข้อมูลสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 14,515 ตัวอย่าง ซึ่งทั้งหมดเป็นโอมิครอน โดยสายพันธุ์ที่พบมาก ได้แก่ BA.5.2.48 (60.9%) และ BF.7.14 (28.3%) ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้มีการแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.5 มีรายงานจากประเทศจีนจำนวน 3 ตัวอย่าง ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยขณะนี้ยังคงเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BN.1.* เป็นลูกหลานของ BA.2.75 ซึ่งการติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ของประเทศ รวมถึงข้อมูลอัตราการติดเชื้อ ความรุนแรง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายจะดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อใช้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือ แม้สถานการณ์โควิด 19 จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนะนำประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการนอนโรงพยาบาล ลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตหากติดเชื้อ