เตือนใจ ฟูกูดะ เลขาธิการและกรรมการบริหาร และนักวิจัยอาวุโสสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย (ATRANS) และมหาวิทยาลัยนิฮอน ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แนวคิดนี้มาจากประชากรญี่ปุ่น ซึ่งมากกว่าร้อยละ 40% เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งญี่ปุ่นมีช่องว่างระหว่างวัยอย่างมาก จะทำอย่างไรให้คนญี่ปุ่นทั้งประเทศเข้าใจความหมายได้อย่างง่ายๆ ซึ่งคำว่าฮิยาริ ฮัตโตะ มาจากคำอุทาน เป็นการนำมาใช้เรื่องจิตวิทยามาผูกกับการจราจร เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเตือนใจและระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วม และการให้ความรู้ ว่าการใช้รถใช้ถนนอย่างไร ให้คิดไปในทิศทางเดียวกัน โดยทางการของญี่ปุ่น จะสอนให้คนสูงอายุ ได้รู้จักกฎจราจร รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการจราจร
เตือนใจ กล่าวว่า จากนั้นนำไปสู่การมุ่งเน้นป้องกันเกิดอุบัติเหตุ แก้ไขจุดอันตราย อาศัยความร่วมมือกับชุมชน ซึ่งเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนให้ได้ก่อนเบื้องต้น เมื่อถ่ายทอดพฤติกรรมจากผู้ใหญ่ไปสู่เด็ก โดยจะมีผู้ปกครองเป็นอาสาสมัคร มาอบรมในโรงเรียน จากนั้นจะมีการพาลงพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความจำในการใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง และให้เกิดความสนุกสนาน เมื่อทำมาระยะหนึ่งพบว่าลดการเกิดอุบัติเหตุได้จริง
ด้าน พ.ต.อ.สมเดช เกษมสุข ผู้กำกับการสอบสวนสถานีตำรวจภูธร จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า หลังจากได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญตามแบบโมเดลฮิยาริ ฮัตโตะ ทำให้มองเห็นภาพในการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม จัดทำกระบวนการให้ความรู้ สำรวจหาจุดเสี่ยงเพื่อแก้ไขปัญหา ให้ชุมชนได้ตระหนักถึงต้นเหตุของปัญหา โดยเชิญคนในชุมชนมารับทราบ ซึ่งจะช่วยปรับวิธีคิด ว่าเหตุเสี่ยงที่จะเกิดจะทำให้เกิดการสะกิดใจ ทำให้ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้