Skip to main content

สรุป

  • บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงาน 'สมัชชาคนจน' ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับรัฐ แต่ไม่ปฏิเสธคนที่ใช้แนวทางอื่น เพียงต้องประกาศให้ชัดเจน
  • การเคลื่อนไหวที่มีหลายแนวทางหรือหลายกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องตัดให้เหลือเพียงกลุ่มเดียว เพราะแม้วิธีการแตกต่าง แต่เป้าหมายเดียวกัน
  • 'สมัชชาคนจน' สู้กับรัฐแบบไร้ความรุนแรงมานาน ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การกดดันรัฐ และภาพลักษณ์การต่อสู้
  • ตำรวจไทยไม่ทำตามหลักสากลในการปราบปราม แต่นักสันติวิธียังเห็นใจรัฐมากกว่าประชาชน

 

หลังการสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM บริเวณสนามหลวง เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ‘บารมี ชัยรัตน์’ ผู้ประสานงานกลุ่ม ‘สมัชชาคนจน’ ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา เพื่อประณามการปราบปรามของตำรวจควบคุมฝูงชน ขณะเดียวกันก็แสดงความเหนื่อยล้าจากการชุมนุม โดยเล่าถึงเหตุการณ์ที่วัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์จะไปปาขวดใส่ตำรวจแล้วหนีไป แม้จะมีหลายคนห้ามปรามก็ไม่ฟัง จนตัวเขาและผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่งที่หนีไม่ทัน ก็ต้องเจอกับแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง


ดิ โอเพนเนอร์จึงได้ชวนบารมีมาร่วมแบ่งปันมุมมองของคนที่มีประสบการณ์การต่อสู้กับอำนาจรัฐอย่างยาวนานหลายสิบปีของสมัชชาคนจนด้วยวิธีที่ไร้ความรุนแรง ต่อการชุมนุมของ ‘คนรุ่นใหม่’ ความเห็นที่แตกต่างในขบวนการเคลื่อนไหว และการลดทอนการต่อสู้ของประชาชนโดย ‘นักสันติวิธี’

 

 

 

 

“โดยส่วนตัว  ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว” 


บารมีบอกจุดยืนอย่างชัดเจนของตัวเองตั้งแต่ต้นการสัมภาษณ์ แต่การมีจุดยืนที่ชัดเจนของเขา ไม่ได้ทำให้เขาปิดประตูใส่การต่อสู้วิธีอื่นที่คนอื่นๆ เลือกใช้ เขาเพียงต้องการความชัดเจนในการประท้วงแต่ละครั้ง นั่นก็เพื่อให้คนที่จะเข้าร่วมชุมนุมได้พิจารณาว่าขบวนการเคลื่อนไหวไหนใช้วิธีอะไร เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของพวกเขาหรือไม่


“ไม่รู้ เราก็ไม่ใช่นักสันติวิธีพอที่จะนิยามขนาดนั้นได้ แต่สำหรับเรา ก็คือ ถ้าตำรวจตี เราก็หนี ถ้าเราหันไปตีตำรวจ เราก็ไม่ค่อยสันติวิธีแล้ว แต่อาจจะด่าพ่อล้อแม่ตำรวจได้ ไม่ถึงขนาดต้องอหิงสา พูดจาหยาบคายก็ไม่ได้ จิตใจก็ต้องรักเขา เมตตาเขา อะไรแบบนี้ คงไม่ใช่วิสัยนะ อาจจะมีโกรธแค้น ชิงชัง เกลียดชัง พูดจาหยาบคาย แต่ว่าไม่ได้ไปใช้ความรุนแรงทางกายกับเขา”


“เราก็ไม่เคยปฏิเสธนะ ฝ่ายที่อยากจะใช้ความรุนแรง บางคนก็บอกว่า คนเสื้อแดงสู้แบบไม่รุนแรง แต่ก็ถูกปราบตายกันไป 99 ราย จะสู้ก็ไม่แปลก ก็ไม่เป็นไร คุณก็แยกไปสิ เราก็ไม่เห็นด้วยเลยจริงๆ นะ แต่อันนี้พูดแบบประนีประนอมที่สุดแล้ว ถ้าเกิดคุณจะใช้ คุณก็แยกกลุ่มออกไปไง ปัญหาคือคุณไม่กล้า ทำไมคุณไม่แยกกลุ่มออกไปล่ะ มันจะได้ชัดเจนกันไง ไม่อย่างนั้นเนี่ย คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มาเจ็บตัวด้วย มันไม่ได้พร้อมจะมาถูกยิง ไม่ได้พร้อมจะถูกตี ไม่ได้พร้อมที่จะตอบโต้ แต่พร้อมที่จะไปเล่นสเก็ต พร้อมที่จะไปวาดรูป เล่นว่าว อะไรแบบนี้”


