ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์เผยแพร่เอกสาร เสนอความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ลงนามโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่ส่งชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาระบุว่า กราบเรียน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ้างถึง หนังสือเรียกของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 40/2565 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น สั่งให้ข้าพเจ้าในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด ซึ่งมีความว่า “ผู้เป็น นายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ใช้บังคับ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด”
มีชัย ระบุว่า ข้าพเจ้ามีความเห็นในประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ตามที่ปรากฎในพระบรมราชโองการในวรรคหัา และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบ ก่อนวันที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
2. ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา 160) ที่มา (มาตรา 89) วิธีการได้มา (มาตรา 159 และมาตรา 272) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 164) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 158 วรรคสี่) และผลจากการพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 164) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่าง ๆ เหล่านั้น จึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้ว ก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
3. การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้ เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้” เป็น “คณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่…โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ”
4. ผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาดามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป
สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันศุกรที่ 7 กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้า ขอเรียนว่าเป็นการรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุม น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ในรายงานการประชุมดังกล่าวมีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ ดังจะเห็นได้ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณา ความมุ่งหมายของมาตรา 183 ที่บันทึกไว้ว่า “ประธานกรรมการกล่าวว่า การตีความว่าหาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตรากฎหมายโดยกำหนดให้ตนเองได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ย่อมถือเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการไปโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ประสงค์ให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโดยหลักสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจดราพระราชกฤษฎีกาได้ และการกำหนดค่าตอบแทนต่าง ๆ ไม่ จำเป็นต้องบัญญัติไว้ไนรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอาจตรา พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญได้ ซึ่งเป็นความที่ฝืนต่อความเป็นจริง และ
มีชัย ระบุว่า ข้าพเจ้าคงไม่พูดเช่นนั้น เพราะย่อมรู้อยู่เป็นพื้นฐานว่า การตราพระราชกฤษฎีกาเป็นพระราชอำนาจของ พระมหากษัตริย์ (ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 175 ) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ หรือฝ่ายนิติบัญญัติมอบอำนาจให้ผ่านทาง พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปก รายงานการประชุมทุกครั้งว่า “บันทึการประชุมนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้ หากเกิดความเสียหายใด ๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง (นายมีชัย ฤชุพันธุ์)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารดังกล่าว มีเพียง 3 หน้า และถูกส่งต่อในบรรดาสื่อมวลชน แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากมีชัย ฤชุพันธุ์ว่าเป็นเอกสารถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าว เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความเห็นของจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตีความในลักษณะนี้เช่นกัน