Skip to main content

“บางครั้งสิ่งที่เราไม่สามารถเปลี่ยนมันได้ สุดท้ายสิ่งนั้นก็เปลี่ยนเราแทน”

                                                                              (ไม่ทราบแหล่งที่มา)

              การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในที่ต่างๆทั่วโลกปะทุขึ้นเป็นจำนวนมากตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านสู่สหัสวรรษใหม่ เหมือนเป็นสัญญาณถึงการต่อสู้เปลี่ยนแปลงของสังคมแบบเก่า-สังคมแบบใหม่ แนวความคิดแบบเก่า-แนวความคิดแบบใหม่ ด้วยรูปแบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ความเชื่อมโยงของพลเมืองโลกต่อกันมากขึ้น ก็ทำให้รูปแบบการเคลื่อนไหวสังคมเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามคำถามที่มักจะปรากฏเสมอคือ ถึงแม้มีคนสนับสนุนจำนวนมากแต่ทำไมไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง หรือจำนวนคนเข้าร่วมลงมือทำไมถึงน้อยกว่าจำนวนผู้ที่สนับสนุน?

นโยบายสาธารณะกับสนามแข่งขันเพื่อแย่งเค้กชิ้นเดียว

            การเคลื่อนไหวสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลงแน่นอนว่ามีหลากหลายวิธี อย่างไรก็ตามถ้าจุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องการเปลี่ยนแปลงสถาบันสังคม สถาบันการเมือง-เศรษฐกิจต่างๆที่เป็นองคาพยพลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนารากลึกแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถ้าจะให้สัมฤทธิ์ได้ก็ต้องมุ่งเข้าสู่ศูนย์ใจกลางของอำนาจรัฐ เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือนโยบายสาธารณะ

              อย่างไรก็ตามนโยบายสาธารณะก็เสมือนหนึ่งก้อนเค้กชิ้นเดียววางไว้ตรงกลาง โดยมีผู้คนมากมายรายล้อม กลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งผลประโยชน์ที่เหมือนกันหรือต่างกัน ความเห็นเหมือนกันหรือต่างกัน ล้วนอยากจะเข้ามาคว้าเค้กชิ้นนั้นด้วยเช่นกัน การจะให้นโยบายสาธารณะเป็นไปในทิศทางที่เราต้องการจึงก็ต้องเข้าไปแข่งขันในสนามการเมืองกับผู้เล่นอื่นๆ ยิ่งถ้าเรามีอำนาจต่อรองมากเท่าไรโอกาสที่จะคว้าเค้กชิ้นนั้นก็มากขึ้นเท่านั้น

              ในโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย อำนาจในการต่อรองของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาพร้อมอำนาจในมือสุดจะหยั่งรู้ได้ ในขณะที่บางคนเกิดมาเพื่อรองรับอำนาจของคนอื่นโดยไม่มีอำนาจต่อรองใด อย่างไรก็ตามความโหดร้ายนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ต้อยต่ำจะพ่ายแพ้แก่ผู้มีอำนาจทุกครา หนทางชนะในเกมส์การเมืองนั้นมีได้ถ้าเหล่ามดตัวเล็กๆรวมตัวกันเป็นจำนวนมากก็ต่อสู้พญาคชสารได้

อุดมการณ์การเมือง

            ดังนั้นการเคลื่อนไหวการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงของคนตัวเล็กๆจึงต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเข้าไปต่อรองสนามการเมืองเสมอ ซึ่งการที่คนต่างๆจะมาร่วมสังคายนาได้แล้ว จุดเริ่มต้นคือต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน อุดมการณ์ คือ สิ่งที่อธิบายว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกควรเป็นอย่างไร โลกที่ควรจะเป็นควรเป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ 