บารมีเข้าใจหลายคนที่ต้องการให้การยกระดับการตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะทั้งทรัพยากรของผู้ชุมนุมมีไม่พอจะสู้กับอาวุธของรัฐ หากคิดจะจับอาวุธสู้ก็ต้องประเมินกำลังของตัวเองให้มาก


“ถามว่าเรามีกองกำลังอะไรไปสู้เขา เราไม่ใช่ทหาร เราไม่ใช่ตำรวจ เราไม่มีอาวุธที่ทันสมัย เราไม่เคยฝึกใช้อาวุธมาเลย แล้วเราจะไปสู้กับเขาได้ยังไง สมัยก่อนเคยมีพรรคคอมมิวนิสต์ติดอาวุธ ถึงที่สุดก็สู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราไม่ชอบ [การต่อสู้แบบไร้ความรุนแรง] แต่มันเป็นทางรอด มันเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่เราจำเป็นต้องใช้ แล้วเราก็เชื่อว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้”

 


‘สมัชชาคนจน’ ต่อสู้แบบไร้ความรุนแรงมานาน ก็ยังได้ผลเสมอ


ชื่อของ ‘สมัชชาคนจน’ อยู่ในข่าวการประท้วงเรียกร้องต่อภาครัฐมานานหลายสิบปี จนอาจทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารมากคิดไปว่า วิธีการประท้วงของสมัชชาคนจนไม่ได้ผลนัก แต่บารมีก็มองว่า การประท้วงแบบไร้ความรุนแรงของสมัชชาคนจนก็ได้ผล ทั้งในแง่การรับรู้ของสาธารณะ และในแง่การกดดันรัฐบาล


“ที่ผ่านมาเนี่ย รัฐก็ถูกตำหนิมากกว่าเราถูกตำหนิ เราก็อยู่มาถึงทุกวันนี้ เราก็ไม่ได้ถูกตีตราว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายซะที่ไหนหลายมหาวิทยาลัยก็เอาบทเรียนการต่อสู้ของเราไป ไปสอน หรือเชิญพวกเราไปเป็นวิทยากร เนี่ยคือบทเรียนการต่อสู้แบบสันติวิธี เขาเอาระเบิดมา จะระเบิดแก่งแม่น้ำมูล เราก็ไปนั่งล้อมระเบิดไว้ เขายกเทศกิจมาจะไล่ตี เราก็นิมนต์พระให้สวดมนต์ เราก็นั่งฟังพระสวดมนต์ไป”


“ได้ผลนะครับ แต่มันก็ได้ผลแบบช้าๆ ผมคิดว่ารัฐเองก็มีความหน้าด้านอยู่ระดับหนึ่งนะ อาจจะไม่หน้าด้านก็ได้ แต่กระหายเลือด ถ้าเกิดไม่เห็นความเจ็บปวดอะไรของชาวบ้าน ก็รู้สึกว่าจะไม่ค่อยแก้ไขปัญหาอะไรให้ ไม่ค่อยยอมอะไรให้ เพราะฉะนั้น รัฐจึงชอบใช้ความรุนแรงอยู่เสมอ แต่เราก็ตอบโต้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงอยู่ตลอดเวลาถามว่ามันแก้ไขปัญหาได้ไหม มันก็แก้ไขปัญหาได้นะ”


ตำรวจไทยไม่ทำตามหลักสากลในการปราบการประท้วง


บารมีถอนหายใจเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวว่า ตำรวจไทยไม่ทำตามหลักสากลในการปราบปรามการประท้วง เมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่เขาเคยไปประท้วงที่เดนมาร์ก ตำรวจเดนมาร์กมีขั้นตอนที่ชัดเจนในการปราบปรามการประท้วง อีกทั้งยังมีเวลาให้คนที่ไม่พร้อมจะปะทะได้ตั้งตัวและออกจากพื้นที่การชุมนุมได้ทันเวลา ซึ่งแตกต่างจากตำรวจไทยมาก


