รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังชุบชีวิตร้านหนังสือที่ทยอยกันล้มหายตายจากไปในตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจะทำให้เป็นศูนย์รวมด้านความคิดสร้างสรรค์ของชุมชนในการยกระดับทางวัฒนธรรม รวมทั้งช่วยเพิ่มผลกำไรและประสิทธิภาพในการจัดการร้านหนังสือในญี่ปุ่น
สถาบันวิจัยด้านการพิมพ์ของญี่ปุ่น เผยว่า จำนวนร้านหนังสือในญี่ปุ่นลดลงราวครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีอยู่ 21,000 ร้านในปี 2003 และลดลงเหลือ 11,000 ร้านในปี 2023 และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีร้านหนังสือที่ปิดตัวไปแล้ว 4,600 แห่ง
ขณะที่ มูลนิธิอุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งญี่ปุ่นเพื่อวัฒนธรรม รายงานว่า เทศบาลเมืองในญี่ปุ่นมากกว่าร้อยละ 27 ไม่มีร้านหนังสืออยู่เลยแม้สักร้านเดียว และยอดขายของหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มก็ร่วงดิ่งลง จากที่เคยอยู่ที่ราว 2.7 ล้านล้านเยนเมื่อปี 1996 มาอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านเยนในปี 2022 ขณะที่ร้านหนังสือดิจิทัลกลับโตขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้นจากราว 160 พันล้านเยนในปี 2013 มาเป็น 209 พันล้านเยน ในปี 2022
เดือนเมษายน 2024 รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการฟื้นคืนชีพให้ร้านหนังสือ โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม เปิดตัวคณะทำงานโครงการส่งเสริมร้านหนังสือ ในการชุบชีวิตร้านหนังสือให้เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ
เรียว มินามิ หัวหน้าโครงการ ระบุว่า โครงการนี้เป็นโอกาสที่จะสะท้อนความสำคัญอย่างยิ่งของหนังสือและร้านหนังสือ โดยย้ำว่า การสนับสนุนร้านหนังสือของรัฐบาลนั้น ไม่ขัดแย้งกับเทรนด์ของโลกที่ก้าวไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองช่องทางต่างล้วนมีข้อดีที่แตกต่างกัน
โครงการเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์ผู้จัดการร้านหนังสือและหุ้นส่วน โดยทำออกมาเป็นรายงานชื่อ ความท้าทายของการชุบชีวิตร้านหนังสือ เผยแพร่เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า ร้านหนังสือในญี่ปุ่นเผชิญความท้าทาย 29 ประการ ซึ่งรวมไปถึงปัญหาเรื่องรูปแบบของการกระจายหนังสือในปัจจุบัน จำนวนพิมพ์หนังสือเล่มของสำนักพิมพ์ที่ลดลงมาก และการแข่งขันจากห้องสมุดต่างๆ และร้านขายหนังสือออนไลน์
ในรายงานเน้นถึง ข้อดีของร้านหนังสือที่เป็นกายภาพว่า สามารถจับต้องได้ มีหนังสือหลายประเภทที่มีการคัดเลือกอย่างระมัดระวังและจัดขึ้นชั้นโดยคนขาย ทำให้สามารถมองเห็นได้ง่าย และดึงดูดให้คนเข้าไปหยิบจับหนังสือที่อาจยู่นอกเหนือความคุ้นเคยของตัวเอง ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตการอ่านและทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ จากหนังสือ
อย่างไรก็ดี แม้ห้องสมุดจะมีบริการให้ยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านได้ แต่ก็มีข้อจำกัด คือ เรื่องของระยะเวลาการยืม ขณะที่ร้านหนังสือออนไลน์ ก็ใช้อัลกอรึทึมในการคัดเลือกหนังสือโดยอิงจากตัวผู้อ่าน ซึ่งอาจเป็นกำแพงปิดกั้นการค้นพบเรื่องราวที่แปลกใหม่จากหนังสือประเภทอื่นๆ
คณะทำงานงาน เผยแพร่คู่มือสำหรับเจ้าของร้านหนังสือในการเข้าร่วมโครงการ โดยอธิบายถึงมาตรการอุดหนุนที่จะทำให้เจ้าของร้านหนังสือสามารถเพิ่มยอดขาย รวมถึงปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ โดยมีตัวอย่างจากร้านหนังสือต้นแบบที่เริ่มต้นดำเนินการในพื้นที่ต่างจังหวัด
เมื่อรัฐบาลเริ่มขยับตัว บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นก็ขยับตามด้วยการริเริ่มโครงการของตัวเอง เช่น บริษัทสิ่งพิมพ์ ได นิปปอน พรินท์ติ้ง ได้เปิดตัวบริการช่วยเหลือลูกค้าในการเปิดร้านหนังสือ ซึ่งเริ่มโครงการแรกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเปิดร้านหนังสือในโรงแรมที่เมืองซัปโปโร ด้วยธีมการท่องเที่ยว
ข้อดีคือ นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจและเข้ามาจับจ่ายซื้อหนังสือแม้จะไม่ได้เข้าพัก ขณะที่ทางโรงแรมก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาที่โรงแรม ทางบริษัทก็ได้โปรโมทธุรกิจสิ่งพิมพ์ของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีร้านหนังสือใหม่ๆ ตามจังหวัดต่างๆ ด้วยคอนเซ็ปต์แบบใหม่ คือ ร้านขายหนังสือที่เป็นร้านกาแฟ เช่น ที่เมืองนาราชิโนะ ในจังหวัดชิบะ โดยเจ้าของร้านรายใหม่ได้ชุบชีวิตร้านหนังสือขึ้นใหม่ หลังจากเจ้าของคนเดิมเกษียณและปิดร้านลง ซึ่งในตอนนี้ความคิดใหม่ๆ เริ่มถูกนำไปใช้ยังร้านหนังสือต่างๆ ตามต่างจังหวัดของญี่ปุ่น
ในขณะที่ความนิยมในการซื้อหนังสือจากร้านหนังสือออนไลน์เติบโตอย่างเนื่อง แต่คนหนุ่มสาวในสหราชอาณาจักรได้ค้นพบความสุขจากการไปร้านหนังสือ ซึ่งพวกเขาสามารถพูดคุยและสร้างชุมชนในโลกจริงที่ร้านหนังสือ เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นที่เริ่มมีมุมมองใหม่ต่อร้านหนังสือในชนบท ที่นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์แบบดั้งเดิม คือ การเป็นแค่สถานที่สำหรับขายหนังสือ
การส่งเสริมร้านหนังสือในญี่ปุ่น จึงเป็นมากกว่าการทำให้ร้านหนังสือยังคงดำรงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป แต่ร้านหนังสือในยุคดิจิทัลในญี่ปุ่นจะเป็นพื้นที่ของการเปิดรับความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม เป็นสถานที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการทำให้ผู้คนคิดถึงอนาคตภายภาคหน้าข้างของสังคม
ที่มา
How promoting bookstores in Japan can help build an inclusive society