Skip to main content

บรูมเบิร์ก รายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีน กำลังพยายามเลิกใช้แบรนด์รถยนต์สัญชาติยุโรป เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดรายใหญ่ที่สุดของจีน ประกาศแผนการสร้างโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศแห่งแรกที่จังหวัดระยอง เมื่อไม่กี่วันก่อน รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่คันที่ 10,000 ออกจากสายการผลิตของ Great Wall Motor ที่จังหวัดระยอง ในขณะเดียวกัน Hozon New Energy Automobile ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในเซี่ยงไฮ้ก็เปิดโชว์รูมแห่งแรกในไทยที่ห้างสรรพสินค้าแถวพระราม 2 ในกรุงเทพฯ 

ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนไม่ได้แค่ตั้งโชว์รูมและสร้างห่วงโซ่อุปทานเท่านั้น ตามข้อมูลจากสมาคมรถโดยสารจีน บอกว่า พวกเขายังส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์มายังไทย ช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย. ปีนี้ ส่งมาขายแล้ว 59,375 คัน เพิ่มขึ้น 176% จากช่วงเดียวกันของปี 2021 

ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 3 ในฐานะจุดหมายปลายทางการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีน รองจากเบลเยียมและสหราชอาณาจักร เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายยอดนิยม เนื่องจากสถานะการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังเป็นอันดับ 10 ของโลกอีกด้วย

และเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่เสนอเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาท สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล และรัฐบาลกำลังคำนึงถึงเรื่องเงินอุดหนุนแบตเตอรี่เพื่อลดต้นทุนเพิ่มเติม เป็นการเคลื่อนไหวที่จะเพิ่มการลดภาษีและสิ่งจูงใจสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ประมาณ 43,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ รถยนต์ที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่จากจีนยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและสรรพสามิตส่วนใหญ่จนถึงสิ้นปี 2565 อีกด้วย และในทางกลับกันผู้ผลิตรถยนต์ต้องให้คำมั่นที่จะผลิตในประเทศโดยเริ่มในปี 2567 โดยไทยนั้นมีความต้องการให้ผลิตรถยนต์ร้อยละ 30 ของรถยนต์ทั้งหมดเป็นไฟฟ้าภายในปี 2573

ด้าน นริศ เทพธีรสุข เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย กล่าวกับบรูมเบิร์กว่า นโยบายของเราแสดงให้เห็นว่าเรามุ่งในที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกได้อย่างไร และนั่นเป็นการเพิ่มความมั่นใจและนำผู้เล่นใหม่เข้ามามากมาย แน่นอนว่าส่วนใหญ่มาจากจีน และมีแนวโน้มว่าจะตามมาอีกมาก

ส่วนข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่แล้ว ซึ่งนริศ บอกว่า การลงทุนส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยแล้ว

อัลเลน ทอม อับราฮัม นักวิเคราห์ด้านความคลองตัวของบรูมเบิร์ก บอกว่า แรงจูงใจเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนี้จนถึงประมาณปี 2567 หรือ 2568 ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนมีโอกาสส่งออกรถยนต์ส่วนเกินไปยังไทยและเพื่อทดสอบตลาด

ภายใต้คำมั่นสัญญาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน และการผลักดันให้พึ่งพาตัวเองใน Deep Tech (เทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อนเชิงลึกทางเคมี ผ่านการค้นคว้าวิจัย และคิดค้นขึ้นมาใหม่จากนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์) และนโยบายพิเศษได้กระตุ้นการผลิตและการซื้อรถยนต์พลังงานสะอาด และตลาดรถ EV ของจีนตอนนี้ใหญ่ที่สุดในโลก

ด้วยภูมิทัศน์ประเทศที่ไม่คุ้มเคยกระตุ้นให้เกินนวัตกรรมอย่างรวดเร็วในการออกแบบรถยนต์ การนำเสนอเทคโนโลยีขั้นสูง และบริการอื่นๆ ที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โมเดลรถ EV ที่ราคาไม่แพง และเป็นที่นิยมเหล่านี้กำลังเข้าสู่ตลาดที่ครั้งหนึ่งเคยถูกครอบงำโดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นและชาติตะวันตก

