Skip to main content

สำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึงอย่างช้าภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ดิ โอเพนเนอร์จัดทำสกู๊ปพิเศษเพื่อศึกษาการแพร่ระบาดของข่าวสารที่ผิด และรณรงค์การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ เป็นธรรม อย่างไรก็ตามเราได้ถอดบทเรียนตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน พบสิ่งที่น่าสนใจว่าหลายพรรคการเมือง รวมไปถึงพรรครัฐบาล หาเสียงโดยใช้นโยบายหรือแสดงท่าทีที่มุ่งเป้าไปที่ประชาชนกลุ่มเฉพาะมากขึ้น นั่นคือกลุ่มที่รัฐไทยนิยามว่า “กลุ่มเปราะบาง” แต่จนเกือบครบเทอม นโยบายเหล่านี้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง จนหลายคนมองว่ามันคือการหยิบยกขึ้นมาหาเสียงเพื่อการตลาดเท่านั้น ซึ่งในบทความชิ้นนี้จะหยิบยกตัวอย่างนโยบายทางเพศ (Gender-based Policies) ที่พุ่งเป้าไปที่สวัสดิการสตรี ในรูปแบบของนโยบายแม่และเด็ก และความเท่าเทียมทางเพศของ LGBTQ+

‘มารดาประชารัฐ-เกิดปั๊บรับแสน’ คำสัญญาที่พรรครัฐบาลให้ไว้ก่อนเลือกตั้งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น

ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 หลายพรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายสวัสดิการแม่และเด็ก เช่น พรรคพลังประชารัฐชูนโยบาย ‘มารดาประชารัฐ’ ที่จะอุดหนุนเงินดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์เดือนละ 3,000 บาทจำนวน 9 เดือน ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท และค่าเลี้ยงดูบุตรหลังคลอด 2,000 ต่อเดือนจนถึงอายุ 6 ขวบ รวมเป็น 181,000 บาท/คน อีกทั้งยังให้สิทธิพ่อและแม่ลาไปเลี้ยงดูบุตรหลังคลอด 30 วันหรือดูแลบุตรที่ป่วยได้โดยใช้ใบรับรองแพทย์ของบุตรและยังได้รับเงินเดือน คล้ายกันกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยหาเสียงด้วยนโยบาย ‘เกิดปั๊บรับแสน’ ให้เงินค่าคลอดบุตร 5,000 บาท และค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 1,000 บาทจนอายุ 8 ขวบ และเรียนฟรี อาหารกลางวันฟรีจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่นโยบายเหล่านี้ไม่ถูกนำมาปฏิบัติจริง แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์จะได้ดูแลกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องเรื่องสวัสดิการเด็กเล็ก ถูกขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคมมาตั้งแต่ปี 2559 และถูกนำมาออกเป็นนโยบายเมื่อปี 2560 โดยให้เงินอุดหนุนเด็กตั้งแต่ 0-6 ขวบ เดือนละ 600 บาท และจำกัดเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อยเท่านั้น จำนวน 90,216 ราย และปรับเกณฑ์เพิ่มจำนวนผู้ได้รับสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ จนเพิ่มมาเป็น 2,351,720 คนในปี 2565 จากเด็กเล็กหมดประมาณ 4.2 ล้านคน ภายใต้เงื่อนไขครอบครัวที่สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ส่วนเงินอุดหนุนก็ยังคงให้ 600 บาทเท่าเดิม

“รอนาน...จนลืม” แต่ยังหวังว่ารัฐบาลต่อไปจะทำได้

จรรยา ทับพร หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสิริสมบัติ ผู้ก่อตั้งศูนย์ฯ มากว่า 10 ปี กล่าวว่า ความไม่พร้อมของพ่อแม่จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก เท่าที่พบเห็นปัญหานี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีรายได้น้อย ซึ่งหากได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาดูแลเด็ก แม่ก็จะมีเวลาไปดูแลครอบครัวและทำงานหาเงินมากขึ้น ลดภาระในการเลี้ยงดูลูก รวมถึงค่านม ค่าอาหารด้วย โดยจะมีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนมาช่วยดูแลตรงนี้ แต่ทุกวันนี้ศูนย์ฯ เองก็ได้งบประมาณค่าอาหารเด็กราคา 20 บาทต่อหัวต่อวัน เธอบอกว่าเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เพราะมันคือการพัฒนาอนาคตของชาติ 

