Skip to main content

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยในปี 2050 จะมีประชากรโลกสูงอายุถึง 2.1 พันล้านคน 2 ใน 3 อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ จำนวนประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วกว่าที่ผ่านมา

ข้อมูลองค์การอนามัยโลกเผยว่า ในปี 2030 หรือ 6 ปีเศษจากนี้ โลกจะมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วน 1 ใน 6 ของประชากร เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1 พันล้านคนในปี 2020 เป็น 1.4 พันล้านคน และเพิ่มเป็น 2.1 พันล้านคนในปี 2050 โดยจะมีประชากรที่อายุ 80 ปีขึ้นไปในสัดส่วนถึง 426 ล้านคน

องค์การอนามัยโลกระบุด้วยว่า ในปี 2050 จำนวน 2 ใน 3 ของประชากรสูงวัยที่อายุเกิน 60 ปี จะอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลาง

มีหลักฐานชี้ว่า แม้ปัจจุบันช่วงชีวิตของคนจะยืนยาวขึ้นกว่าอดีต แต่สัดส่วนของช่วงชีวิตที่มีสุขภาพดีกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งหากผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในปีเหล่านั้นด้วยสุขภาพที่แข็งแรง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ก็จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่แตกต่างจากคนในวัยหนุ่มสาวมากนัก

องค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างอิสระ และทำสิ่งต่างๆ ได้เต็มศักยภาพ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ลองสิ่งใหม่ ๆ เช่น การเรียนต่อ การเริ่มต้นอาชีพใหม่ หรือกลับไปทำในสิ่งที่รัก รวมถึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัวและชุมชน

ในทางกลับกัน หากปีที่อายุยืนยาวขึ้นเต็มไปด้วยภาวะเสื่อมถอยทางร่างกายและจิตใจ ผลกระทบโดยรวมที่มีต่อผู้สูงอายุและสังคมก็จะรุนแรงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้ปี 2021-2030 เป็น "ทศวรรษแห่งการมีสุขภาพดีในวัยชราของสหประชาชาติ" และมอบหมายให้องค์การอนามัยโลก ดำเนินการความร่วมมือในระดับรัฐบาล ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี

ทศวรรษแห่งการมีสุขภาพดีในวัยชราของสหประชาชาติ มีเป้าหมายเพื่อ เปลี่ยนทัศนคติ ลดทอนความเชื่อแบบเหมารวมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุว่า เป็นวัยที่ยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง และมีคุณค่าต่อสังคม

เป้าหมายต่อมาคือ การสร้างหรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมให้ปลอดภัย สะดวก เหมาะสมกับผู้สูงอายุ, ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งการกิน การออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพ, การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุ และส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