Skip to main content

ทวิตเตอร์ ระบุเมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) ว่า จะเก็บค่าบริการ 8 ดอลลาร์ (ประมาณ 300 บาท) ต่อเดือน สำหรับบริการ Blue Service ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการยืนยันตัวตนของบัญชีทวิตเตอร์ ตามการเปิดเผยของอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นแผนการเพิ่มจำนวนผู้ใช้และทำให้สื่อสังคมออนไลน์นี้ลดการพึ่งพารายได้จากการโฆษณา ตามรายงานของรอยเตอร์

มัสก์ ระบุในทวิตเตอร์ว่า “ระบบชนชั้นในทวิตเตอร์ที่มีบัญชีแบบทางการและไม่ทางการนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ คืนพลังให้ประชาชน! ด้วย Blue ในราคา 8 ดอลลาร์ต่อเดือน” และยังทวีตด้วยว่าราคาดังกล่าวจะปรับเปลี่ยนตาม “อำนาจซื้อของประชาชนในแต่ละประเทศ”

ทั้งนี้ เครื่องหมายถูกสีฟ้า ที่อยู่ด้านข้างชื่อบัญชีในทวิตเตอร์ สื่อถึงการยืนยันจากทางทวิตเตอร์ว่าบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีทางการของบุคคลหรือบริษัทจริง ซึ่งทวิตเตอร์ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ กับผู้ที่ได้รับเครื่องหมายนี้

มหาเศรษฐีเจ้าของหลายบริษัท ระบุว่า การเสนอแผนเก็บค่าบริการ มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบัญชีปลอมในทวิตเตอร์ และย้ำว่าทวิตเตอร์จะไม่พึ่งพาการโฆษณาเพื่อทำรายได้แก่บริษัท

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลา (Tesla) นั่งแท่นซีอีโอคนใหม่ของทวิตเตอร์ ที่เขาเพิ่งปิดดีลซื้อกิจการที่มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

อีลอน มัสก์ ปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัทหลายแห่ง ทั้งบริษัทเทคโนโลยีอวกาศ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทสตาร์ทอัพผลิตชิปใส่สมอง นูรัลลิงค์ (Neuralink) และบริษัทโครงสร้างพื้นฐานด้านอุโมงค์ เดอะ บอริ่ง คอมพานี (the Boring Company) สั่งโละบอร์ดบริหารชุดเก่าของทวิตเตอร์ ทั้งอดีตซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมเสนอแผนในการปรับรูปแบบกระบวนการยืนยันตัวตนของบัญชีทวิตเตอร์ ที่จะเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน จากที่แต่เดิมไม่มีค่าใช้จ่ายในการยืนยันตัวคนในสื่อสังคมออนไลน์นี้

แผนเก็บค่ายืนยันตัวตนในบัญชีทวิตเตอร์ เรียกเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ซึ่งมัสก์ เข้าไปตอบโต้ทวีตแสดงทัศนะของสตีเฟน คิง นักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวอเมริกันที่ระบุว่าเขาจะไม่ยอมจ่ายเงิน 20 ดอลลาร์ (ราวๆ 750 บาท) ต่อเดือน เพื่อรักษาสถานะบัญชีทางการของทวิตเตอร์แน่นอน โดยมัสก์ ตอบกลับไปว่า “แล้ว 8 ดอลลาร์ (ประมาณ 300 บาท) ต่อเดือนล่ะเป็นไง?”

หลังจากการเข้าซื้อกิจการเมื่อสัปดาห์ก่อน มัสก์เดินหน้าอย่างรวดเร็วในการมีบทบาทในทวิตเตอร์ เขาประกาศตนในบทบาทซีอีโอ ในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ ก่อนที่ในเอกสารอีกฉบับที่ยื่นต่อหน่วยงานดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ (31 ต.ค.) มัสก์เผยว่าเขาเป็นผู้บริหารแต่เพียงผู้เดียวของทวิตเตอร์ หลังการเข้าซื้อกิจการ พร้อมเปลี่ยนประวัติย่อของตนในทวิตเตอร์ว่าเป็น “Chief Twit” ซึ่งสื่อถึงแผนการของเขามาก่อนหน้านี้ด้วย และทวีตด้วยว่าแผนการสั่งปลดผู้บริหารยกชุด “เป็นแค่แผนการชั่วคราว”

ด้านพนักงานทวิตเตอร์บางรายที่ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ ระบุว่า พวกเขาได้รับข้อมูลจากมัสก์และฝ่ายบริหารอื่นๆ ของทวิตเตอร์น้อยมาก และต้องพึ่งพาข่าวสารจากสื่อมวลชนในการปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในองค์กรตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ทางทวิตเตอร์ไม่ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่รอยเตอร์ถามว่า มัสก์จะเป็นซีอีโอทวิตเตอร์ต่อไปอีกนานแค่ไหน หรือมีแผนจะว่าจ้างใครมารับตำแหน่งนี้หรือไม่ ในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

ที่มา : ‘อีลอน มัสก์’ เคาะแผนเก็บค่ายืนยันตัวตน 8 ดอลลาร์ต่อเดือน