“แม้ใกล้จะครบวาระ แต่ตราบใดที่รัฐบาลยังอยู่ในอำนาจก็สามารถที่จะทำได้ เด็กทั้งประเทศยังรออยู่ อย่างไรก็ตาม” จรรยา มองว่า สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถดำเนินนโยบาย ‘เกิดปั๊บ…รับแสน’ น่าจะเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแกนนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก และงบประมาณก็ต้องแบ่งไปจัดการกับสถานการณ์โควิด

จรรยา-ศิริพร ทับทอง

จรรยา ทับพร - ศิริพร ทับพร 

ด้านศิริพร ทับพร อาสาสมัครผู้ดูเเลเด็ก กล่าวว่า แม้บทบาทของผู้หญิงเริ่มเท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้น แต่ก็เป็นเพราะบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปเป็นหลัก ไม่ใช่การเมือง แต่นโยบายต่างๆ ตั้งแต่หาเสียงมาก็ยังไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไร เธอคาดหวังและรอคอย โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิง อย่างน้อยเกิดขึ้นได้สัก 80% ก็ยังดี เพราะนโยบายที่แต่ละพรรคหาเสียงไม่แตกต่างกันมากเท่าไร แต่มีหลายพรรค หลายชื่อนโนบาย ที่สุดท้ายก็สับสนไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจริงแล้วหรือไม่ ตามข่าวทันหรือเปล่า หรือบางทีก็รอนานจนลืมว่าเคยมีพรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายเหล่านี้ อยากให้อัพเดทนโยบายเหล่านี้พร้อมความคืบหน้าผ่านทางโซเชียลมีเดียเพื่อให้ติดตามได้ง่ายขึ้น 
    
“มันก็มีความสิ้นหวังบ้าง แต่ยังคาดหวังว่ารัฐบาลต่อไปอาจจะทำได้จริง ตอนนี้สับสน เพราะบางทีหาเสียงไปไม่ได้เกิด พรรคใหม่มาก็หาเสียงอีก แต่ยังไม่ได้เกิดอยู่ดี บางทีนโยบายก็ไม่ได้ไกลกันมาก แต่พอเราไม่ได้ตามก็ไม่รู้ว่ามันเกิดหรือไม่เกิด บางครั้งก็ยังคิดทำว่าทำได้จริงมีลงทะเบียนแล้ว” ศิริพร กล่าว

ต้องเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ใช่รัฐสงเคราะห์

สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 340 องค์กร กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มมี 3 มิติ คือ พ่อแม่ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมที่จะไปเลี้ยงดูลูกแค่ไหน? การป้องกันความรุนแรงในครอบครัว และสวัสดิการแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ที่มีการเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2559 แม้รัฐบาลจะรับไปออกเป็นนโยบาย แต่ยังจำกัดแค่ผู้มีรายได้น้อย หรือรัฐสงเคราะห์ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 คณะทำงานนี้ได้ไปพบกับพรรคการเมืองต่างๆ และมีเสียงตอบรับที่ดูเหมือนจะเห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ดูแลเด็กเล็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เฉพาะเจาะจงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และได้เสนอนโยบายที่ให้ประมาณมากกว่าที่คณะทำงานเสนอด้วยซ้ำ แต่หลังจัดตั้งรัฐบาลกลับไม่ทำตามนโยบาย มีแต่เพียงการสงเคราะห์คนจน ไม่ตรงกับที่หาเสียง และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะที่ฝ่ายค้านยังคงอภิปรายตั้งคำถามในสภา และภาคประสังคมก็ผลักดันต่อเนื่อง จนปี 2563 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติให้เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ทำตามมติ โดยอ้างว่าไม่มีเงิน แม้จะไปพูดคุยกับจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แล้วก็ตาม

“อย่าบอกว่าไม่มีเงิน มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ปี 2565 กระทรวง พม. ที่ดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตายได้เงิน 24,000 ล้านบาท กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณ 2 แสนล้านล้านบาท” สุนี กล่าว

