Skip to main content

สรุป

  • ทวิตเตอร์’ เปิดตัวอีโมจิ ‘ชานม’ เพื่อรำลึกวันครบรอบ 1 ปีการถือกำเนิด ‘พันธมิตรชานม’ หรือ Milk Tea Alliance 

  • สื่อต่างชาติระบุ ‘พันธมิตรชานม’ คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเริ่มจากไทย ฮ่องกง ไต้หวัน ที่วิพากษ์วิจารณ์จีน เรื่อยมาจนถึงเมียนมา

  • ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ Reuters ระบุ พันธมิตรชานมสะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไปได้ไกลกว่าโลกออนไลน์

  • ขณะที่นักวิชาการจาก 2 ประเทศมองว่า พันธมิตรชานมเป็นการรวมตัวเชิงความคิด แต่ท้ายที่สุด ผู้เคลื่อนไหวในแต่ละประเทศยังต้องสู้ด้วยตัวเอง

  • การที่ทวิตเตอร์ให้ความสำคัญกับพันธมิตรชานม จะทำให้การเคลื่อนไหวเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น และทวิตเตอร์ไม่ได้เสียประโยชน์ทางธุรกิจเพราะที่ผ่านมา จีนปิดกั้นการเข้าถึงทวิตเตอร์ในประเทศอยู่แล้ว

ฝ่ายนโยบายสาธารณะของทวิตเตอร์ เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชี @Policy ระบุว่าอีโมจิ ‘ชานม’ ที่เผยแพร่เป็นครั้งแรกในวันที่ 8 เม.ย.2564 เป็นการฉลองครบรอบ 1 ปี 'พันธมิตรชานม' หรือ Milk Tea Alliance เครือข่ายออนไลน์ซึ่งมีที่มาจากมีมยอดนิยมในกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทย ฮ่องกง และไต้หวัน โดยที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเครือข่ายของผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในหลายพื้นที่ทั่วโลก 

ทวิตเตอร์ระบุด้วยว่า ‘อีโมจิชานม’ ที่เผยแพร่ในวันนี้ ประกอบด้วยชานม 3 สี ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในพื้นที่ที่เป็นต้นกำเนิดพันธมิตรชานม พร้อมทั้งเผยแพร่แฮชแท็กยอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรชานมในภาษาต่างๆ ทั้งไทย จีน เกาหลี และพม่า รวมถึงแฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด และ #MilkTeaAlliance ที่ติดอันดับเทรนด์ยอดนิยมในไทย เพราะมีผู้ทวีตข้อความกว่า 174,000 ครั้ง

ขณะที่สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างอิงเนื้อหาในแถลงการณ์ของทวิตเตอร์ พบว่าปีที่ผ่านมา มีผู้ติดแฮชแท็ก #พันธมิตรชานม ทั้งภาษาไทยและภาษาอื่นๆ รวมกว่า 11 ล้านครั้งทั่วโลก ทั้งยัเป็นแฮชแท็กยอดนิยมหลายครั้งในไทย ไต้หวัน และฮ่องกง นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 เป็นต้นมา

สื่อนอกถึงกับต้องรายงาน ‘พันธมิตรชานม’ คืออะไร

ก่อนที่ทวิตเตอร์จะประกาศว่าพันธมิตรชานมเป็น ‘เครือข่ายออนไลน์’ ที่มีความเคลื่อนไหวข้ามประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เว็บไซต์ The Economist สื่อสายวิเคราะห์ก็เพิ่งเผยแพร่บทความ What is the Milk Tea Alliance? เพื่ออธิบายว่าพันธมิตรชานมคืออะไร โดยระบุว่า นี่คือการรวมตัวของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองของตัวเอง

ดิอีโคโนมิสต์ระบุด้วยว่า ที่มาของพันธมิตรชานมเริ่มจากนักแสดงชายชาวไทย ‘ไบร์ท’ วชิรวิทย์ ชีวอารี ทวีตข้อความเชิงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์จากจีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจ และทวีตข้อความโจมตีวชิรวิทย์และผู้เกี่ยวข้อง 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทย ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งคัดค้านการแทรกแซงและใช้อำนาจกดดันด้านสิทธิเสรีภาพของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมตัวกันตอบโต้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่โจมตีวชิรวิทย์และผู้เกี่ยวข้อง เป็นที่มาของคำว่า พันธมิตรชานม ซึ่งเป็นการนำเครื่องดื่มยอดนิยมใน 3 พื้นที่มาเชื่อมโยงกัน

ความสำคัญของ ‘พันธมิตรชานม’

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานข่าวการเปิดตัวอีโมจิชานมของทวิตเตอร์ว่า เป็นการช่วยยกระดับการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในระดับโลก ทั้งยังเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย ซึ่งมองว่า พันธมิตรชานม เป็นการรวมตัวที่ไปได้ไกลกว่าโลกออนไลน์