“ผมไปประท้วงที่เดนมาร์กมา อุณหภูมิมันประมาณ 4 องศาเซลเซียส พอเขาจะฉีดน้ำ เขาก็ประกาศว่า ‘คุณอย่าเข้ามา คุณเข้ามาในเขตตรงนี้แล้วนะ คุณผิดแล้วนะ คุณออกไปนะ ให้เวลาคุณครึ่งชั่วโมงนะ คุณออกไป เอ้า ผ่านไปแล้ว 15 นาทีนะ ถ้าไม่ออกจะฉีดน้ำนะ เอ้า หมดเวลาแล้ว จะฉีดน้ำแล้วนะ เตรียมตัวหลบนะ น้ำเย็นนะ ฉีดแล้วจะทำให้คุณเป็นไข้ได้นะ เพราะฉะนั้น คุณต้องหลบ อย่าให้มันเปียกนะ ถอยไปนะ เอ้า ฉีดแล้วนะ’ “


"ทุกอย่างมันมีเวลาให้ตั้งตัวหมด ถ้าไม่พร้อมจริงๆ มันฉีดก็เผ่นได้ ไม่ใช่ของเราไม่ทำห่าอะไร ล่อแก๊สน้ำตาแล้ว [กลับไปที่เดนมาร์ก] เอ้า พอฉีดน้ำ ก็หนีไปทีนึง แล้วก็แห่มาใหม่ เดี๋ยวประกาศฉีดน้ำใหม่ เดี๋ยวเลิกฉีดน้ำ [ตำรวจเดนมาร์กประกาศต่อ] ‘ใช้แก๊สน้ำตาแล้วนะ คุณต้องหลบนะ ถ้าไม่หลบให้นั่งอยู่กับพื้นนะ เพราะแก๊สจะลอยขึ้นที่สูง’ แก๊สน้ำตาจะส่งผลต่อร่างกายยังไงบ้าง อันนี้ตำรวจเขาจะบอกหมดเลย


นักสันติวิธีไทยเห็นใจแต่ฝ่ายรัฐ


แม้สมัชชาคนจนจะยึดวิธีการต่อสู้แบบไร้ความรุนแรงมาโดยตลอด แต่บารมีก็ไม่ชอบคำว่า ‘สันติวิธี’ เลย และไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักสันติวิธี’ เพราะคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักสันติวิธีมักมองการต่อสู้ที่แตกต่างไปจากเขามาก


“จริงๆ ก็ไม่ได้ชอบสันติวิธีด้วยซ้ำ ไม่ชอบเอาซะเลยจริงๆ นะ อาจจะไม่ชอบ เพราะว่าเท่าที่เห็น คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักสันติวิธีเนี่ย มักจะทำอะไรเห็นใจฝ่ายรัฐมากกว่าฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา เข้าอกเข้าใจฝ่ายรัฐมากมายเกินไป แต่เข้าอกเข้าใจฝ่ายเราน้อยเกินไป ทั้งที่ฝ่ายเราเป็นฝ่ายถูกกระทำนะ ฝ่ายเราคือชาวบ้าน ประชาชนทั้งหลายเนี่ยคือคนที่ถูกรัฐกดขี่ เอารัดเอาเปรียบมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเนี่ย เวลาเขาลุกขึ้นสู้เมื่อไหร่ ทำไมฝ่ายสันติวิธีต้องมาสนับสนุนฝ่ายรัฐให้กดเราไปอีก”


“สมัชชาคนจนเคยล้อมทำเนียบ ถูกอาจารย์ท่านนึงด่าบอกว่า แบบนี้ไม่ใช่สันติวิธี เอ๊ะ แค่ล้อมทำเนียบ ก็ไม่ใช่สันติวิธีเหรอ ไม่ได้ทำอันตรายใครเลย แต่ว่าทำให้เขาเดือดร้อนคือออกจากทำเนียบไม่ได้ แต่ไม่ได้ล้อมจนเขาอดตาย ถูกป่ะ?”