ทุกวันนี้เบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ เรียนฟรี บัตรทองฯ ล้วนแต่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า แม้จะยังมีปัญหาอยู่ก็ตาม แต่ตั้งแต่เกิดจนตาย มีแค่แม่และเด็กที่ยังเป็นการสงเคราะห์คนจน ทำไมถึงมองข้ามความสำคัญแบบนี้? ทั้งที่ตอนหาเสียงพูดชัดว่าให้ถ้วนหน้า แม้รัฐบาลจะผ่านมาหลายปี มีมติจาก กดยช. และมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่รัฐจะต้องดูแลเด็ก แล้วก็ถาม แต่ทำไม่ยังไม่ทำ? และตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่มีแรงกดดันต่อรัฐบาล

สุนี ไชยรส

สุนี ไชยรส 

สุนี กล่าวว่า พวกเธอหมดหวังต่อรัฐบาลชุดนี้แล้ว และการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปคือเพื่อสื่อสารกับรัฐบาลชุดใหม่ เดินสายพบพรรคการเมืองอีก 15 พรรค และเพิ่มแรงกดดันจากประชาชนมากขึ้น คณะทำงานจะเรียกร้องให้เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า รัฐต้องดูแลตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์จนเด็กอายุครบ 6 ปี และเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 600 เป็น 3,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีระเบียบ กกต. ใหม่ที่กำหนดว่าการหาเสียงต้องพูดให้ชัดว่านโยบายที่พูดไปจะเอาเงินมาจากไหน ทำให้มีความเป็นไปได้จริงมากขึ้น และภาคประชาสังคมจะจับตามองว่าพรรคการเมืองจะต้องตอบให้ได้

“เราเคยสงสัยว่าเด็กไม่มีสิทธิ์โหวตเลยไม่ได้รับสิทธิ์ถ้วนหน้า? แต่แท้จริงแล้วเด็กหนึ่งคนที่มีสิทธิ์โหวตมีคนเกี่ยวข้องมากกว่า 3 คน ทุกกลุ่มเกี่ยวข้องกับเด็กหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงาน กลุ่ม LGBTQ หรือกลุ่มที่ดิน ดังนั้นการขับเคลื่อนของคณะทำงานจะสร้างเครือข่ายและกดดันเรียกร้องนโยบายต่อพรรคการเมืองไม่ให้หาเสียงลอยๆ เราต้องกดดันขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้โกเติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรของชาติ” สุนี กล่าว

เช่นเดียวกับข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ที่ชี้ว่า ท่ามกลางความท้าทายของโลกใหม่ ระบบสวัสดิการต้องให้คนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมาระบบสวัสดิการของไทยเน้นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ทำให้คนไทยกว่า 60% ตกหล่นจากนโยบายแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีเงินบริจาคเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเยอะกว่างบประมาณของกระทรวง พม. แต่เม็ดเงินกระจัดกระจายและไม่ได้ติดตามผล ขณะเดียวกันกว่า 33 ประเทศใช้โมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐ ภาคประชาสังคมกับภาคเอกชนตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลเด็กเล็ก 

“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Left No One Behind)” หลักการที่ประเทศไทยรับมาจากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยสหประชาชาติ (UN) เข้ามามีส่วนในการกำหนดแนวนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับความตื่นตัวของคนไทยและเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ที่ทำให้คนชายขอบ หรือกลุ่มเปราะบางสามารถส่งเสียงและไม่ได้เป็นแค่ฐานคะแนนเหมือนในอดีต ทำให้ภาคการต้องปรับนโยบายหาเสียงให้ครอบคลุมมากขึ้นและเปิดรับความหลากหลายในสังคมมากขึ้น

‘แต่งงานเพศเดียวกัน’ เกมส์แย่งชิงผลงานที่ยาวนานเกือบทศวรรษ

อีกนโยบายหนึ่งที่พูดแล้วดูแปลกใหม่ กลายเป็นกระแส แต่ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง คือ กฎหมายการสร้างครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เริ่มต้นจากร่างกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิต ในปี 2556 ผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยแกนนำจากพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และท่ามกลางร่างกฎหมายคู่ขนานจากองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายฉบับ สุดท้ายร่างกฎหมายเหล่านี้ก็ต้องตกไปเนื่องจากการทำรัฐประหารในปี 2557 

ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ถูกนำกลับมาทบทวนโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และถูกนำกลับเข้ามาเสนอต่อ ครม. โดย พล.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ในช่วงปลายปี 2561 ก่อนจะถูกส่งไปปรับแก้ไขเพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ทันในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และทำให้กฎหมายตกกลับไปที่กระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง แต่กลับสร้างกระแสฮือฮาว่ารัฐบาล คสช. เห็นชอบร่างกฎหมายที่ให้สิทธิการสร้างครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า และเป็นที่น่าสังเกตว่าในยุครัฐบาลทหาร เช่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักจะมีการหยิบยกเรื่องสิทธิทางเพศ หรือให้เสรีภาพในการจัดงาน Pride หรือ Gay Expo มากกว่าการคืนประชาธิปไตยให้สังคม

