Skip to main content

สรุป

  • การปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมียนมาจนนองเลือด, การต่อต้านแบบอารยะขัดขืน, นัดหยุดงานประท้วง และการประกาศกฎอัยการศึก กระทบต่อระบบเศรษฐกิจเมียนมา และจะทำให้เกิดผลกระทบอีกหลายด้านต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเช่นกัน

  • ประเด็นที่น่ากังวล ได้แก่ ผู้อพยพข้ามแดนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะการโจมตีของกองทัพเมียนมาไม่หยุดง่ายๆ แต่การผลักดันคนกลุ่มนี้กลับไปยังพื้นที่เสี่ยงถือว่าผิดหลักมนุษยธรรม และเศรษฐกิจที่ชะงักงันจะทำให้ปัญหายาเสพติดข้ามแดนทวีความรุนแรงขึ้น

  • อีกทั้งภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยที่สื่อต่างชาติรายงานว่า ‘มีสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเมียนมา’ เสี่ยงกระทบธุรกิจไทยในเมียนมา เหมือนที่ธุรกิจของจีนในเมียนมาถูกโจมตีหลายแห่งช่วงเดือนที่ผ่านมา

  • ส่วน ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ย้อนถามสื่อในประเทศว่า “ไทยสนับสนุนเมียนมาตรงไหน” พร้อมระบุ ตนเองไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนอยู่แล้ว 

หากทบทวนเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมียนมา เมื่อ 1 ก.พ.2564 เป็นต้นมา จะพบว่าทางการไทยไม่เคยแสดงท่าทีขัดแย้งหรือประณามกองทัพเมียนมา โดยย้ำว่า “เป็นกิจการภายในประเทศ” แต่เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา ส่งสาสน์ถึงผู้นำรัฐบาลไทย ชี้แจงเหตุผลในการรัฐประหารว่าเกิดขึ้นเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่และฟื้นฟูประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาพูดเองว่า “สนับสนุนการตัดสินใจของเมียนมา”

‘โจชัว เคอร์แลนซิก’ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุผ่านบทความในเว็บไซต์ Council of Foreign Relations (CFR) ว่า รัฐบาลทหารเมียนมามีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพไทย และพยายามจะทำให้การรัฐประหารเมียนมามีความชอบธรรมผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาแล้วอย่างดี เช่นเดียวกับที่คณะรัฐประหารปี 2557 ในไทย นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ทำได้สำเร็จและอยู่ในอำนาจมานานเกือบ 8 ปี ถึงแม้กองทัพไทยกับเมียนมาจะขัดแย้งกันเป็นบางขณะในอดีต แต่ภาพลักษณ์โดยรวมถือว่ามีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดและราบรื่น

หลายเหตุการณ์ที่ไทยถูกตีความว่า ‘สนับสนุน’ เมียนมา

 

นอกจากรัฐบาลไทยจะไม่เคยแถลงประณามการรัฐประหารในเมียนมาแล้ว กองทัพไทยยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคอยให้ความช่วยเหลือกองทัพเมียนมาที่ไร้ความชอบธรรมและปราบปรามถึงเลือดถึงเนื้อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยกรณีที่เป็นประเด็นล่าสุด คือ เหตุการณ์ที่ข้าวสาร 700 กระสอบถูกนำไปกองไว้ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ใน จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อราววันที่ 20 มี.ค. 

ประชาชนในพื้นที่เกรงว่าข้าวสารดังกล่าวจะเป็นเสบียงที่เตรียมนำส่งให้ทหารกองทัพเมียนมาซึ่งตั้งฐานในพื้นที่ควบคุมของกลุ่มติดอาวุธ ‘สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง’ (KNU) ทั้งยังอาจเป็นชนวนให้เกิดการปะทะระหว่างทหารเมียนมา ทหารไทย และทหารกะเหรี่ยง ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียงอย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะ KNU เตือนว่าไม่อนุญาตให้ส่งเสบียงให้ทหารเมียนมาโดยเด็ดขาด 

กองทัพและรัฐบาลไทยพูดถึงข้าวสารดังกล่าวไม่ตรงกัน ตอนแรกตัวแทนฝั่งรัฐบาลบอกว่า “ข้อมูลที่สื่อไทยรายงานไม่เป็นความจริง” และตำหนิว่ารายงานข้อมูล “ทำร้ายประเทศ” แต่ภายหลังตัวแทนกองทัพระบุว่าข้าวสารดังกล่าวอาจเป็นการซื้อขายตามความร่วมมือชายแดนกับกองทัพเมียนมา ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่ากองทัพไม่เกี่ยว และเป็นการค้าขายชายแดนตามปกติ แต่ชาวบ้านในพื้นที่แย้งว่ารัฐบาลมีคำสั่งปิดด่านค้าขายชายแดนป้องกันโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ทั้งยังมีการตั้งจุดตรวจเข้มงวด จึงไม่น่าใช่การซื้อขายตามปกติ

ส่วนสำนักข่าว Reuters รายงานว่าข้าวสาร 700 กระสอบ ถูกนำไปกองอยู่ริมแม่น้ำสาละวินหลายวัน ก่อนที่ทหารเมียนมาจะยอมรับว่าเป็นเจ้าของข้าวสารดังกล่าว แต่ไม่สามารถขนย้ายข้ามฝั่งไปยังพื้นที่ควบคุมของ KNU ได้ ข้าวสารจึงถูกขนออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว โดยกองทัพไทยระบุว่าเป็นการดำเนินการของพ่อค้าฝั่งไทย ไม่เกี่ยวใดๆ กับกองทัพ

แต่วันที่ 27 มี.ค.2564 ซึ่งเป็นวันกองทัพเมียนมา Nikkei Asia รายงานว่ามีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองในวันดังกล่าว ได้แก่ ไทย รัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว และวันเดียวกันนั้นเอง ทหารเมียนมาก็ใช้อาวุธหนักสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในหลายเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 114 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยราย 

แถลงการณ์ร่วม รมว.กลาโหม 12 ประเทศ ประณามกองทัพเมียนมาฆ่าประชาชน

เหตุการณ์ในวันกองทัพเมียนมาทำให้รัฐมนตรีกลาโหมจาก 12 ประเทศ ร่วมออกแถลงการณ์ประณามกองทัพเมียนมา เมื่อ 28 มี.ค.2564 โดยเนื้อหาตอนหนึ่งของแถลงการณ์ย้ำว่า “ทหารอาชีพต้องปฏิบัติตามหลักสากล และมีหน้าที่ต้องปกป้อง ไม่ใช่ทำร้าย” และ “ต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนซึ่งไร้อาวุธ”

แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นท่าทีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในเวทีระหว่างประเทศ แต่เนื้อหาในแถลงการณ์ถูกระบุว่าเป็นการแสดงจุดยืนใน ‘ภาษาทหาร’ เพื่อประณามกองทัพเมียนมาที่ใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามประชาชนของตัวเอง

ส่วนประเทศที่รัฐมนตรีกลาโหมร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี กรีซ อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

 

ประเมินความเสี่ยง ‘เหตุนองเลือดเมียนมา’ กระทบไทย

 

สื่อด้านธุรกิจ Insider รายงานว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมา โรงงานสิ่งทอของจีนในเมียนมาถูกโจมตีหลายแห่ง โดยผู้ก่อเหตุมักเผาทำลายทรัพย์สินในโรงงานจนเสียหาย และอาจเกี่ยวข้องกับความไม่พอใจของชาวเมียนมาที่ไม่พอใจรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพล แต่กลับเพิกเฉยต่อสถานการณ์ในเมียนมา แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาระบุว่า การพุ่งเป้าโจมตีด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติเป็นเรื่องอันตรายและไม่สมควรเกิดขึ้น แต่ตัวแทนทางการจีนระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นฝีมือของผู้ไม่หวังดีที่เป็นชาวต่างชาติ 

ขณะที่สำนักข่าว AP รายงานว่า ยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้เรื่องผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่เบื้องหลังการเผาทำลายโรงงานของกลุ่มทุนจีนในเมียนมา พร้อมระบุว่า เหตุการณ์หนึ่งที่ตรวจสอบแล้วในเมืองเมียวดีพบว่าการเผาโรงงานเกิดขึ้นหลังตำรวจบุกเข้าไปในโรงงานและยิงผู้ชุมนุม ทำให้มีการตอบโต้และจุดไฟเผา แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ ยังไม่ได้รับการสอบสวนจนกระจ่าง

อย่างไรก็ตาม หากท่าทีของรัฐบาลต่างๆ ที่มีต่อการรัฐประหารเมียนมา ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกลุ่มทุนต่างๆ จริง อาจทำให้กิจการของไทยในเมียนมาตกเป็นเป้าโจมตีได้เช่นกัน เพราะไทยเป็นประเทศที่ ลงทุนในเมียนมามากเป็นอันดับ 3 เมื่อปี 2563 รองจากสิงคโปร์และจีน แม้ 'ลีเซียนลุง' นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ จะเป็นผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนไม่กี่คน ที่เผยแพร่ข้อความคัดค้านรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนเมียนมา แต่เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสิงคโปร์ยืนยันว่าจะเดินหน้าทำธุรกิจกับรัฐบาลทหารเมียนมาต่อไป ก็เกิดกระแสคว่ำบาตรสินค้าสิงคโปร์ในเมียนมาทันที

ส่วนรัฐบาลจีนและไทยมีท่าทีไม่ต่างกัน คือ ประกาศว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศเมียนมา ทั้งยังวางเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมในเมียนมาจนเสียชีวิต แต่สิ่งที่ต่างกันคือผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยหลายกลุ่มได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ทั้งยังมีการรวมผู้ชุมนุมเมียนมาเข้ากลุ่ม ‘พันธมิตรชานม’ Milk Tea Alliance ที่เดิมมีนักเคลื่อนไหวไทย ฮ่องกง ไต้หวัน รวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อต่อต้านการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิพลเมือง

Burma Campaign UK

เศรษฐกิจเมียนมาชะงัก ยาบ้าทะลักข้ามชายแดน และการผลักดันผู้อพยพกลับ 'ผิดหลักสากล'

 

อีกประเด็นที่ AFP/Frontier Myanmar รายงานก็คือ ปัญหายาเสพติดทะลักผ่านสามเหลี่ยมทองคำมายังไทย มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ‘ยาบ้า’ เพราะระบบเศรษฐกิจเมียนมาชะงักงันจากหลายสาเหตุ ทำให้ธุรกิจตลาดมืดและการค้ายาเสพติดเป็นช่องทางหารายได้ไม่กี่อย่างที่ยังเหลือของหลายกลุ่มที่เกี่ยวโยงความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจเมียนมาถดถอยลงก็มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตร-ยุติสัมพันธ์ทางธุรกิจจากนักลงทุนหลายประเทศที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย การประกาศกฎอัยการศึกและการประกาศช่วงเวลาเคอร์ฟิว การตัดสัญญาณสื่อสารในหลายพื้นที่ กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และการใช้กำลังอาวุธปราบปรามทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตายและถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือผู้อพยพหนีภัยความตายตามแนวชายแดนระหว่างไทย-เมียนมาน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะคณะรัฐประหารเมียนมาไม่มีทีท่าว่าจะยุติการใช้อาวุธและความรุนแรงในการปราบประชาชนฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ เคยออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่าจะต่อสู้กับกองทัพเมียนมาอย่างถึงที่สุด 

ส่วนสถานการณ์ชายแดนไทยล่าสุดเมื่อวันที่ 28-29 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าว Reuters รายงานว่าชาวกะเหรี่ยงราว 2,009 คนหนีภัยการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาเข้ามายังฝั่งชายแดนไทย และองค์กรสากลด้านสิทธิมนุษยชน Burma Campaign UK ระบุว่าทางการไทยได้ผลักดันผู้อพยพหนีภัยกลับไปยังค่ายพักพังเมืองอิตุท่าซึ่งอยู่ฝั่งเมียนมา ซึ่งเข้าข่ายละเมิดหลักการไม่ส่งกลับและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

แต่ ‘ธานี แสงรัตน์’ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง และ ‘สิธิชัย จินดาหลวง’ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ยืนยันกับรอยเตอร์สว่าไม่มีการผลักดันชาวกะเหรี่ยงกลับไปยังฝั่งเมียนมา และระบุเพียงว่าผู้อพยพถูกส่งไปยังที่ปลอดภัยใน อ.แม่สะเรียง

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ ‘สังคม คัดเชียงแสน’ นายอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งย้ำว่า ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยมาจากเมียนมาควรถูกสกัดไว้ที่ค่ายพักพิงชายแดนอิตุท่า และเจ้าหน้าที่ในองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพื้นที่ชายแดน พร้อมระบุว่า ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามนโยบายด้านความมั่นคง