วิธีต่อสู้แตกต่าง เป้าหมายเดียวกัน


แม้ผู้ชุมนุมจะมีหลากหลาย และใช้วิธีการต่อสู้ที่แตกต่างกัน แต่บารมีก็มองว่า ความแตกต่างในวิธีไม่ใช่ปัญหา และไม่ได้มองว่าใครจะทำให้เสียขบวน ตัวเขาเองก็ยอมรับว่า “ตามไม่ทันคนรุ่นใหม่” เขาไม่ค่อยไม่เข้าใจวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ที่นำการประท้วงในครั้งนี้มากนัก บางครั้งก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยินดีที่จะไป “เป็นจำนวนนับ” ให้กับการชุมนุมครั้งนี้


“คือคนรุ่นใหม่เขาก็เชื่อมั่นเนอะ เชื่อมั่นในวิธีคิด ในวิธีการอะไรของเขา บางทีก็รู้สึกหงุดหงิดบ้างเหมือนกันว่า เฮ้ย ทำไมเตือนแล้วก็ไม่ฟัง แต่ก็รู้สึกว่า เอ้า ไหนๆ เขาอยากจะเรียนรู้ ก็เขาเรียนรู้ได้ มันมีพัฒนาการการชุมนุมมาเรื่อยๆ พัฒนาการในการตอบโต้กับอีกฝ่ายนึง ไปออกรายการทีวี เราก็ได้เห็นพัฒนาการที่ขัดเจนขึ้น”


“ถามว่ามันมาทางเดียวกับเราไหม ก็ไม่ใช่เหมือนกัน ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่สอดคล้องต้องกัน แต่ว่าเขาก็ไปของเขาได้อีกแบบหนึ่ง แต่ว่าเป้าหมายปลายทางก็น่าจะไม่ต่างกัน ตามทฤษฎีของพวกเราเรียนมา อะไรที่ไม่มีแกนนำเนี่ย มันก็เหมือนกรวดเหมือนทราย พอเหมือนกรวดเหมือนทราย เอามากอง มาอะไร โดนน้ำราด โดนลมพัด มันก็อยู่ไม่ได้ใช่ไหม เราชอบแบบที่กล้วยร้อยกันเป็นหวี เชื่อมกันเป็นเครือ ก็ดูเป็นรูปเป็นร่าง แต่อันนี้เขาก็อาจจะคิดว่า เออ ไม่แน่นะ เป็นกรวดเป็นทรายอาจจะง่ายกว่า พอถูกฟันไปแล้ว ถูกทำลายไปแล้ว มันก็ยังเป็นกรวดเป็นทรายอยู่เหมือนเดิม มันก็มองได้หลายแบบ ผมคิดว่าอย่าไปตัดสิน”


“ผมก็ไม่เคยว่านะ เราก็เอาบทเรียนของเรา ประสบการณ์ของเรา หรือคำครูบาอาจารย์ที่สอนสั่งมา มาเล่าให้ฟังเฉยๆ ส่วนเขาจะฟังหรือไม่ฟังนี่อีกเรื่องนึง แต่เราจะไปหรือไม่ไป มันก็เป็นอีกเรื่องนึงใช่ไหม ถ้ารู้สึกว่าเออ อันนี้ไปได้ก็ไป ไปถึงแล้วถูกไล่ตีไล่ยิงก็หนี อันไหนไปแล้วเฮฮา กลับมาแล้วก็เฮฮา เป็นธรรมดา”


บารมีมองว่า การมีหลายกลุ่มขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดา ผู้ชุมนุมก็เลือกไปชุมนุมกับกลุ่มที่มีแนวทางเดียวกัน ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ชุมนุมจะต้องกำจัดกลุ่มอื่นที่มีแนวทางการต่อสู้แตกต่างจากตัวเองออกไป เพราะสุดท้ายแล้ว พวกเขาก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ต้องการความเปลี่ยนแปลง"


“พอรู้แล้ว [ว่าการประท้วงไม่มีแกนนำ] เราจะไปหรือไม่ไป อย่างนี้มากกว่า จริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องมีแกนนำ ไม่มีแกนนำอย่างเดียวหรอก จะยั่วยุหรือไม่ยั่วยุ หรือจะมีประเด็นที่ชัดเจนหรือไม่มีประเด็นที่ชัดเจน อย่างเช่น ไปรวมตัวกันเพื่อลดอำนาจกษัตริย์ใช่ไหม แล้วถามว่าลดอำนาจกษัตริย์ยังไงก็ไม่รู้ แต่วันที่มายด์เขาประกาศ กองทัพต้องเป็นอันเดียวกัน อันนั้นก็อาจจะดูจับต้องได้มากกว่าอะไรอย่างงี้ มันก็แล้วแต่ยังไงก็ตามเนี่ย มันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น”