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองแสดงท่าทีที่สนับสนุนข้อเรียกร้องเรื่องการแต่งงาน หรือแม้แต่การเปลี่ยนคำนำหน้านามของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น แม้จะไม่ได้มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม แต่แสดงสัญญะทางการเมือง เช่น พรรคอนาคตใหม่ที่มี LGBTQ เป็น ส.ส. ครั้งแรก หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ หลังเลือกตั้งก็มีการรับหนังสือและพูดคุยกับกลุ่ม LGBTQ ถึงข้อเรียกร้องต่างๆ

ในเดือนมิถุนายน 2565 พรรคก้าวไกล (ที่มี ส.ส. เดิมมาจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ) เตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็เห็นชอบร่างกฎหมายคู่ชีวิตและขอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันเดียวกัน พร้อมกับ มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับของรัฐบาล และร่างกฎหมายคู่ชีวิต ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ เสนอเข้ามาด้วย และท้ายที่สุดร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับก็ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ก่อนที่จะแล้วเสร็จช่วงปลายปี และรอต่อคิวเข้าสู่การพิจารณาในวาระสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหลายคนคาดการณ์ว่าจะไม่ทันก่อนยุบสภาหรือหมดวาระ และกฎหมายเหล่านี้จะตกกลับไปที่กระทรวงยุติธรรมอีกเป็นครั้งที่ 3 

เทรนด์โลกกำลังมา สิทธิ LGBTQ จึงกลายเป็นการหาเสียงเพื่อการตลาด? 

กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และประธาน คณะที่ปรึกษาชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ (MCAB) กล่าวว่า บรรยากาศตอนนี้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนสิทธิ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะสังคมโลกและสังคมไทยให้การยอมรับ LGBTQ ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติมีการวิจัยทางการแพทย์รองรับว่าไม่ใช่ความผิดปกติ ขณะที่ประเทศไทยเองก็รับเอาหลักการสิทธิมนุษยชนสากลมาหลายข้อที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคือการผลักดันไปสู่กฎหมายและนโยบายรองรับให้คนเท่ากัน ไม่ใช่แค่รับรองตามระบบทวิเพศเท่านั้น ทุกคนต้องมีสิทธิในการต่อตั้งครอบครัว โดยความเป็นบุคคลที่ไม่จำกัดเรื่องเพศ

ในอดีต เช่น สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวิตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเด็นสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้รับการคัดค้าน แต่ไม่ถูกส่งเสริมให้เป็นกฎหมายหรือนโยบาย โดยให้เหตุผลว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม แม้ต่อมาจะมีการร่างกฎหมายการจัดทะเบียนคู่ชีวิตในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่แต่ก็ยังเป็นกฎหมายแยกเฉพาะเจาะจงกลุ่ม และกฎหมายแม่บทยังคงรักษาไว้ซึ่งระบบทวิเพศ เห็นได้ชัดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 

อย่างไรก็ตาม กระแส #คนเท่ากัน ที่กลายเป็นประเด็นในสังคม ประกอบกับการรับเอาหลักการสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน เจตน์จำนงในการกำหนดอนาคตตัวเอง (Self Determination) และแนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) และปัจจัยสำคัญคือ การตลาดที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายประชากร LGBTQ กว่า 4 ล้านคนในไทยเป็นฐานเสียงและ 7 พันกว่าล้านคนทั่วโลกเป็นลูกค้าตลาด พรรคการเมืองจึงต้องทำการตลาดหาเสียงกับคนกลุ่มนี้ เพราะเมื่อเทรนด์ในสังคมกำลังมา ถ้าพรรคไหนไม่ลุกขึ้นมาทำก็จะเสียคะแนนไปให้พรรคอื่น หรือถ้า ส.ส. คนไหนไม่โหวตก็จะถูกจับตามองผ่านสื่อและโลกออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเลือกตั้งพรรค สมาคมฟ้าสีรุ้งก็ถูกเชิญไปให้ความเห็นในเกือบทุกพรรคการเมือง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือภาคประชาสังคม เริ่มร่างกฎหมาย รัฐบาลและหน่วยงานราชการก็จะลุกขึ้นมาทำร่างกฎหมายคู่ขนานอีกฉบับมาประกบกัน เพราะสุดท้ายแล้วแทบจะไม่มีกฎหมายที่เสนอจากฝ่ายค้านหรือภาคประชาสังคม ผ่านสภาและบังคับใช้ แต่จะเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลแทน เพื่อความเจ้าของและไม่ปล่อยให้ไปเสริมคะแนนฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นร่างกฎหมายของฝ่ายค้านหรือภาคประชาสังคมจึงเป็นเหมือนต้นน้ำเพื่อกระตุ้นให้เกิดกฎหม่ายจากรัฐบาล เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่ออกโดย สนช. เมื่อปี 2558