ขณะที่ ‘เจมส์ บูแคนัน’ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าทวิตเตอร์ไม่มีอะไรจะเสียในทางธุรกิจ แม้จะมีท่าทีสนับสนุนผู้เคลื่อนไหวต่อต้านจีน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้สั่งปิดกั้นการเข้าถึงทวิตเตอร์ของชาวจีนที่อยู่ในประเทศอยู่แล้ว และการเปิดตัวอีโมจินี้จะยิ่งดึงดูดใจผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในเอเชียมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

บทความของดิอีโคโนมิสต์ระบุด้วยว่า การรวมตัวกันของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเอเชีย โดยเฉพาะผู้ต่อต้านการใช้อำนาจของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ “ไม่ใช่เรื่องใหม่” เพราะเมื่อปี 2557 กลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในไต้หวันรวมตัวต่อต้านการลงนามการค้าระหว่างไต้หวันและจีน และได้ร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการ ‘ดอกทานตะวัน’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง จนนำไปสู่การยกเลิกการลงนามดังกล่าว

การเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในไต้หวัน เป็นอีกแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาและในฮ่องกงออกมารวมตัวเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในปีนั้น จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวยืดเยื้อที่สื่อต่างชาติเรียกว่า ‘ปฏิวัติร่ม’ ในฮ่องกง 

ขณะที่ปี 2559 เนติวิทย์ได้เชิญ ‘โจชัว หว่อง’ แกนนำการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง มาเป็นวิทยากรในงานวิชาการที่จุฬาฯ แต่กลับถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยกักตัวที่สนามบินและส่งกลับ สะท้อนให้เห็นว่าความร่วมมือของเครือข่ายประชาธิปไตยในเอเชียเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ถูกจับตามองจากผู้ใช้อำนาจรัฐมาตลอดเช่นกัน

บททดสอบ ‘พลังแห่งพันธมิตรชานม’

ด้าน ‘โรเจอร์ หวง’ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ประจำมหาวิทยาลัยแมคควอรีในออสเตรเลีย เปิดเผยผ่านดิอีโคโนมิสต์ว่า พันธมิตรชานมเป็นการรวมตัวเชิงความคิด และเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์เท่านั้น จึงไม่มีผลกดดันรัฐบาลแต่ละประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามของเครือข่ายพันธมิตรชานม อีกทั้งยังเป็นการรวมตัวโดยไร้แกนนำ จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญ ทำให้มีผู้ฉวยโอกาสนำชื่อของเครือข่ายไปใช้ ทั้งที่ไม่ได้มีชุดอุดมการณ์สนับสนุนประชาธิปไตย 

บทความของดิอีโคโนมิสต์ยกตัวอย่าง ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในอินเดียใช้แฮชแท็กพันธมิตรชานมประณามจีนเมื่อเกิดเหตุปะทะระหว่างกองทัพจีน-อินเดียบริเวณชายแดน โดยมองว่าพวกเขาควรได้เป็นพันธมิตรชานมด้วย เพราะอินเดียมีชานมเช่นกัน แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ใช้แฮชแท็กนี้ในอินเดียไม่ได้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่เป็นหลักการสำคัญของพันธมิตรชานม แต่สนับสนุนการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่างจากกลุ่มชาตินิยมในอินเดีย

ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาได้กลายเป็นเครือข่ายพันธมิตรชานมล่าสุด นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.2564 แต่การสนับสนุนพันธมิตรชานมในเมียนมาต้องเจอกับการปิดกั้นและระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งยังมีการใช้อาวุธปราบปรามผู้ต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก บ่งชี้ให้เห็นว่า พันธมิตรชานมไม่ได้มีอำนาจกดดันแก่รัฐบาลเมียนมาแต่อย่างใด

ส่วน ‘รศ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ชานมที่เป็นจุดเชื่อมโยงของพันธมิตรออนไลน์เพื่อประชาธิปไตย เป็นภาพสะท้อนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง โดยในกรณีของฮ่องกงและเมียนมานั้น ชานมอาจเป็นภาพสะท้อนของสิทธิสภาพในยุคอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งแตกต่างจากการอยู่ใต้อำนาจทางกฎหมายและเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ ณ ปัจจุบัน ขณะที่ชานมในไทยและไต้หวันถือเป็นภาพสะท้อนของการเชื่อมโยงทางธุรกิจการค้า

อย่างไรก็ตาม รศ.วาสนามองว่า ท้ายที่สุดแล้ว พันธมิตรชานมในแต่ละแห่งก็ต้องต่อสู้ในประเด็นทางการเมืองด้วยตัวเองลำพังอยู่ดี