“แม้กระทั่งพวกที่ออกมาชุมนุมแล้วตัดเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ออก ไล่ประยุทธ์ออกไปอย่างเดียว ผมก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะไปลดทอนอะไรนะ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะทำ มันก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเขาออกมาชักชวนอย่างนี้แล้ว ถ้าคนไม่เห็นด้วย เขาก็จะเหลือคนเท่าที่ยังเห็นด้วยกับเขาเท่านั้นเอง เขาก็คงเห็นเองว่ามันจะไปรอดหรือไปไม่รอด”


“ปัญหาคือว่า พวกเราเนี่ย พอมันเห็นมี 2-3 กลุ่มแล้วก็พยายามจะตัดให้ได้ ให้เหลืออันใดอันหนึ่ง ถามว่ามันจำเป็นไหม ไม่จำเป็นหรอก ก๋วยเตี๋ยวมีหลายเจ้า เราก็เลือกกินทุกเจ้าก็ได้ แต่ถึงที่สุดเราติดใจเจ้าไหน เราก็กินเจ้านั้นประจำ แต่ถึงที่สุด อาจจะอยู่ได้ทั้ง 3 ร้านก็ได้ เพียงแต่ร้านนึงอาจจะเล็กหน่อย อีกร้านขยายกิจการได้มาก”


แกนนำถูกจับไปแล้ว ก็จะมีแกนนำใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ


เมื่อแกนนำการชุมนุมในรอบนี้ถูกจับกุมกันเกือบหมด ทำให้ผู้ชุมนุมหลายคนเกิดความกังวลว่า การจับกุมแกนนำทั้งหมด จะทำให้กระแสการชุมนุมซาลง แล้วจะสูญเสียห้วงเวลาสำคัญในการการต่อสู้กับรัฐ แต่บารมีย้ำว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระยะยาว และการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว ไม่อาจย้อนคืนไปเหมือนเดิมได้อีก


“มันก็มีแกนนำรุ่นใหม่ๆ โผล่ขึ้นมา เกิดขึ้นมาอยู่เสมอไม่ใช่หรอ พวกนั้นติดคุกก็อาจจะรออีก 2 ปีก็ได้ พวก ‘นักเรียนเลว’ ขึ้นมานำก็ได้ อาจจะค่อยๆ บ่มเพาะ รอจน ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ โตขึ้นมา จนเข้ามหาวิทยาลัย ออกมานำ สมมติว่าพวกนั้นติดคุกจริงๆ น่ะนะ ต้องโทษจริงๆ”


“ไม่เห็นแปลก การชุมนุมมันไม่ได้จบในวันในพรุ่ง ผมนี่คิด ก็บอกแล้วว่ากันว่า 10 ปี 20 ปี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ตอนนี้มันมีเชื้ออยู่แล้ว แล้วเชื้อนี้ไม่ดับไปแน่นอน ไม่มีทางอะไรที่จะหยุดชะงักความคิดนี้ไว้ได้อีกแล้ว หมายถึงความคิดในการปฏิรูปสถาบันฯ ความคิดในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีทางหยุดได้อีกแล้ว เพียงแต่ว่ามันจะปะทุขึ้นมาตอนไหน มันจะเกิดจากเหตุการณ์อะไรที่มันจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต หรือว่าจะเกิดปัญหาอะไรสาหัสสากัน เกิดอัศวินม้าขาวขึ้นมา”


“เรื่องพวกนี้ เราต้องให้โอกาส แล้วก็รอมัน แล้วคนที่เขาต้องการแกนนำ เขาก็รอได้ โอเค ตอนนี้ไม่มีแกนนำ ไม่ออกมา ก็หลบอยู่เฉยๆ ก่อน แต่ถ้าทันใดที่มีแกนนำ ผมเชื่อทันทีเลยว่า เขาพร้อมที่จะออกมา”