สุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยถึงประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อมาแก้วิกฤตเศรษฐกิจว่า การจัดตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ทีม ตนไม่มั่นใจว่า ตั้งขึ้นมาแล้วจะเป็นประโยชน์กับประเทศแค่ไหน เนื่องจากดูจากรายชื่อแล้วเป็นรายชื่อที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) อยู่แล้ว ซึ่งทุกคณะฯ เกือบจะเป็นกรรรมการชุดเดียวกันทั้งหมด และมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นการผลักดันเรื่องใดอออกมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเลย
ทั้งนี้ในมุมผมมองว่า ในเมื่อรัฐบาลต้องการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับนี้ หากต้องการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ควรมีภาคเอกชน เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และนักวิชาการ เช่น นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าไปร่วมทีมด้วยหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจซ้ำรูปแบบเดิม หากย้อนกลับไปเรามีครม.เศรษฐกิจ ตั้งแต่สมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จนถึงปัจจุบัน แต่ช่วงหลังมานี้ไม่เห็นมีการประชุมครม.เศรษฐกิจเท่าไหร่ เช่นเดียวกับการประชุมศบศ. ที่มีเอกชนร่วมเป็นคณะทำงาน ก็ไม่ค่อยได้ประชุม และรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้ส่วนนั้นให้เป็นประโยชน์ เพราะยังใช้วิธีการทำงานแบบรัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักอยู่ดี
“ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเยอะแยะ เพราะยังไม่เห็นว่า คณะทำงานลักษณะนี้ จะช่วยผลักดันงบประมาณได้แค่ไหน เรื่องนี้ควรมีตัววัดผลในการทำงาน เช่น เรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ หรืออัตราการแลกเปลี่ยนไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป ดูแลเรื่องราคาพลังงานไม่ให้สูงเกินไป และขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น เพื่อให้เห็นว่า คณะกรรมการชุดนี้แตกต่างจากชุดอื่น แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นว่าแตกต่างอย่างไร ใช้คำว่าคณะกรรมการชุดเดิมยังได้เลย เพราะคนทำงานยังเป็นรัฐมนตรีจากกระทรวงเศรษฐกิจเช่นเดิม” นายสุพันธุ์ กล่าว
ส่วนมุมมองด้านเศรษฐกิจภาพรวมนั้น มองว่า การที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะดูแลเรื่องพลังงาน เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทั้งหมดมาในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเรื่องตลาดทุน แต่อุปสรรคในตอนนี้ คือ ความเชื่อมั่นลดลง อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่ามาก อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาพลังงาน ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลกับตลาดทุน ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นกำลังซื้อ โดยเฉพาะการกระตุ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เข้ามาซื้อบ้าน และเป็นกลุ่มที่มีซัพพายเชนเยอะ เช่น เหล็ก หิน ทราย อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ซึ่งรัฐควรออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น การลดค่าธรรมเนียม และค่าจดจำนองลดลง วันนี้ต้องเน้นคนที่มีกำลังซื้อออกมาจับจ่ายใช้สอยกันให้มากๆ เพื่อให้กำลังซื้อในประเทศกลับมาดีขึ้น
สำหรับเรื่องการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว รัฐบาลควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอีเว้นท์ใหญ่ๆ ระดับโลกโดยเร็วที่สุด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะเดียวกันในเรื่องของภาคธุรกิจต้องรีบฟื้นให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องกฎกติกาในการลงทุน หรือขอใบอนุญาตต่างๆ ควรลดขั้นตอนลง ให้เกิดความสะดวกที่สุดในการทำธุรกิจมากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประะกอบการเอสเอ็มอีกลับมามีรายได้อีกครั้งต่อไป ส่วนการประเมินตัวเลขจีดีพี ปี 2565 จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และปัจจัยภายนอกประเทศอย่างภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ผมจึงมองว่าการที่จีดีพีไทยปีนี้จะไปให้ถึง 3% อย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ยังเป็นเรื่องยาก