Skip to main content

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย, นพดล มังกรชัย ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ และอดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์, เจตุบัญชา อํารุงจิตชัย รองโฆษก คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง สถานการณ์หนี้ครัวเรือนสำหรับครึ่งปีแรกที่ผ่านมาของไทย มีคนไทยทั้งหมด 32 ล้านคน จำนวน 81 ล้านบัญชี ที่เป็นหนี้อยู่ในระบบเครดิตบูโร ปรากฏว่ากลายเป็นหนี้เสียไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท สัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เริ่มก่อตัวขึ้นมาหลังสถานการณ์โควิด -19 และเป็นผลกระทบโดยตรงจากการประกาศล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในเดือน เม.ย. 2563 

ในกลุ่มหนี้เสียทั้งหมด ที่อยากให้ความสำคัญอย่างมาก คือ กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่เคยมีประวัติการค้างชำระหนี้เลยในทุกบัญชีกับสถาบันการเงิน ย้อนหลังลงไปจากเดือน เม.ย.2563 เป็นระยะเวลา 24 เดือน หรือ 24 งวด ซึ่งต้องถือว่าเป็นลูกหนี้ชั้นดีมาโดยตลอด แต่พอหลังจากเดือน เม.ย.2563 เป็นต้นมา เริ่มค้างชำระและกลายเป็น NPL เช่น ธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ นานา ที่รัฐออกมาในช่วงนั้น เช่น มาตรการป้องกันทางสาธารณสุข ก็เลยไปส่งผลกระทบกับลูกหนี้กลุ่มนี้เข้าอย่างจัง ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน

กรรมการผู้จัดการ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ (NCB) เองก็เคยออกมายอมรับว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ คือ “ผู้ประสบภัยทางเศรษฐกิจ ตัวจริงเสียงจริง เขาพร้อมค้าขาย  เขาอยากสู้ต่อ เขามีภาระลูกน้องลูกจ้างต้องดูแล เขาไม่อยากแบมือขอ เขามีฝีมือ เขามีตัวตนในระบบเศรษฐกิจ รากฐานของประเทศเรา และเขาคือนักสู้ตัวจริงที่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ จากการผูกขาด ตัดตอน มีอำนาจตลาดแอบแฝงใดๆ”

กลุ่มลูกหนี้ Red Code (รหัสแดง) กลุ่มนี้ คือ เป็นคนไทย คนตัวเล็กหาเช้ากินค่ำ ร่วม 4 ล้านคน มีหนี้เสียรวมกัน 3.6 แสนล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่เพิ่งเป็นหนี้เสียรายใหม่ อย่างน้อย 2.1 ล้านคน ภายใต้ รหัส 21 ของ NCB ไม่นับรวมกับกลุ่มหนี้เสียที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว กว่าครึ่งซึ่งเคยเป็นลูกหนี้ชั้นดี แต่ถูกพิษโควิดเล่นงานจนกลายเป็นหนี้เสีย รวมมูลหนี้กลุ่มนี้อีก 2 แสนล้านบาท แต่อยู่คนละรหัส 

ต้องขอขอบคุณทาง NCB ที่แยกกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีในอดีต แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จนในที่สุดกลายเป็นหนี้ NPL เค้าแยกออกมาชัดเจนแล้ว มีหลักฐานชัดเจนว่าไม่ได้เป็นเรื่องทำธุรกิจพังเอง หรือบริหารงานผิดพลาดเอง ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนั้นถูกแยกรหัสไว้ต่างหาก อย่านั่งมองเฉยๆ เพราะถ้าไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยโดยเร็ว รับรองว่าลูกหนี้กลุ่มนี้หมดทางไปแน่ ทำอะไรก็ต้องรีบทำ ถ้ามีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโนบายไปแล้ว การปรับโครงสร้างหนี้ก็จะยิ่งกระทำได้ยากขึ้น

พรรคไทยสร้างไทย ขอวิงวอนให้รัฐให้ความสำคัญกับลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจเล็กๆ มีลูกน้องไม่กี่คน เช่น ขายอาหาร ชาบูหมูกระทะ ทำทัวร์ เป็นไกด์ เป็นต้น อย่าปล่อยไปตามยถากรรมจนเขาเหล่านั้นต้องถูกฟ้องร้อง ถูกยึดทรัพย์ ในที่สุดเหมือนตายทั้งเป็นกลายเป็นซากศพในป่าช้าทั้งๆ ที่ยังมีลมหายใจอยู่ รัฐต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน โดยขอเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ดังต่อไปนี้

- พักการชำระหนี้เดิมเป็นเวลา 1 ปี เติมเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ฟื้นตัวและสามารถกลับมาทำธุรกิจได้อีก
- ปรับเปลี่ยนตารางการชำระหนี้ใหม่ ให้มีการผ่อนปรนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยโดยยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปยาวๆ อย่างน้อย 3 ปี โดยในปีแรก ยอดผ่อนชำระ (รวมเงินต้น) ต้องต่ำที่สุด ไม่ควรเกิน 5,000 บาท/ต่อเดือน แล้วค่อยไปปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 บาท และ 7,000 บาท ในปีที่ 2 และปีที่ 3 ต่อไป
- ออกนโยบายให้สถาบันการการเงินเปลี่ยนกรอบความคิดในเรื่องกระบวนการปล่อยสินเชื่อ ไม่นำเอาประวัติเครดิตบูโรในกรณีนี้มาปฏิเสธการให้สินเชื่อ จะได้เติมเงินสินเชื่อมาเสริมสภาพคล่องได้