กิตตินันท์

กิตตินันท์ ธรมธัช

อย่างไรก็ตาม กิตตินันท์ ย้ำว่า ถ้าคุณมีความคิดถึงกลุ่ม LGBTQ หรือเป็นเพียงแค่การทำการตลาดหรือมุ่งเน้นไปที่การหาเสียง แต่ยังไม่ได้ปรับทัศนคติให้ดีต่อกลุ่ม LGBTQ ก็ไม่มีความยั่งยืน กระบวนการก็จะสะดุด
“ถ้าไม่เข้าใจ (ว่ามีเพศนี้อยู่จริง ไม่ผิดธรรมชาติ) และไม่เข้าถึง (ว่าพวกเขาขาดสิทธิอะไรบ้าง) พรรคการเมืองถ้าทำเพื่อหาเสียงหรือแค่กลัวเสียคะแนน ความยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้น” กิตตินันท์ กล่าว

กฎหมายเองเป็นเหมือนตัวปรับฐานความคิดของคนในสังคม หากมีกฎหมายการสร้างครอบครัว เขาเชื่อว่ากฎหมายอื่นๆ ก็อาจจะผ่านได้ง่ายขึ้น เพราะสังคมมีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว เช่น ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล หรือร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ เพราะตอนนี้พรรคการเมืองต่างๆ ก็ไปไกลกว่าการแต่งงานเพศเดียวกันแล้ว แต่มองไปยังประเด็นตัดขวางเรื่อง Intersectionality ด้วย ทั้งนี้สิ่งที่รัฐไทยยังขาดคือการสำรวจประชากรในแต่ละกลุ่มเปราะบาง เพื่อนำมาแก้ปัญหาให้ตรงจุดจากบนลงล่าง เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่แก้ปัญหาทีละกรณี ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองหาเสียงแบบเดียวกัน ด้วยการใช้ภาพใหญ่ของแนวคิดความเท่าเทียม แต่ยังไม่ลงไปถึงแนวทางแก้ปัญหาที่จะเป็นไปได้และยั่งยืน

‘ยอมรับความหลากหลายทางเพศ’ ถูกใช้เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ แต่ไม่เข้าใจ

มุกดาภา ยั่งยืนภราดร นักกิจกรรม เสรีเทยย์พลัส และเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนประจำประเทศไทย ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องเจอกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติในสังคมทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ตั้งแต่ครอบครัวจนถึงระดับรัฐ โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่ครอบคลุม ยกตัวอย่าง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สะท้อนให้เห็นมุมมองของรัฐว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นอีกสปีชีส์หนึ่ง หรือในช่วงโควิด กลุ่มคนหลากหลายทางเพศถูกกีดกันจากบางอาชีพหรือไม่ได้รับการรับรองงาน รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติในสถานที่ราชการเช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือเรือนจำ แม้จะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคุ้มครองคนทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติ มันถูกตีความในลักษณะของทวิเพศ คือ ชาย-หญิง และกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้ หรือไม่มีการสื่อสารไปสู่ประชาชนอย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่รู้ว่ามี หรือไม่รู้ว่าจะบังคับใช้ยังไง

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 หลายพรรคการเมืองพูดประเด็นความหลากหลายทางเพศผ่านสื่อกระแสหลัก และออกมาเป็นนโยบายของพรรคการเมือง เธอรู้สึกดีใจที่เรื่องเหล่านี้ถูกพูดถึงในวงกว้างเสียที ทั้งที่การกดทับของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ตรงนี้มานานแล้ว 

