Skip to main content

 

โคลิน อะเพลท์ วัย 92 ปี มาทำงานเป็นอาสาสมัครที่โรงพยาบาลเซนต์วินเซนท์ ในเมืองบริสเบนมานากว่า 20 ปี ทุกบ่ายวันพฤหัสบดีในช่วงเวลาที่เรียกว่า “แฮปปี้อาวร์” โดยจะเข็นรถเข็นเครื่องดื่มเพื่อนำไปเสิร์ฟให้กับคนไข้ที่วอร์ดดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต

โคลิน เป็นหนึ่งในหกของอาสาสมัครที่โรงพยาบาลเซนต์วินเซนท์ ซึ่งจะคอยอยู่เป็นเพื่อนคุย คอยให้กำลังใจ หรือเป็นเพื่อนดื่มกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายในยามค่ำคืน งานประจำสัปดาห์โคลิน คือ การเข็นรถเข็นบรรจุเครื่องดื่มสารพัดชนิดไปตามห้องต่างๆ ของโรงพยาบาล ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อดับกระหายทางด้านร่างกาย แต่ยังช่วยเรื่องจิตใจของผู้ป่วย ด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี และมอบรอยยิ้มที่อบอุ่นให้กับผู้ที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต

“จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่เรื่องการดื่มสักเท่าไหร่ แต่มันคือการได้พบกับโคลินมากกว่า” คนไข้รายหนึ่งกล่าว

โคลิน เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านวิศกรรมโยธา ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เขาเริ่มทำงานอาสาสมัครหลังจากภรรยาเสียชีวิตในปี 1999 เขาบอกว่า มาร์กาเร็ต ภรรยาของเขาซึ่งเป็นคนเปิดกว้างและต้อนรับผู้อื่น ได้เปลี่ยนแปลงตัวเขาจากที่เคยรักสันโดษ ให้กลายมาเป็นคนที่เข้าหาคนอื่นได้ง่ายโดยที่ไม่รู้สึกลำบากใจ

ทุกเวลา 4 โมงเย็นของวันพฤหัส โคลินจะเดินเข็นรถเข็นเครื่องดื่มเคาะประตูห้องของผู้ป่วย และจะถามว่า “อยากให้ผมทำเครื่องดื่มให้คุณไหม” เขาบอกว่า แล้วการสนทนาก็เริ่มขึ้นจากจุดนั้น

โคลินบอกว่า หัวหน้านางพยาบาลจะมอบรายชื่อของผู้ป่วยที่สามารถดื่มได้ให้ และเขามักจะเรียกชื่อคนไข้ในการพบกันโดยที่เขามักแนะนำตัวเองเสมอ โคลิน เป็นอาสาสมัครที่โรงพยาบาลเซ็นต์วินเซนท์มานานกว่า 20 ปี ในการเข็นรถเข็นเสิร์ฟเครื่องดื่ม รวมถึงพูดคุยให้กำลังใจกับคนไข้ที่ป่วยระยะสุดท้าย

โคลินเล่าว่า “จินโทนิค” เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนไข้ตั้งแต่เมื่อสองสามปีที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นน้ำอัดลมไบเลย์ เขาบอกว่า สำหรับคนไข้ที่ใกล้ฝั่งการมีคนมาพูดคุยด้วยนั้นสำคัญมากกว่าการได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“สำหรับคนไข้เหล่านี้ การดื่มเป็นแค่ตัวละลายพฤติกรรม ครอบครัวของพวกเขาโศกเศร้า และวันเวลาของพวกเขาก็หมดไปกับหมอ หยูกยาต่างๆ และพยาบาล พอพวกเราไปถึงตรงนั้น การพูดคุยกันอาจเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด”

“ถ้าคุณอยู่ในโรงพยาบาลมาสักพักหนึ่ง การที่คนไข้ได้รู้สึกถึงการมีชีวิตประจำวันแบบปรกติสักชั่วขณะเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามากสำหรับพวกเขา เช่น การเพลิดเพลินกับการดื่มและได้พูดคุยกับใครสักคนที่ห่วงใย” โคลินกล่าว

โคลินบอกว่า การบอกลาเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะกับคนที่สำคัญในชีวิต เมื่อพวกเขากำลังจะจากไป

“ผมรู้สึกได้ถึงความสูญเสีย ผมจึงมักไปร่วมพิธีศพ เพราะมันช่วยได้มากในการปิดฉากชีวิต ผมเคยอยู่ในช่วงที่รู้ถึงความยากลำบากว่าเป็นยังไง และมันยาวนานแค่ไหนจึงจะก้าวสู่ขั้นต่อไปได้ เพราะคุณอยู่ในความมืดที่ค่อนข้างยาวนานหลังจากต้องสูญเสียคู่ชีวิตไป”

โคลินบอกว่า การแสดงออกเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การโทรหาญาติสนิทของคนไข้ในวอร์ดผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เพิ่งจากไปเพื่อถามไถ่ หรือการส่งการ์ดแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และช่วยคนอื่นๆ ได้มาก

โคลิน ได้รับเหรียญรางวัลพลเมืองดีเด่นของออสเตรเลียเมื่อปี 2004 เรื่องราวของเขาถูกนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียโดยสำนักข่าวเอบีซี และได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งชาวออสเตรเลียและในต่างประเทศ คลิปวิดีโอที่นำเสนอเรื่องราวโคลินมียอดรับชมมากว่า 1 ล้านครั้งในชั่วข้ามคืนบนอินสตาแกรมและติ๊กตอก รวมถึงได้รับความชื่นชมจากคนในโลกออนไลน์อีกเป็นจำนวนมาก

“การมาเป็นอาสาสมัครช่วยสอนบทเรียนชีวิตให้กับผม ผมคิดเอาเองว่า การให้จะนำผลตอบแทนที่ดีเลิศมาสู่ตัวผู้ให้ แต่สิ่งที่เรียนรู้ก็คือ ผมได้มอบความสบายใจและความรื่นเริงให้กับผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต” โคลินกล่าว


อ้างอิง
St Vincent's Volunteers giving back to hospitals and their community
The 92-year-old volunteer giving back to the community – find out how you can too
A tipple and a chat — meet Colin Apelt, the 92yo volunteer delivering drinks and companionship to those in palliative care