องค์การสหประชาชาติ หรือ UN เปิดเผยรายงานว่า วันที่ 15 พ.ย. 2022 ที่จะถึงนี้โลกจะมีประชากรรวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านคน และคาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนในฐานะของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปี 2023
ด้วยจำนวนประชากรที่มากมายขนาดนี้จึงเกิดคำถามว่า มีมนุษย์อยู่บนโลกนี้มากเกินไปหรือไม่? ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กล่าวว่า ปัญหาใหญ่กว่าคือ ผู้อยู่อาศัยบนโลกที่ฐานะร่ำรวยใช้ทรัพยากรมากเกินไป
Japan times รายงานว่า นาตาเลีย คาเนม หัวหน้ากองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ประชากร 8,000 ล้านคน เป็นก้าวสำคัญสำหรับมนุษยชาติ เนื่องจากปัจจุบันคนมีอายุยืนยาวขึ้น และการเสียชีวิตของแม่และเด็กลดลง แต่เธอตระหนักว่า ช่วงเวลานี้อาจมีประชากรบางกลุ่มที่ไม่ได้ร่วมยินดีไปกับเรื่องนี้ ด้วยการแสดงความกังวลว่าโลกของเรามีประชากรมากเกินไป ซึ่งจำนวนประชากรบนโลกไม่ใช่สาเหตุของความกลัวที่แท้จริง สิ่งที่ควรกังวลคือ การใช้ทรัพยากรโลกที่มากเกินของกลุ่มคนมั่งคั่งในหมู่มนุษย์ด้วยกันเองมากกว่า
โจเอล โคเฮน จากห้องปฏิบัติการประชากร ประจำมหาวิทยาลัยรอคกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่า คำถามที่ว่าโลกสามารถรองรับจำนวนคนได้มากแค่ไหน แบ่งได้ 2 ด้านคือ ขีดจำกัดตามธรรมชาติ กับ สิ่งที่มนุษย์เป็นคนเลือก ซึ่งการเลือกนี้ส่งผลให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรชีวภาพ เช่น ป่าไม้ และที่ดิน มากกว่าที่โลกจะสร้างใหม่ได้ทันในแต่ละปี
โคเฮน ยกตัวอย่างว่า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์มากขึ้น และนั่นเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
ตามข้อมูลจาก Global Footprint Network และองค์กรพัฒนาเอกชนของ WWF บอกว่า เราต้องการดาวโลก 1.75 ดวง เพื่อบรรจุจุชีวภาพ สำหรับตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบันอย่างยั่งยืน
ส่วนรายงานสภาพอากาศของสหประชาชาติล่าสุด ระบุว่า การเติบโตของประชากรเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อยหลักของการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม มันมีบทบาทน้อยกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โคเฮน ระบุว่า มนุษย์เราขาดการมองการณ์ไกล แต่เป็นคนโลภ เราไม่ใช้ข้อมูลที่มี นั่นคือสิ่งที่มนุษย์เลือกและกำลังเป็นปัญหาอยู่ ผู้คนควรมีทางเลือกที่ดีกว่านี้
ด้าน เจนนิเฟอร์ สซิบบา นักวิจัยจากศูนย์วิลสัน กล่าวว่า ผลกระทบต่อโลกเกิดจากพฤติกรรมมากกว่าตัวเลข และการโทษว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นตัวทำลายโลกจากการเพิ่มประชากรสูงสุดดูจะเป็นเรื่องที่อันตราย ทั้งๆ ที่ผู้คนในประเทศที่ร่ำรวยกลับใช้ทรัพยากรในโลกมากที่สุด
หากทุกคนบนโลกใช้ชีวิตเหมือนชาวอินเดีย เราจะต้องการความจุชีวภาพเท่ากับดาวโลก 0.8 ดวงเท่านั้น แต่ถ้าทุกคนบริโภคเหมือนอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เราก็จะต้องการดาวโลกเพื่อบรรจุชีวภาพถึง 5 ดวงต่อปี
ส่วนหนึ่งในคำถามที่ยากที่สุดที่เกิดขึ้นเมื่อพูดถึงประชากรคือ การควบคุมภาวะเจริญพันธุ์ โดยโรบิน เมย์นาร์ด ผู้อำนวยการบริหารของ NGO Population Matters กล่าวว่า ประชากรจำเป็นต้องลดลง แต่ต้องอาศัยวิธีการเชิงบวก สมัครใจ และเคารพสิทธิด้วย
วาเนสซา เปเรซ จากสถาบันทรัพยากรโลก เห็นด้วยว่าทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ต่างสร้างความเครียดให้กับโลก และควรปฏิเสธความคิดว่ากลุ่มชนชั้นนำหยิบจับประเด็นนี้และบอกว่าพวกเราจำเป็นต้องจำกัดจำนวนประชากร สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ การกระจายตัวและความเท่าเทียม
สุดท้าย โคเฮน ชี้ให้เห็นว่า แม้ขณะนี้เราจะผลิตอาหารเพียงพอสำหรับ 8,000 ล้านคน แต่ยังมี 800 ล้านคนที่ขาดสารอาหารอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม รายงานจากสหประชาชาติ ระบุด้วยว่า การขยายตัวของจำนวนประชากร จาก 7,000 ล้านคน มาถึง 8,000 ล้านคนใช้ระยะเวลาราว 12 ปี ใกล้เคียงกับช่วงที่เพิ่มจาก 6,000 ล้านคนมาสู่ 7,000 ล้านคน แต่จากนี้เชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรบนโลกจะกินระยะเวลานานกว่าเดิม โดยใช้เวลาราว 14.5 ปี (ในปี 2037) ซึ่งในเวลานั้นการเพิ่มขึ้นของประชากรจาก แอฟริกาและเอเชีย จะเป็นมีสัดส่วนถึง 9 พันล้านคน