              อุดมการณ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับนโยบายสาธารณะ? เพราะว่า อุดมการณ์ช่วยกระตุ้นให้มนุษย์ขับเคลื่อนเข้าเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไปตามสิ่งที่เราเชื่อ โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นไปได้ในลักษณะตนเองได้ประโยชน์ เช่น การเคลื่อนไหวให้มีนโยบายสาธารณะเพื่อเพิ่มสวัสดิการแก่ประชาชน หรือในลักษณะที่เราไม่ได้ประโยชน์เลยก็ได้ เช่น การที่เราเป็นคนในตระกูลร่ำรวย แต่รู้สึกถึงความบิดเบี้ยวของโลก และอยากให้โลกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ถึงแม้ตนเองต้องเสียประโยชน์จากกการต้องเสียภาษีมรดกมากขึ้นเพื่อให้รัฐนำไปใช้ในนโยบายสวัสดิการสังคม

              การรวมกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เป้าหมายตรงกัน จึงสำคัญในการเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การเลือกอย่างมีเหตุผลของสมาชิก

            อุดมการณ์คือ แรงผลักดันให้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ก็ยังคงเป็นแค่ความฝันตราบใดที่ไม่มีการลงมือปฏิบัติเกิดขึ้นจริง การรวมกลุ่มของสมาชิกอุดมการณ์เดียวกันจะไม่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองใดๆในสนามการเมืองเลย ตราบใดที่สมาชิกเหล่านั้นต่างนิ่งเฉย ไม่เข้าร่วมผูกมัดกับองค์กร หรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวสังคมที่ดีพอให้ผู้อื่นเห็นคล้อยตามได้

              อย่างไรก็ตามปัญหาที่มักพบในทุกองค์กรรวมกลุ่มการเมืองคือ ความเฉื่อยชาในการเข้าร่วมกิจกรรมการเมือง Olson(1965) ได้ใช้กรอบแนวคิดการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice) มาอธิบายสาเหตุที่สมาชิกกลุ่มการเมืองมักจะมีพฤติกรรมเป็น Free rider (พฤติกรรมที่บุคคลได้ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยที่ไม่อยากสูญเสียใดๆเลย) เนื่องจากการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้นโยบายสาธารณะนั้น ผลของการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับทุกคนโดยไม่สามารถกีดกันได้ ไม่ว่าคนนั้นจะลงแรงมากหรือน้อยก็ตาม สุดท้าย(ถ้า)มีการเปลี่ยนแปลงเขาก็ได้ประโยชน์อยู่ดี ดังนั้นจะลงแรงทำไม

              สมมติฐานที่สมาชิกทุกคนเป็นมนุษย์เศรษฐศาสตร์ที่คำนวณผลได้ผลเสียในการกระทำทุกครั้งทำให้เขาเหล่านั้นจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคถ้าประเมินว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเขามันไม่คุ้มกับผลได้ที่ตัวเองจะได้ ดังนั้น Olson จึงเสนอว่าต้องมีการกระตุ้นให้เข้าร่วมด้วยการไปเพิ่มผลประโยชน์ที่ได้นอกเหนือจากผลประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการเปลี่ยนแปลง หรืออีกวิธีเข้าไปลดต้นทุนที่ต้องเสียของสมาชิกในการเข้าร่วมกิจกรรม

              การไปกระตุ้นเพิ่มผลประโยชน์เฉพาะบุคคล สามารถเป็นไปได้ทั้งในรูปของวัตถุหรือไม่ใช่วัตถุ เช่น เงินทอง สัญญาว่าจะให้รางวัล ตำแหน่ง ชื่อเสียง หรืออาจเป็นทั้งในรูปของการลงโทษกรณีที่ไม่ร่วมชุมนุมก็ได้ เช่น การลงโทษไล่ออกกรณีที่ไม่เข้าร่วมทำกิจกรรมของกลุ่มหรือ ทำกิจกรรมนอกเหนือจากตกลงไว้ในกลุ่มเป็นต้น ส่วนการลดความสูญเสียกรณีที่เข้าร่วมกิจกรรม ตัวอย่างเช่น การให้ข้อมูลข่าวสาร หามาตรการป้องกันอุบัติเหตุในขณะที่เกิดความเคลื่อนไหว หลีกเลี่ยงการปะทะ เป็นต้น