ขณะที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่ใช้ Ora Good Cat EV จาก Great Wall Motor ตั้งแต่ ต.ค. 2564 บอกกับบรูมเบิร์กว่า ตอนแรกไม่ค่อนเชื่อมั่นในรถ EV จากจีน แต่ตกหลุมรักการออกแบบ จึงลองศึกษาและคิดว่าคุ้มค่าที่จะลอง ซึ่งเกินความคาดหมายของเขาไปมาก และตอนนี้เขาเปิดกลุ่มเฟซบุ๊ก Ora Good Cat Thailand มีสมาชิกแล้วกว่า 92,000 คน สมาชิกกลุ่มต่างแชร์ภาพรถของตัวเอง และแชร์ความรู้กับการใช้รถยี่ห้อนี้ รวมไปถึงการบำรุงรักษาและปัญหาทางเทคนิคที่ประสบกัน

ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูย้อนยุค ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มียอดขายสูงสุดในไทยปีนี้ ข้อมูลอ้างอิงจากข้อมูลทะเบียนรถใหม่จากกรมการขนส่งทางบก ส่วนราคานั้นเริ่มที่ 763,000 บาท แม้จะแพงกว่าที่ขายในจีน แต่ถูกกว่า EV ของญี่ปุ่น

ด้าน Hozon Auto เปิดตัวรุ่น Neta V ราคา 549,000 บาท ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นรุ่นที่มีผู้ช่วยเสียงเอไอ และติดตั้งแอปฯ TikTok มาด้วย มียอดคำสั่งซื้อแล้วมากกว่า 5,000 รายการ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกว่า ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58 ในปี 2564 เป็น ร้อยละ 80 ในปี 2565

ซึ่งโฆษกของ Hozon Auto กล่าวว่า สำหรับเรา นี่คือปีที่ศูนย์ของการก้าวไปสู่ระดับโลก และประเทศไทยเป็นจุดแวะพักแรกของเรา เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง การวางรากฐานตั้งแต่เนิ่นๆ อาจทำให้เราได้เปรียบในตอนแรก ผู้บริโภคไทยยังเปิดรับแบรนด์จีนมากขึ้น เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม

นักวิเคราะห์ด้านความคล่องตัวของบรูมเบิร์ก (BloombergNEF) คาดการณ์ว่า ยอดขาย EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรราว 675 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเพียง 31,000 คนในปี 2565 เป็น 2.7 ล้านคนในปี 2583

ทำให้ผู้ครองตำแหน่งชาวญี่ปุ่นอย่าง Toyota Motor พบว่าตัวเองกำลังถูกไล่ตาม ซึ่งโตโยต้า ครองตลาดรถยนต์ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย  มีแผนจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแบตเตอรี่รุ่นแรกในไทยในสิ้นปีนี้ โดยออกแถลงการณ์ว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการพัฒนา การผลิต และการส่งออกของเราในเอเชีย และเราอยู่ที่นั่นมา 60 ปีแล้ว โตโยต้าต้องการเสนอทางเลือกมากมายบนถนนสู่สังคมที่ปราศจากคาร์บอน เรามั่นใจในการรักษาและขยายส่วนแบ่งการตลาดของเรา 

ในประเทศไทย มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 5 อันดับแรกของญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันเกือบ 80% ในการแข่งขันแบรนด์จีนจะต้องสร้างเครือข่ายการขายและการบริการตั้งแต่เริ่มต้น เช่นเดียวกับความไว้วางใจ ซึ่งอาจใช้เวลาหลาย 10 ปี 

นักวิเคราะห์จากบรูมเบิร์ก บอกอีกว่า ยังเร็วไปที่จะบอกว่าแบรนด์จีนจะเข้ามาครอบครองตลาด ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังรอจังหวะที่เหมาะสมก่อนเข้าสู่ภาคการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันของไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงจุดหมุนที่สำคัญ