Skip to main content

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเจ้าของรางวัลแมกไซไซ พร้อมทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เดินทางไปรับฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา (ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) คดีหมายเลขดำที่ อ.2492/2562 ระหว่าง บริษัทเอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อังคณา  นีละไพจิตร จำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามมาตรา  326 และ  328 ประมวลกฎหมายอาญา ในการโพสต์ทวิตเตอร์สนับสนุนให้กำลังใจ สุธารี วรรณศิริ และ งามศุกร์ รัตนเสถียร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน  ซึ่งได้ถูกบริษัทเอกชนรายดังกล่าวฟ้องมาก่อนหน้านี้ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแรงงานของบริษัทเอกชน

โดยวานนี้ (16 ส.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวนี้ และมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยไม่ต้องมีหลักประกัน พร้อมทำสัญญาประกันให้จำเลยมาศาลตามกำหนดนัด และศาลได้นัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย และเตรียมประเด็นในการนำสืบและจะกำหนดนัดวันสืบพยานทั้งฝั่งโจทก์และจำเลย ในวันที่ 26 ต.ค. 2564  เวลา 09.00 น

อังคณา กล่าวว่า ส่วนตัวเคารพคำพิพากษาของศาลที่มีออกมาในวันนี้ แต่ก็ไม่อาจเห็นด้วยได้ เพราะการที่เราเขียนข้อความที่ทวิตเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย หรืออคติต่อผู้ใด ใครเลย ยืนยันต้องสู้คดีต่อไป ซึ่งคดีนี้สู้มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2562  หลังจากนั้นได้รับหมายอีกคดีใน ปีพ.ศ.2563 ก็กลายเป็น 2 คดี ที่เป็นคนฟ้องคนเดียวกัน และพอมีสถานการณ์โควิด ศาลนัดไต่สวนจากฝ่ายโจทก์ที่เป็นผู้กล่าวหาเราฝ่ายเดียว ซึ่งทั้งสองคดีตนใช้ระยะเวลาของการต่อสู้ที่ยาวนานมาก  สำหรับคดีวันนี้ที่ศาลรับฟ้อง ศาลได้นัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย และกำหนดประเด็น และจะโดยกำหนดวันนัดการสืบพยาน ในวันที่ 26 ต.ค. 64 ซึ่งจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด และโดยศาลขอให้คู่ความไกล่เกลี่ยก่อน เรื่องนี้คงอยู่ที่โจทก์ว่าจะยอมถอนฟ้องหรือไม่ เพราะในส่วนตนเองยืนยันไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง

อังคณา กล่าวว่า มีคดีที่โจทก์คนเดียวกันได้ยื่นฟ้องแรงงานข้ามชาติ นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนทั้งหมดรวมทั้งจำนวน คดีเกือบจะ 30 แล้ว ประมาณ 20 กว่าราย รวม 36 คดี ซึ่งส่วนมากศาลจะยกฟ้อง แต่โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อ การฟ้องคดีในลักษณะนี้จึงเป็นภาระแก่ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก บางคนศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง โจทก์ก็ดำเนินการอุธรณ์ ศาลอุธรณ์ไม่รับโจทก์ก็ฎีกาอีก  ทุกเรื่องจะสู้ถึงศาลฎีกาหมด เป็นการสร้างภาระให้กับคนที่ถูกฟ้องเป็นอย่างมาก โดยคดีดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาจากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจำนวน 14 คน มาร้องเรียนที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งจุดเริ่มต้นเริ่มมาจากตรงนั้น โดยกรณีดังกล่าวนี้ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาไปแล้ว เรื่องก็ควรจะจบ  แต่โจทก์ก็ยังมีการฟ้องหมิ่นประมาทกับตนอีก

ด้าน รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในทนายความเจ้าของคดีนี้กล่าวว่า คดีดังกล่าวนี้ ศาลไม่ได้วินิจฉัยในส่วนว่า กรณีการกระทำนั้นเป็นความผิดหรือไม่ ศาลดูเพียงแค่ว่ามีการกระทำนั้นตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่ และศาลยังไม่ได้วินิจฉัยข้อความหรือข้อมูลที่เราซึ่งเป็นฝ่ายจำเลยส่งโต้แย้งไปในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง และส่วนคำร้องตามมาตรา 161/1ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่จำเลยได้ยื่นไว้ว่าเป็นการฟ้องที่ไม่สุจริต ศาลมีความเห็นว่าชั้นนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เท่ากับว่าการดำเนินคดีที่ไต่สวนกันสี่นัดสองปีที่เป็นการใช้เวลาไต่สวนที่ยาวนานมากนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าศาลรับฟังเฉพาะพยานหลักฐานโจทก์เท่านั้น ไม่ได้นำข้อโต้แย้งของจำเลยไปวินิจฉัยประกอบเลย ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา เรื่องหมิ่นประมาท มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าหากเป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความเป็นธรรม หรือในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติดชมด้วยความเป็นธรรม หรือแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม ย่อมไม่เป็นความผิด และหากจำเลยพิสูจน์ได้ว่า ข้อความที่กล่าวนั้นเป็นความจริง ก็ไม่ต้องรับโทษ

ปรานม สมวงศ์ Protection  International กล่าวว่า ในกรณีที่นักปกป้องสิทธิฯจำนวนมากโดยเฉพาะผู้หญิงยังต้องเผชิญกับการถูกฟ้องคดีและต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงในการพิสูจน์เสรีภาพการแสดงความเห็นอันสุจริตของตนในการทำเพื่อประโยชน์ทางสาธารณะ เป็นผลมาจากการที่รัฐล้มเหลวที่จะทำงานให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้าใจและยอมรับถึงการทำบทบาทอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิฯ ตามแผนปฏิบัติการธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่รัฐเองอ้างมาโดยตลอด  แถมรัฐไม่เคยยืนเคียงข้างและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯเหล่านี้ การมาสังเกตการณ์คดีในศาล เพื่อศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาหรือแม้กระทั่งทำงานให้ภาคธุรกิจยุติการฟ้องร้องเป็นสิ่งสำคัญ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้ถูกสื่อสารไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยได้รับการปฏิบัติที่จริงจังจากรัฐ