หลังจากการเลือกตั้ง ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ได้มาจากภาครัฐเท่ากับตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่เป็นภาคประชาสังคมที่ออกมาเคลื่อนไหวและสร้างการรับรู้ให้สังคมมากกว่า บางพรรคการเมืองก็ชูเรื่องความหลากหลายทางเพศให้เป็นประเด็นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือยิ่งไปกว่านั้นรัฐมักจะใช้แนวคิดการสนับสนุนเพศหลากหลาย (Homonationalism) เพื่อแสดงตัวว่าเป็นชาติที่เจริญแล้ว แต่เป็นเหมือนการพีอาร์ ในระดับเปลือก การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงยังคงอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังไม่แม้แต่สนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนด้วยซ้ำ และสุดท้ายรัฐก็จะกลับเอาสิ่งนี้กลับมาโปรโมทว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคนเข้าใจผิดว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยก็มาไทยเหมือนกัน 

“คิดว่ารัฐบาลก็ต้องเอาสิ่งนี้กลับมาโปรโมทอีกว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว อาจจะทำให้โหวตเตอร์รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราก็มาไกลเหมือนกัน แต่คำว่าไกล แค่นี้แล้วพอใจไหม? หรือว่าเราจะฝันไปได้ไกลว่านี้สำหรับความเท่าเทียมในสังคม” มุกดาภา กล่าว

โดยเฉพาะร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างกฎหมายคู่ชีวิตที่ไม่น่าทันการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาหาเสียงอีก ซึ่งเธอเองก็จะจับตามองว่ามีพรรคไหนที่จะหยิบกฎหมายที่ค้างอยู่ขึ้นมาทำต่อเป็นเรื่องแรก และพรรคไหนจะมีนโยบายระยะกลางและยาวอย่างชัดเจน ซึ่งอย่างไรเสีย เธอก็จะต้องออกไปเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงร่างกฎหมายเหล่านี้จะเป็นทั้งฟืนไฟให้คนออกมาเลือกตั้ง หรืออาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือพีอาร์ให้คนอีกฝั่งออกมาเลือก เพราะยังหวังว่า พรรคที่เคยเป็นรัฐบาลที่เขียนมันขึ้นมา ก็มีโอกาสที่จะผลักดันมันไปต่อจะผ่านก็ได้

มุกดาภา ยั่งยืนภราดร

มุกดาภา ยั่งยืนภราดร

อย่างไรก็ตามเธอยังเชื่อเหลือเกินว่า กฎหมายจะเป็นตัวทลายอคติในสังคมให้คนเกิดความเข้าใจในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจุดมุ่งหมายในการเคลื่อนไหวของเธอก็เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจในสังคม และให้คนเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน เธอบอกว่าไม่มีใครอยากลงถนน แต่เมื่อยังไม่มีทางอื่นที่จะสื่อสารกับรัฐให้นำเอาข้อเรียกร้องไปปฏิบัติ เธอก็ต้องทำทุกวิถีทาง

การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ของเยาวชนไทยเริ่มเข้มข้นมาตั้งแต่การทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในปี 2559 แต่ก็ถูกรัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในโลกออนไลน์ก็เริ่มมีกลุ่มย้ายประเทศที่มีสมาชิกกว่าล้านคน ในปี 2564 พวกเขามองการเมืองไทยเป็นเรื่องสิ้นหวัง ขณะที่ยังมีกลุ่มความคิดตรงข้ามมองว่าเยาวชนเหล่านี้ ‘ชังชาติ’ ทำให้หลายพรรคการเมืองเจาะไปที่กลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน และพรรคการเมืองที่มีอำนาจก็มักจะใช้แง่มุมของการกระจายข่าวสารที่ผิดพลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง ในขณะที่นักกิจกรรมหลายคนยังคงเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งตระหนักถึงสิทธิของพวกเขา และสิ่งที่พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบเมื่อได้หาเสียงเลือกตั้งไปแล้ว และไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลังตามหลักการสากลที่ไทยรับมา และกลุ่มเปราะบางที่รัฐนิยามจะอยู่ตรงจุดไหน หรือได้รับสิทธิมากน้อยแค่ไหนหลังการเลือกตั้งปี 2566

This story is produced under the ANFREL Asian Media Fellowship on Election Reporting through the generous support of the Canada Fund for Local Initiatives (CFLI) Mission of Canada to ASEAN