ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยจิรทัศน์ ไกรเดชา ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย, อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการ และกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย, ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย, อาทิตย์ ภาคอินทรีย์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569
ปลอดประสพ กล่าวว่า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร หรือเจ้าพระยา 2 เป็นส่วนย่อยของโมดูลที่ 5 ของโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยโครงการคลองลัดน้ำแห่งนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกแบบระยะทางทั้งหมดอยู่ที่ 30 กิโลเมตร แต่รัฐบาลนี้สร้างระยะทาง 22 กิโลเมตร จะสามารถระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยทอยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมื่อรวมเข้ากับน้ำจากแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี ซึ่งมีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เหลือน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดปริมาณน้ำไม่ให้เอ่อล้นเข้าสู่พื้นที่พระนครศรีอยุธยาตอนล่างได้
ทั้งนี้ คลองลัดน้ำบางบาล-บางไทร จะช่วยระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ทั้งผืน แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องสร้างคลองลัดน้ำเส้นหนึ่ง โดยเริ่มที่จังหวัดนครสวรรค์ลงมาทางจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้บรรจุไว้ในแผนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งการก่อสร้างจะต้องเป็นไปในแบบ (Design and Build) หรือออกแบบไปสร้างไป ซึ่งสร้างเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีกรอบโครงการ และกรอบวงเงินงบประมาณ มีความยืดหยุ่นและปรับแบบได้ ลักษณะเดียวกันกับการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เป็นลักษณะ Design and Build เช่นกัน
สำหรับการบริหารสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ปลอดประสพ กล่าวว่า ขอออกความเห็นในแบบนักวิชาการ ปีนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ตัดสินใจเอาน้ำเข้าทุ่งช้าเกินไป ไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากการประเมินสถานการณ์โดยคำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการ หรือเหตุผลทางการเมืองกันแน่ ตอนนี้สามารถระบายน้ำเข้า 6 ทุ่ง จากทั้งหมด 11 ทุ่ง ยังเหลือพื้นที่อีกมากที่จะระบายน้ำออก
นอกจากนี้ยังขอเตือนรัฐบาลด้วยความห่วงใยประชาชน ขณะนี้น้ำท่วมในพื้นท่ีภาคอีสานใต้น่าเป็นห่วงมาก น้ำจากแม่น้ำชีที่มาจากจังหวัดชัยภูมิ เมื่อรวมเข้ากับลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จะทำให้จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานนับเดือน ส่วนแม่น้ำมูลที่มาจากจังหวัดนครราชสีมา ไหลลงสู่ถนนมิตรภาพมาที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดลพบุรี เข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้น้ำท่วมสูงที่จังหวัดอุบลราชธานีและน้ำจะลดลงช้า ทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลตัดสินใจล่าช้า จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีความรู้ใหม่ๆ และปรับใช้ให้ทันการณ์ด้วย
“การวางแผนโครงการใหญ่ของประเทศ ต้องคิดกรณีเลวร้ายที่สุด ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่เกิดมาเพื่อรอความเสี่ยง โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท พรรคเพื่อไทยทำเสร็จหมดแล้ว พอทำรัฐประหาร พวกท่านเอาใส่ลิ้นชักไว้ตั้งนาน ไม่ทำ กู้ไว้แล้วแต่ไม่ยอมทำ พอทำแล้วก็มาออกแบบใหม่แทนที่จะใช้แบบเดิม กว่าจะสร้างเสร็จ อีก 3 ปี จากนี้ไปประชาชนต้องทรมานสังขารแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ทำแล้วก็ขอขอบคุณ ส่วนโครงการที่เหลืออีกหลายโมดูล พวกท่านไม่ต้องทำ รอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเขามาทำจะดีกว่า” ปลอดประสพ กล่าว
จิรทัศ ไกรเดชา ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเกือบเทียบเท่ากับปี 2554 พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเกือบครึ่งจังหวัด ทั้งในอำเภอผักไห่ เสนา บางบาล บางปะอิน บางไทร ขณะที่เมื่อวานนี้ (5 ต.ค.65) พี่น้องประชาชนมีการปะทะกันขอให้เปิดการระบายน้ำในพื้นที่ เพราะตอนนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกปล่อยเกือบ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงอยากให้กรมชลประทานสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน
สำหรับการก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พระนครศรีอยุธยาระยะการก่อสร้าง 22 กิโลเมตร ดำเนินการก่อสร้างแล้ว มีผู้รับเหมา 5 ผู้รับเหมา น่าเสียดายที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการสางแผนบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างเป็นระบบ มาตั้งแต่หลังเกิดน้ำท่วมปี 2554 หากดำเนินการในวันนั้น พี่น้องประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบ เกิดปัญหาบานปลายมาถึงทุกวันนี้
“เราเข้ามาสำรวจการดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เราจะเฝ้าติดตาม อีกไม่กี่เดือนจะมีการเลือกตั้ง ถ้าเป็นรัฐบาลเราจะให้ความสำคัญกับน้ำท่วมในอยุธยาและจังหวัดอื่นๆ เราจะรื้อฟื้นโครงการ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยพี่น้องประชาชนอีก แม้ติดกฎเหล็ก 180 วันของ กกต. แต่พรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน เราจะช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ตามกฎหมายกำหนด” จิรทัศน์ กล่าว
หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่แยกมิยาซาว่า หรือ แยกวัดกอไผ่ จุดพิพาทชาวบ้านเรื่องการผันน้ำลงทุ่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจิรทัศ กล่าวว่า น่าสลดใจที่ผู้มีอำนาจไม่เข้ามาชี้แจงทำความเข้าใจหลักการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน ทุกวันนี้พวกเขาอยู่ด้วยความหวาดระแวงว่าน้ำจะเข้าท่วมบ้านเมื่อไหร่
วัฒนะ สุวรรณผล ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ กล่าวว่า เมื่อก่อนน้ำท่วมเต็มพื้นที่ยังไม่ถึงเสาเรือนบ้านทรงไทย แต่ปัจจุบันต้องยกพื้นบ้านทรงไทยขึ้นอีก การบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ อำเภอบางบาล ไม่ใช่ที่ลุ่มแห่งเดียว แต่เป็นพื้นที่ลุ่มภาคกลาง จึงต้องกระจายน้ำให้หมดในทุกพื้นที่ในทุกจังหวัดภาคกลางด้วย