Skip to main content

สรุป

  • หลายประเทศเริ่มพิจารณาแนวทาง ‘วัคซีนเสรี’ ที่เปิดทางให้เอกชนเป็นผู้นำเข้าและจัดการกระจายวัคซีนโควิดไปยังประชาชน

  • ฝ่ายสนับสนุนแนวทางนี้เชื่อว่าถ้าประชาชนได้ฉีดวัคซีนเร็ว ก็จะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้เร็วขึ้น และประชาชนควรมี ‘ทางเลือก’ มากกว่าสิ่งที่รัฐเสนอ เพราะบางประเทศ ประชาชนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ฝ่ายที่คัดค้านมองว่าถ้าปล่อยให้เอกชนมีส่วนร่วมจัดการวัคซีนโควิด จะยิ่งทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง และขยายความเหลื่อมล้ำในสังคม พร้อมย้ำว่า “ระบบสาธารณสุขไม่ควรถูกแทรกแซงด้วยปัจจัยทางธุรกิจ" เพราะอาจนำไปสู่การกักตุนสินค้า ปั่นราคา และปลอมแปลงสินค้าเพื่อทำกำไร

  • ขณะที่รายงาน UNODC เตือนว่า บทบาทของกลุ่มทุนในกระบวนการจัดหาวัคซีนอาจทำให้รัฐเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตการติดสินบน เพราะบริษัทเอกชนอยากมีอำนาจแทรกแซงหรือกดดันการตัดสินใจของรัฐบาล เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อบริษัท

หลายประเทศไฟเขียวให้จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 มากระจายให้เอกชน รวมถึงการอนุมัติให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศ โดยกรณีของ ‘อินโดนีเซีย’’ รัฐบาลมีมติเมื่อต้นเดือน มี.ค.ให้บริษัท ‘ไบโอฟาร์มา’ กิจการรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้นำเข้าวัคซีนโควิด 20.2 ล้านโดสจากบริษัทต่างชาติ เพื่อนำไปใช้กับบริษัทเอกชนในประเทศครึ่งหลังของปี 2564 และถือเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่ประกาศชัดเจนเรื่องการจัดซื้อจัดหาวัคซีนของภาคเอกชน

ตามด้วย ‘ฟิลิปปินส์’ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลอนุมัติให้บริษัทเอกชนสามารถจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิดมาใช้งานกับพนักงานและผู้เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจได้โดยตรง โดยจะออกหนังสืออนุญาตการนำเข้าเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งระบุว่าจะยกเว้นการเก็บภาษีแก่บริษัทเอกชนที่สั่งซื้อวัคซีนมาฉีดให้พนักงานของตัวเอง เพราะถือว่ามีส่วนช่วยให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการต่อได้

ขณะที่มาเลเซียประกาศวันเดียวกับฟิลิปปินส์ว่าจะอนุญาตการนำเข้าวัคซีนเพื่อใช้กับภาคเอกชนเช่นกัน แต่จะเริ่มในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนจะไม่ขาดแคลน เพราะรัฐจะต้องฉีดให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทเอกชนจัดหาวัคซีนโควิดมาฉีดให้แก่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของตัวเองได้ รวมถึงสหรัฐอเมริกา โคลอมเบีย เลบานอน ปากีสถาน แต่กรณีของ ‘เคนยา’ รัฐบาลเพิ่งสั่งระงับการนำเข้าวัคซีนสปุตนิกของรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่าตรวจพบเรื่องผิดปกติในกระบวนการนำเข้า

แต่ละประเทศวางแผนเรื่องวัคซีนกันยังไง?

อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งเป้นสมาชิกอาเซียนช่นเดียวกับไทย ประกาศว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ราว 60-70% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศช่วงปี 2564-2565 ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) วางแผนเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในระยะยาว โดยประเมินว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี ถึงจะได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยครอบคลุมประชากรของอียูทั้งหมดได้ แต่ประเทศสมาชิกอียูต้องสนับสนุนการลงทุน การวิจัยและพัฒนาด้านวัคซีนควบคู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดไปพร้อมกัน

ส่วนวัคซีน 8 ตัวที่อียูให้การรับรองให้สามารถใช้งานในภาวะฉุกเฉินได้ ประกอบด้วยวัคซีนของไบโอเอ็นเทค-ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, แอสตราเซเนกา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือเจแอนด์เจ ส่วนวัคซีนที่กำลังรอการประเมินผลทางคลินิก ได้แก่ ซาโนฟี-จีเอสเคและเคียวแวค

Caniceus-15612619/ Pixabay

กรณีของไทย รัฐบาลถูกสังคมตั้งคำถามอย่างหนักจากการเลือกวัคซีนเพียง 2 ตัว คือ แอสตราเซเนกาและโคโรนาแวค จากบริษัทซิโนแวค ล่าสุด ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวในวันที่ 9 เม.ย.2564 ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติให้ดำเนินการจัดหา ‘วัคซีนทางเลือก’ ให้แก่ประชาชน โดยจะเปิดทางให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมอีก 4 แบรนด์ รวมของเดิมอีก 4 แบรนด์ และจะกระจายไปให้โรงพยาบาลเอกชนให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนโดยไม่รอการกระจายของหน่วยงานภาครัฐ 

ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นหลังเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีมีรัฐมนตรีและอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ติดโควิดระลอกใหม่ที่ตรวจพบช่วงต้นเดือน เม.ย. และก่อนหน้านี้ ‘ไตรศุลี ไตรสรณกุล’ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยแถลงโต้ข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน ‘วัคซีนเสรี’ โดยเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนในการจัดซื้อจัดหาและให้บริการฉีดวัคซีน

มติชนรายงานอ้างอิงคำแถลงของรองโฆษกฯ ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ขัดขวางเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีน แต่เพราะมีความต้องการวัคซีนทั่วโลกสูงกว่าความสามารถในการผลิต ทำให้เอกชนเองก็หาวัคซีนไม่ได้ และผู้ผลิตวัคซีนหลายรายไม่ขายให้รายย่อย เพราะกังวลเรื่องการขออนุญาตนำเข้าเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ค่อนข้างสวนทางกับประเทศอื่นที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะประเทศเหล่านั้นสามารถดำเนินนโยบายในระดับประเทศเพื่อเตรียมการให้เอกชนมีส่วนร่วมจัดซื้อจัดหาวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

ส่วนวัคซีนที่องค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยรับรองและจะพิจารณารับรองการใช้งานล่าสุด มี 8 ตัว คือ (1) โคโรนาแวค ของบริษัทซิโนแวค (2) AZD 1222 ของแอสตราเซเนกา-ออกซ์ฟอร์ด (3) AZD 1222 ของบริษัทเอสเค ไบโอไซเอนซ์ในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเครือของแอสตราเซเนกา-ออกซ์ฟอร์ด (4) Ad26.COV2.S ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (5) โทซินาเมแรน ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค (6) โควิชิลด์ ของสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (7) mRNA-1273 ของบริษัทโมเดอร์นา และ (8) ซิโนฟาร์มของสถาบันยาชีววัตถุปักกิ่ง

ข้อถกเถียงเรื่อง ‘วัคซีนเสรี’ บทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน

ในฐานะที่ ‘อินโดนีเซีย’ เป็นประเทศแรกของอาเซียนที่ชัดเจนเรื่องกลไกอนุญาตให้บริษัทเอกชนจัดซื้อวัคซีนไปใช้กับพนักงานของตัวเอง ทำให้มีการถกเถียงไปบ้างแล้วในเรื่องข้อดี-ข้อเสียเรื่องวัคซีนเสรี หรือการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมจัดซื้อจัดหาวัคซีน โดยที่ไทยอาจเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านได้

สำนักข่าว Reuters รายงานว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีสถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มอาเซียน จึงมีเสียงเรียกร้องต่อรัฐบาลให้อนุญาตเอกชนจัดซื้อจัดหาวัคซีนเอง ซึ่งผู้ที่เป็นหัวหอกในการเรียกร้องก็คือสภาหอการค้าอินโดนีเซีย และรัฐบาลรับลูกต่อด้วยการรับเรื่องมาพิจารณาและลงมติเห็นชอบให้บริษัทรัฐวิสาหกิจ ‘ไบโอฟาร์มา’ เป็นผู้นำเข้ามากระจายต่อไปยังภาคเอกชนในประเทศ

กระแสวัคซีนเสรีในอินโดนีเซีย มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน โดยผู้สนับสนุนมองว่าวิธีนี้เป็น ‘ข้อดี’ ที่จะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 มากขึ้น ซึ่ง พญ.นาเดีย วิเคโก โฆษกกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์ Aljazeera เมื่อกลางเดือน มี.ค.ว่า การเปิดให้เอกชนจัดซื้อวัคซีนไปฉีดให้แก่พนักงานของตัวเอง (1) จะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคมได้เร็วขึ้น และ (2) ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียจะไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบเศรษฐกิจไปมากกว่านี้

Geralt/ Pixabay

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ปฏิบัติงานในภาคประชาสังคมกลับมองว่าวิธีการนี้สุ่มเสี่ยงและมี ‘ข้อเสีย’ มากกว่า โดย นพ.ดิกี บูดินัน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายรับมือโรคระบาดของอินโดนีเซียมานานกว่า 20 ปี ระบุว่า (1) วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นของระบบสาธารณสุข ไม่ควรนำปัจจัยทางเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง เพราะสุดท้ายแล้วกลไกตลาดจะมีอำนาจเหนือทุกอย่าง และความต้องการวัคซีนอาจจะนำไปสู่การกักตุนสินค้าหรือการปลอมแปลงสินค้าเพื่อนำไปขายทำกำไร

 (2) การสนับสนุนวัคซีนเสรีจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ และความแตกแยกในสังคมมากขึ้น เพราะคนบางกลุ่มจะได้รับวัคซีนก่อน ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกเชิงลบว่าบางคนเป็น ‘พลเมืองชั้นหนึ่ง’ บางคนเป็นแค่ ‘พลเมืองชั้นสอง’ และ นพ.บูดินันระบุด้วยว่า การที่รัฐบาลพึ่งพาเอกชนในการจัดหาและกระจายวัคซีน เป็นตัวบ่งชี้ว่ารัฐไม่ได้มีประสิทธิภาพเพียงพอในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในสถานการณ์โรคระบาด และการผลักภาระเรื่องวัคซีนไปให้เอกชนทำให้รัฐไม่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง

ข้อควรระวัง ‘คอร์รัปชัน’ ในกระบวนการจัดหาวัคซีน

นอกจากการถกเถียงเรื่องวัคซีนเสรี สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ยังได้เผยแพร่รายงาน COVID-19 VACCINES AND CORRUPTION RISKS ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิดทั่วโลกออกมาเช่นกัน เพื่อเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรตรวจสอบการทุจริต 

เนื้อหาตอนหนึ่งของรายงาน ระบุว่า ขณะที่เกิดวิกฤตด้านสุขภาพและสาธารณสุข รัฐบาลจำเป็นต้องตรึงราคาวัคซีน เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ แต่มาตรการนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การทุจริตทั้งกระบวนการผลิตและกระจายสินค้า เพราะภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่ อาจหาทางแทรกแซงหรือกดดันการตัดสินใจของรัฐบาล ทั้งในระดับนโยบายและระดับผู้ปฏิบัติการ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคลากรด้านสาธารณสุขตกเป็นเป้าของการติดสินบนและการแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ต้องการได้รับเลือกเป็นผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายสิ่งที่จำเป็นต่อการป้องกันและควบคุมโรค

รายงานของยูเอ็นโอดีซีจึงเตือนว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ อย่างโปร่งใส ควรเปิดให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งคำถาม และสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหา โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน เพื่อการปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ เหมาะสมกับกลุ่มประชากร และได้สัดส่วนกับงบประมาณและเวลาดำเนินการ

อ่านเพิ่มเติม:

EU Vaccines Strategy
COVID-19 VACCINES AND CORRUPTION RISKS