Skip to main content

 

“แทมบอรีนเมาเทนรีแพร์คาเฟ่” คาเฟ่ซ่อมของในออสเตรเลีย นอกจากจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าให้กับหลายคนและช่วยลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีข้อดีอันใหญ่หลวงที่มองไม่เห็น คือ การรวมผู้คนจากภูมิหลังที่แตกต่างหลากหลายเข้ามาเป็นชุมชนแห่งการช่วยเหลือและแบ่งปัน ทั้งยังช่วยบรรเทาความเหงาและความโดดเดี่ยวจากการถูกแยกขาดจากสังคม

“เรารับงานทุกประเภท ไม่ว่าลับคมมีด ลับกรรไกร เครื่องมือทำสวน ไปจนถึงซ่อมเฟอร์นิเจอร์ และเก้าอี้โยก” เจฟฟ์ มาร์แชล ผู้ประสานงาน แทมบอรีนเมาเทนรีแพร์คาเฟ่กล่าว

แทมบอรีนเมาเทนรีแพร์คาเฟ่ เปิดตัวขึ้นเมื่อปี 2022 มีเป้าหมายให้เป็นสถานที่ซ่อมสิ่งของต่างๆ แทนจะจะถูกนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบขยะ และเป้าหมายของคนที่มาเป็นอาสาสมัครซ่อมของ คือ การทำให้ข้าวของมากกว่า 500 ชิ้นกลับมามีชีวิตใหม่ เพื่อป้องกันพวกมันไม่ให้ถูกนำไปทิ้งในกองขยะ

เจฟฟ์อธิบายว่า การยืดอายุของใช้ในชีวิตประจำวัน คือ เป้าหมายของรีแพร์คาเฟ่ แต่ก็มีข้อดีที่ลึกซึ้งมากไปกว่าแค่การซ่อมข้าวของ นั่นก็คือ “ความชุมชน”

ในโลกที่ผู้ที่แยกตัวจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ปี 2022 มีชาวออสเตรเลียมากกว่า 1 ใน 6 ที่เคยประสบความรู้สึกโดดเดี่ยว ขณะที่รีแพร์คาเฟ่ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ได้กลายเป็นจุดนัดพบของผู้คน และเกิดเป็นเครือข่ายที่เติบใหญ่มากขึ้น

10 ปีนับจากที่ The Bower รีแพร์คาเฟ่แห่งแรกในมหานครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียถือกำเนิดขึ้น ปัจจุบันนี้ ขบวนการซ่อมได้ขยายออกไปมากถึง 112 แห่งทั่วออสเตรเลีย และนับจากที่มีรีแพร์คาเฟ่แห่งแรกเกิดขึ้นที่เนเธอร์แลนด์ในปี 2009 ถึงขณะนี้ มีรีแพร์คาเฟ่เกิดขึ้นแล้วใน 40 ประเทศทั่วโลก รวมมากกว่า 3,500 แห่ง  

แทมบอรีนเมาเทนรีแพร์คาเฟ่ ให้บริการซ่อมของโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และดำเนินงานโดยอาสาสมัครที่มีทักษะการซ่อม ส่วนผู้ที่มาใช้บริการหากต้องการจ่ายค่าซ่อม ก็สามารถบริจาคเป็นเงินเท่าที่จะจ่ายไหว ซึ่งเงินเหล่านี้จะถูกนำกลับคืนไปสู่การให้บริการต่างๆ แก่ชุมชน

เจมี สเตราส์ อดีตนักจิตวิทยาบำบัดและช่างซ่อมอาสาสมัคร เชื่อว่า ชุมชนการซ่อมนั้นดีต่อทั้งสุขภาพกระเป๋าสตางค์ของประชาชน และยังมีสิ่งที่ดีสำหรับจิตใจ เธอกล่าว่วา ผู้คนรู้สึกเหงา พวกเขาจึงชอบการที่ได้มาพบปะและพูดคุยกัน

เธอกล่าวว่า มีผู้สูงวัยจำนวนมากและคนที่เป็นหม้ายไม่รู้วิธีการซ่อมแซมข้าวของต่างๆ ที่เสีย และด้วยการที่ทุกวันนี้ทุกสิ่งอย่างต้องใช้เงิน ผู้คนรู้ว่าสามารถพึ่งพาเราได้ในเรื่องพวกนี้ และยังช่วยประหยัดเงินให้กับพวกเขาได้มากขึ้น

“ขอแค่รู้ว่าพวกเราอยู่ตรงนี้ ผู้คนก็จะรู้ว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว และไม่ต้องรู้สึกว่าถูกแยกออกจากสังคม นั่นคือสิ่งที่สำคัญมากๆ” เจมีกล่าว” เจมีกล่าว

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็น คือ เราเห็นชุมชนซ่อมของกำลังพาคนจากส่วนต่างๆ ของสังคมมารวมตัวกัน ซึ่งเป็นข้อดีมหาศาลต่อสังคม” เลนเน ไวส์มาน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ และผู้นำเครือข่ายการซ่อมของออสเตรเลียกล่าว  นอกจากนี้ศาสตราจารย์เลนเน ยังเป็นผู้เคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องสิทธิการซ่อมในออสเตรเลียด้วย

เธอกล่าวว่า รีแพร์คาเฟ่สามารถช่วยให้ผู้คนได้พบปะเพื่อนใหม่ๆ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งจากประสบการณ์ของเธอ ความรู้สึกของการรวมเข้าด้วยกันและการเชื่อมต่อทางสังคมเกิดขึ้นที่รีแพร์คาเฟ่ที่เธอเข้าไปมีส่วนร่วมที่มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ

“เรามีทั้งผู้อพยพ คนสูงอายุ คนหนุ่มสาว คนที่มีอุปสรรคในการจ้างงานหรือเป็นคนพิการ ทั้งหมดมารวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์ที่เรียบง่าย และการรวมเข้าหากันของคนต่างภูมิหลังนั้นเป็นข้อดีอย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์เลนเนกล่าว

เธอบอกว่า เธอได้ฟังเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของคนที่ถูกแยกจากสังคม แต่ที่เห็นรีแพร์คาเฟ่เป็นเสมือนเส้นทางที่วิเศษสำหรับการเข้ามาพบปะผู้คน และแบ่งปันความรู้ต่างๆ ให้แก่กัน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้ได้เพื่อนใหม่ๆ

“ในสังคมทุนนิยม ทุกคนมีแนวโน้มที่จะซื้อเครื่องตัดหญ้าของตัวเอง แต่ถ้าคุณมีชุมชนที่ร่วมแบ่งปันเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ คนจะพึ่งพาอาศัยกันและกันมากขึ้น การออกมาจิบชาสักแก้วหรือเบียร์ด้วยกัน นั่นจะทำให้สังคมดีขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การนำพาผู้คนให้แสดงออกถึงความห่วงใยและเคารพซึ่งกันและกัน” เนวิลล์วอร์เนอร์ ครูมัธยมวัยเกษียณและอาสาสมัครช่างซ่อมเปียโนของแทมบอรีนเมาท์เทนรีแพร์คาเฟ่กล่าว

สำหรับทีมซ่อมของแทมบอรีนเมาท์เทน ทุกการซ่อมคือชัยชนะเล็กๆ ที่ไม่ใช่แค่ชัยชนะทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นชัยชนะทางจิตวิญญาณของมนุษย์ด้วย

 

ที่มา
As a place to fix, mend, and connect, repair cafes battle loneliness as well as waste