‘เทเลนอร์’ บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่สัญชาตินอร์เวย์เผยสาเหตุการขายกิจการในเมียนมาว่าเป็นเพราะต้องการเลี่ยงการคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรป หลัง "ถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง" จากรัฐบาลทหารเมียนมาให้เปิดใช้เทคโนโลยีดักฟัง
เทเลนอร์ได้ประกาศเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่าจะขายกิจการในเมียนมาให้กับ ‘เอ็มวัน’ (M1) บริษัทลงทุนของเลบานอนเป็นมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก็ทำให้เกิดเสียงค้านจากนักกิจกรรมในเมียนมาที่พึ่งพาบริการสื่อสารของเทเลนอร์ ขณะที่รายงานของรอยเตอร์สเมื่อเดือน พ.ค. พบว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตในเมียนมาได้ถูกสั่งอย่างลับๆ ในหลายเดือนก่อนการรัฐประหาร 1 ก.พ. ให้ติดตั้งเทคโนโลยีที่เป็นการรุกรานเพื่อทำให้กองทัพสามารถดักฟังการสนทนาของประชาชนได้อย่างอิสระ
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) สำนักข่าวรอยเตอร์สได้รายงานความเห็นของ ‘ยอร์เกน รอสทรัป’ หัวหน้าฝ่ายเอเชียของเทเลนอร์ที่ให้สัมภาษณ์ว่า นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจก็เป็นเรื่องชัดเจนสำหรับบริษัทว่าการอยู่ในเมียนมาจะทำให้เทเลนอร์เมียนมาต้องเปิดใช้งานอุปกรณ์และเทคโนโลยีดักฟังเพื่อการใช้งานของทางการเมียนมา โดยการปล่อยให้มีการเปิดใช้งานเทคโนโลยีดักฟังจะละเมิดการห้ามค้าอาวุธของสหภาพยุโรปในปี 2561 ที่มีต่อเมียนมา พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการป้องกันทางกฎหมายหรือกฎระเบียบในเมียนมาเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยยืนยันว่าเทเลนอร์ไม่มีทางเลือกนอกจากถอนตัวออกจากเมียนมา เนื่องจากการเคารพข้อห้ามดังกล่าวของสหภาพยุโรปหมายความว่าบริษัทจะไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของพนักงาน การยอมให้มีการเปิดการใช้งานเทคโนโลยีดักฟังจะละเมิดคุณค่าและหลักการของบริษัทอย่างร้ายแรง
ขณะเดียวกัน รอสทรัปก็ยืนยันว่าตอนนี้เทเลนอร์ยังไม่ได้เปิดใช้งานอุปกรณ์ดักฟังและจะไม่ทำด้วยความสมัครใจ แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อคำถามที่ว่า ได้ติดตั้งเทคโนโลยีสอดแนมดังกล่าวลงไปในการดำเนินการของเทเลนอร์เมียนมาแล้วหรือไม่
ความเห็นของรอสทรัปถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กองทัพเมียนมายึดอำนาจที่เทเลนอร์ออกมาพูดถึงผลกระทบของการดักฟังที่มีต่อยุทธศาสตร์ของบริษัท ขณะเดียวกัน เทเลนอร์ กรุ๊ป ก็ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) มีเนื้อหาสอดคล้องกับรอสทรัป โดยยืนยันความจำเป็นที่จะต้องขายกิจการในเมียนมาเนื่องจากพบว่าเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่เทเลนอร์จะยึดถือแนวปฏิบัติของสากล หลักสิทธิมนุษยชน การทำธุรกิจบนความรับผิดชอบและการรับรองความปลอดภัยของพนักงาน ไปพร้อมๆ กับการดำเนินการต่อไปในเมียนมา นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลต่อสิทธิมนุษยชนที่ถดถอยในเมียนมาและปัญหาสถานการณ์ความมั่นคงที่เกิดขึ้นหลังกองทัพยึดอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชาชนเมียนมา ซึ่งสำหรับบริษัทแล้วเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรักษาพันธกรณีระหว่างประเทศ ปฏิบัติตามกฎหมายและสอดคล้องกับหลักคุณค่าของบริษัทและสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเข้าไปดำเนินกิจการในที่ใดก็ตาม
ทั้งนี้ รอยเตอร์สระบุว่า โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ตอบคำถามต่อประเด็นความเห็นของเทเลนอร์ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมของนอร์เวย์ก็ปฏิเสธให้ความเห็น โดยระบุว่าการขายกิจการในเมียนมาเป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการและฝ่ายบริหารของเทเลนอร์
รายงานระบุว่ารัฐบาลหลายแห่งอนุญาตให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทำสิ่งที่เรียกว่า “การดักฟังโดยชอบด้วยกฎหมาย” เพื่อจับกุมอาชญากร แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็ชี้ว่า ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่และแม้แต่ประเทศเผด็จการบางแห่ง ก็ไม่ได้ใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวตามปกติโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมาย ขณะที่เมื่อเดือนก.ค. รอยเตอร์สก็ได้รายงานว่ารัฐบาลเผด็จการของเมียนมาได้สั่งให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในประเทศต้องขออนุญาตเป็นพิเศษเพื่อเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งหลังมีคำสั่งห้ามการเดินทางก็ตามด้วยคำสั่งที่สองที่ให้บริษัทโทรคมนาคมเปิดใช้งานการดักฟังอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เทเลนอร์ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับการสั่งห้ามการเดินทาง
อ้างอิง :
- Norway's Telenor says Myanmar unit sale plan followed junta's pressure on surveillance tech