บทบาทหน้าที่แกนนำ

            แกนนำจึงมีหน้าที่สำคัญในการรวบรวมสมาชิก และกระตุ้นสมาชิกให้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยวิธีต่างๆ กำหนดแนวทางในการต่อสู้และทำกิจกรรม สร้างความกลมกลืนภายในกลุ่ม ลดความขัดแย้งภายในของมุ้งย่อยๆ ภายใน เพื่อสร้างให้กลุ่มการเมืองมีอำนาจต่อรองมากขึ้น รวมทั้งแกนนำก็มีหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มไปเจรจาต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่เข้ามาแย่งเค้กก้อนเดียวกัน

อย่างไรก็ตามตัวแกนนำเองก็เป็นมนุษย์ที่มีการเลือกอย่างมีเหตุผลเช่นเดียวกัน และจะเลือกเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองตราบใดที่ผลประโยชน์ที่ได้มากกว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่ต้องระวังคือ แกนนำที่มีลักษณะ “ผู้ประกอบการการเมือง” กล่าวคือ ผู้ที่มีความสามารถในการระดมสมาชิกและทรัพยากรเพื่อใช้ในการต่อสู้ของกลุ่มการเมือง โดยตัวเขาเองก็มุ่งหวังเข้าครอบครองส่วนเกินที่จะได้ไว้เมื่อมีการผลักดันนโนยบายสาธารณะตามที่กลุ่มต้องการสัมฤทธิ์ผล สมาชิกในพรรคจึงต้องมีกลไกในการตรวจสอบการทำงานของแกนนำด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันมิให้แกนนำหาผลประโยชน์ส่วนเกินไปผู้เดียว เช่น หามาตรการสังคมกดดันให้แกนนำมีพฤติกรรมการเจรจาต่อรองกับกลุ่มอื่นโดยคำนึงถึงแนวทางของกลุ่มเองเป็นหลักมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

ข้อจำกัดของการเลือกอย่างมีเหตุผล

                   แบบจำลองดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่าทุกคนเป็นมนุษย์เศรษฐศาสตร์ที่เลือกเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองโดยชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้ผลเสียเสมอ มนุษย์ที่ประเมินว่าตนเองได้ไม่คุ้มเสียก็ไม่อยากจะเข้าร่วมทำอะไรทั้งนั้น อาจจะตัดสินคอยช่วยเหลือห่างๆอย่างห่วงๆแทน โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารและโซเชียลมีเดียอำนวยให้การเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองแบบสมมติเกิดขึ้นง่ายๆเพียงปลายนิ้วหรือคอมเม้นต์

              อย่างไรก็ตาม มนุษย์ที่แท้จริงนั้นไม่ใช่มนุษย์เศรษฐศาสตร์ตลอดเวลา แต่เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อชีวิต และจิตวิญญาณ การตัดสินใจของมนุษย์ซับซ้อนกว่าที่จะใช้กฎเกณฑ์เฉพาะผลได้-ผลเสียเท่านั้น กรอบวิธีคิดข้างต้นจะไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า เหตุใดเยาวรุ่นไทยถึงมีความกล้าหาญบ้าบิ่นเข้าต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อพวกเขาเห็นความไม่ยุติธรรม ไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในเมืองไทย กรอบวิธีคิดข้างต้นจะไม่สามารถอธิบายได้เลยเมื่อเขาเสียสละอิสรภาพตนเองเพื่อจะพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

              การที่ดูเหมือนว่ามีคนเห็นด้วยสนับสนุนเต็มไปหมดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่กลับว่าจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆกลับน้อยกว่าที่คิดจำนวนมาก อาจเป็นไปได้ว่า “เพราะเรามีการคิดในลักษณะชั่งน้ำหนักผลได้ผลเสียส่วนบุคคลมากเกินไป ทั้งกลุ่มคนที่เป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลง และสมาชิกทั่วไปที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง”