Skip to main content

 

Libertus Machinus
 


เวลาเราจะไปที่ไหนก็ตามนอกประเทศ เราต้องเช็คเสมอว่าประเทศนั้นๆ อนุญาตให้คนถือพาสปอร์ตประเทศเราเข้าได้หรือไม่? เข้าได้กี่วัน? ถ้าเข้าไม่ได้ ก็ต้องไปทำวีซ่าก่อน นี่คือระเบียบของโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน การเข้าออกประเทศต่างๆ ไม่ได้มีระเบียบแบบนี้ ในยุคก่อนคนเข้าออกได้อย่างอิสระ อำนาจรัฐเหนือพื้นที่ไม่ได้มีความชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีใครอยู่อาศัย แต่เมื่อรัฐสมัยใหม่เริ่มขยายอำนาจอธิปไตย มันแทบไม่เหลือพื้นที่ใดในโลกที่ "ไม่เป็นของรัฐใด"

แน่นอน บางคนอาจแย้งว่าแอนตาร์กติกาก็เป็นแบบนั้น ทุกวันนี้คนจะไปแอนตาร์กติกาไม่ต้องมีวีซ่า นั่นมีส่วนถูก แต่ในทางเทคนิค แอนตาร์กติกาถือว่าไม่มีมนุษย์อยู่อาศัย เพราะไม่มีการตั้งถิ่นฐานแบบถาวร ดังนั้น ในทางเทคนิคการไปที่นั่นมัน "อยู่อาศัย" ไม่ได้

แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่น่าสนใจเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามอีกซีกโลก ซึ่งเราจะมาพูดถึงหมู่เกาะ "สวาลด์บาร์ด" กัน โดยหมู่เกาะนี้เป็นที่ตั้งของการตั้งถิ่นฐานถาวรของมนุษย์ที่อยู่เหนือสุดของโลก โดยห่างจากขั้วโลกเหนือเพียง 1,000 กิโลเมตร และไฮไลต์ก็คือ คุณก็สามารถไปอยู่ที่นี่ได้ โดย "ไม่ต้องมีวีซ่า" และจริงๆ คือมี "คนไทย" ไปอยู่เยอะเลยด้วย

ในสมัยก่อน "สวาลด์บาร์ด" มีชื่อว่า "สปลิซเบอร์เกน" มาเปลี่ยนชื่อเอากลางๆ ศตวรรษที่ 20 โดยในที่นี้จะเรียกว่า "สวาลด์บาร์ด" เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

ว่ากันว่ามนุษย์กลุ่มแรกที่ค้นพบสวาลด์บาร์ด คือ พวกไวกิ้ง แต่ก็ไม่ได้บันทึกอะไรไว้ โดยคนที่ค้นพบคนแรกๆ แล้วบันทึกถึงสถานที่นี้เอาไว้คือ นักสำรวจชาวดัตช์ในช่วงศตวรรษที่ 16

แต่ดั้งแต่เดิมเป็นเกาะที่ไม่มีใครอยู่ เพราะอากาศหนาวมากเนื่องจากใกล้ขั้วโลกเหนือ และสมัยก่อนก็ไม่ได้มีใครสนใจจะไปเคลมเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ดี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นานาชาติก็มีการพูดคุยกันว่าจะเอายังไงดี เพราะภายใต้ระเบียบโลก ทุกพื้นที่ต้องมี "เจ้าของ" เป็นของรัฐใดสักแห่ง และสุดท้ายนานาประเทศก็เลยมีการตกลงกันในปี 1920 ว่า ให้หมู่เกาะสวาลด์บาร์ดเป็นของนอร์เวย์ ภายใต้เงื่อนไขว่าทุกชาติที่อยู่ใน "สนธิสัญญาสวาลด์บาร์ด" จะต้องสามารถเข้ามาพำนักที่นี่ได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า หรือพูดง่ายๆ ก็คือ นานาชาติให้พื้นที่นี้กับนอร์เวย์ปกครอง ภายใต้เงื่อนไขว่าคนทุกชาติคู่สัญญาจะต้องเข้าออกได้อย่างเสรี

ตัดภาพมาที่ 100 ปีต่อมา ทุกวันนี้สวาลด์บาร์ดมีประชากรประมาณ 2,000 กว่าคน  2 ใน 3 เป็นคนนอร์เวย์ ส่วนคนอีก 1 ใน 3 เป็นคนจากทั่วโลกที่มาโดยไม่ต้องมีวีซ่า ที่น่าสนใจก็คือ รองจากคนนอร์เวย์ เป็นคนรัสเซียที่ช่วงหลังๆ หนีสงครามมาประกอบธุรกิจที่นี่กันเยอะ แต่จริงๆ แล้วอันดับ 3 ที่เคยเป็นประชากรอันดับ 2 ของที่นี่คือ "คนไทย" โดยในช่วงปี 2006 ทางสำนักข่าวอัลจาซีร่าเคยรายงานว่า คนไทยคือเชื้อชาติที่เป็นประชากรอันดับ 2 ของสวาลด์บาร์ด ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าไปทำงานทำความสะอาด

ถามว่าเข้าไปทำไม? คำตอบอย่างหนึ่งก็จะบอกว่า จริงๆ คือ "เงินดี" แน่ๆ ถ้าเทียบกับทำงานที่ไทย แต่อีกเงื่อนไขคือ การไปอยู่ที่นี่นานๆ จะทำให้สามารถขอสัญชาตินอร์เวย์ได้ และนั่นอาจเป็น "รางวัล" จริงๆ ในการมาอยู่ดินแดนกันดารท่ามกลางน้ำแข็งที่อยู่เกือบถึงขั้วโลกเหนือแห่งนี้

ตรงนี้หลายคนอาจสนใจไปอยู่ แต่มันมีหลายอย่างที่ต้องเข้าใจก่อน

แม้ว่าสวาลด์บาร์ดจะไม่ต้องมี "วีซ่า" ในการเข้าไป "เที่ยว" แต่ในทางปฏิบัติคือ ถ้าคุณจะ "อยู่" ก็ต้องมี "ใบอนุญาต" ที่จะเข้าไป ซึ่งหลักๆ แล้วสิ่งที่ต้องมีก็คือ "งาน" หรือพูดง่ายๆ คุณไม่มีสิทธิ์ "อยู่" ที่นี่ ถ้าคุณไม่มีงานทำ ซึ่งถามว่าในทางปฏิบัติคืออะไร? ในทางปฏิบัติมันหมายความว่า ถ้าคุณไม่มีงาน ทางสำนักการผู้ว่าการสวาลด์บาร์ดจะไม่ออกเอกสารให้ ซึ่งพอคุณไม่มีเอกสารคุณก็จะใช้บริการสาธารณะอะไรไม่ได้เลย และนั่นคือคุณจะลำบากแน่ๆ ในการอยู่ในที่กันดารแบบนี้ หรือพูดให้ตรงคือ อาจ "ตาย" ได้เลย เพราะมันไม่มีที่ให้คุณไป ถ้าคุณคิดจะออกนอกเมืองก็คิดดีๆ เพราะหมู่เกาะแห่งนี้มีหมีขั้วโลกมากกว่ามนุษย์ และคนแถวนี้จะไม่กล้าออกไปนอกเมืองโดยไม่พกปืนล่าสัตว์ออกไปด้วยซ้ำ

แต่จริงๆ ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีปัญหา "คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย" สักเท่าไร เพราะปกติเที่ยวบินที่จะไปลงสวาลด์บาร์ด ต้องบินจากนอร์เวย์ โดยระยะทางห่างจากกรุงออสโลระดับที่ต้องบินนาน 3 ชั่วโมง ดังนั้น จึงไม่มีใครไปถึงสวาลด์บาร์ดได้ง่ายๆ แบบพายเรือไปถึง และในทางปฏิบัติ คนที่จะไปสวาลด์บาร์ดได้ก็คือคนที่ต้องเข้ามาที่นอร์เวย์อย่างถูกกฎหมายก่อนนั่นเอง แต่ก็แน่นอน ถ้าไปถึงนอร์เวย์อย่างถูกกฎหมายแล้วหางานที่สวาลด์บาร์ดทำได้ ก็ย่อมสามารถอยู่นั่นได้ยาวๆ โดยที่ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องวีซ่า

สิ่งที่น่าสนใจ คือ จริงๆ แล้วในทางเทคนิค สวาลด์บาร์ดให้แค่คนในประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาปี 1920 รวมถึงประเทศที่ลงนามตามมาเข้ามาที่นี่โดยไม่ต้องใช้วีซ่าเท่านั้น แต่ไทยไม่ได้อยู่ในสนธิสัญญานี้

นี่แหละที่น่าสนใจ เพราะทางสวาลด์บาร์ดเค้าบอกว่า ในทางปฏิบัติไม่ได้สนว่าคนที่มาต้องมาจากชาติในสนธิสัญญาหรือเปล่า และนี่คือเหตุผลที่คนไทยคือประชากรอันดับ 2 ของหมู่เกาะนี้ก่อนหน้ารัสเซีย  โดยคนไทยส่วนใหญ่ไปทำงานทำความสะอาด

ดังนั้น ในแง่หนึ่ง ที่นี่เป็นดินแดนที่มี "ชุมชนคนไทย" อยู่ไม่น้อยเลย และถ้าใครคิดจะไปอยู่ จริงๆ อาจมีลู่ทาง เพราะมีเพื่อนร่วมชาติไปอยู่แล้ว และดังที่เล่ามาทั้งหมด นี่คือการไปอยู่แบบ "ถูกกฎหมาย" ด้วย ไม่ใช่ลักลอบเข้าเมืองไปทำงานแบบที่เรียกว่าเป็น "ผีน้อย"

แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ต้องเข้าใจด้วยเช่นกันก็คือ การไปทำงานที่สวาลด์บาร์ดนั้นไม่ใช่สบาย แน่นอนเงินเดือนและค่าครองชีพของที่นี่พอๆ กับนอร์เวย์ คือสูงทั้งคู่ เงินเดือนคนทำความสะอาดเดือนละ 70,000 บาทไม่ใช่เรื่องแปลก ค่าครองชีพที่นี่เดือนนึงแบบไม่ลำบากก็จะตกประมาณ 50,000-60,000 บาท (มี YouTuber เคยคำนวณเอาไว้) ก็เรียกว่าถ้าไปทำงานระดับล่าง ก็มีเงินเหลือเก็บบ้าง แต่น้อย ดังนั้นมันจึงไม่ใช่พื้นที่ที่น่าไป "ทำงานเก็บเงิน" เท่าไร แต่ถ้าอยากไปทำงานยาวๆ เพื่อขอสัญชาตินอร์เวย์ ก็อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

และที่สำคัญ "สวาลด์บาร์ด" เป็น "ทางผ่าน" จริงๆ เพราะแม้ว่าคนจะ "อยู่อาศัย" ที่นี่ได้ แต่ไม่มีโรงพยาบาลที่สามารถคลอดลูกได้ และก็ไม่มีสุสานเพราะพื้นเป็นน้ำแข็งหมด คนที่จะคลอดลูกหรือฝังศพ ต้องกลับมาทำที่นอร์เวย์แผ่นดินใหญ่ทั้งนั้น

นี่ก็หมายความว่าคุณอาจ "อยู่" หรือ "ทำงาน" ที่สวาลด์บาร์ดได้ แต่คุณจะ "เกิด" และ "ตาย" ที่นี่ไม่ได้นั่นเอง

 

อ้างอิง
Immigrants warmly welcomed
Welcome to Svalbard: a place anyone can call home
Svalbard
How much it costs to live on Svalbard? Detailed Breakdown of our Expenses in the Northernmost Town
Svalbard Treaty
Visa policy of Svalbard
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน