จากข่าวที่มีผู้ปกครองของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางร้องเรียนว่าหลังจากที่มีการเปิดเสรีกัญชา พบว่ามีนักเรียนติดกัญชาเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางรายถึงกับมีอาการอ่อนเพลียในเวลาเรียน และสืบสวนจนพบว่ามีนักเรียนชั้น ม.6 คนหนึ่งลักลอบนำกัญชามาขายในบริเวณโรงเรียน
มีความเห็นจาก ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย ว่าหลังจากที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าการเปิดเสรีกัญชาโดยที่ไร้มาตรการควบคุมจะนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของผู้เสพหน้าใหม่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนที่มีนิสัยอยากรู้อยากลองแต่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ซึ่งในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงและแสดงให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่เตรียมเอาไว้ยังไม่เพียงพอ ทำให้แม้กระทั่งในโรงเรียนซึ่งควรเป็นเขตปลอดกัญชา 100% ก็ยังมีกัญชาหลุดรอดเข้าไปได้ รัฐบาลจึงควรยกระดับมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในเยาวชน จนกว่า (ร่าง) พรบ. กัญชา กัญชง พ.ศ. .… จะถูกนำมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ
แม้หน่วยงานทางการศึกษาอย่างกระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพฯ จะได้ออกประกาศที่ห้ามมิให้โรงเรียนในสังกัดใช้กัญชากับนักเรียนและบุคลากรโดยเด็ดขาด ห้ามมิให้นักเรียนและบุคลากรใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการ และสนับสนุนให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชา รวมไปถึงได้ออกมาตรการให้โรงเรียนเข้มงวดกวดขันสอดส่องไม่ให้มีการใช้กัญชาภายในโรงเรียนแล้วก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ต้องการจะโทษโรงเรียนว่าดำเนินมาตรการหละหลวม แต่ต้องเข้าใจว่าสถานศึกษามีพันธกิจหลายอย่างที่ต้องทำไปพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าทำหน้าที่กวดขันเรื่องกัญชาเพียงอย่างเดียว ทำให้อาจมีความเป็นไปได้ที่กัญชาสามารถหลุดรอดเข้าไปได้อย่างที่เป็นข่าวออกมา
จะเห็นได้ว่าการควบคุมกัญชาในเยาวชนจะผลักภาระไปให้สถานศึกษาฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องบูรณาการระหว่างหลายๆ ฝ่าย อย่างกรณีในข่าว เมื่อผู้ปกครองแจ้งเรื่องเข้าไป ทางโรงเรียนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามสืบสาวจนถึงต้นตอจนสามารถควบคุมไม่ให้มีการใช้กัญชาได้ในที่สุด แต่ต้องอย่าลืมว่าการเปิดเสรีกัญชาเท่ากับว่ากัญชาสามารถโผล่ไปได้ในทุกที่ไม่ใช่เฉพาะที่บ้านหรือโรงเรียน ในขณะที่ผู้ปกครองก็ดูแลได้เฉพาะภายในบ้านหรือในครอบครัว ส่วนครูก็สามารถดูแลได้เต็มที่ในเขตสถาบันการศึกษาของตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ (ร่าง) พรบ. กัญชา กัญชง พ.ศ. .… ที่ให้อำนาจทางกฎหมายในการแยกเยาวชนกับกัญชาออกจากกันโดยสมบูรณ์
“ส่วนในปัจจุบันที่ ร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ ยังอยู่ระหว่างในการพิจารณา อาจจำเป็นต้องเสริมเครื่องมือที่ช่วยให้สถานศึกษาสามารถป้องปรามกัญชาได้ทั้งในรั้วและนอกรั้วโรงเรียน โดยเฉพาะในชุมชนที่ปัจจุบันสามารถครอบครองหรือใช้กัญชาได้อย่างเสรี ซึ่งเครื่องมือสำคัญในที่นี้คือเจ้าพนักงานปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีสิทธิในการจับกุมแล้วก็ตาม แต่ยังมีอำนาจในการป้องปรามไม่ให้มีการขายกัญชาแก่เยาวชนหรืออนุญาตให้เยาวชนเสพกัญชาได้ ส่วนโรงเรียนนอกจากจะป้องกันไม่ให้การซื้อขายและใช้กัญชาภายในโรงเรียนแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งคือการสอดส่องว่ามีนักเรียนในความดูแลที่มีแนวโน้มว่าจะใช้หรือเสพติดกัญชาหรือไม่ และพยายามให้ความช่วยเหลือโดยร่วมมือกับครอบครัวและชุมชนในการดูแลนักเรียนกลุ่มดังกล่าว” ธิดารัตน์ทิ้งท้าย