สหภาพยุโรปเตรียมห้ามส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศนอกกลุ่ม OECD โดยจะเริ่มในปี 2026 เพื่อควบคุมการส่งออกขยะไปยังประเทศต่างๆ โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดที่เหมาะสม
ในปี 2023 สหภาพยุโรป หรืออียู ส่งออกกระดาษใช้แล้ว พลาสติกและแก้ว รวม 8.5 ล้านตัน โดยที่มากกว่า 1 ใน 5 ถูกนำเข้ามายังประเทศมาเลเซีย ขณะที่อินโดนีเซีย และเวียดนาม ก็เป็นผู้นำเข้าขยะรายใหญ่จากยุโรปด้วยเช่นกัน ข้อมูลของคณะกรรมาธิการยุโรปเผยว่า นับจากปี 2004 สหภาพยุโรปมีการส่งออกขยะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72
ขณะที่ประเทศมาเลเซีย ยังคงนำเป็นผู้เข้าขยะพลาสติกจากสหภาพยุโรปรายใหญ่ของโลก และในปี 2023 ปริมาณขยะพลาสติกที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปี 2022
หลังจากจีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและวัสดุอื่นๆ ในปี 2017 ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการนำเข้าขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้น และในปี 2021 มาเลเซียก็กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซีย ต้องการลดการนำเข้าขยะพลาสติกจากยุโรป แต่ก็ไม่มีการห้ามอย่างเป็นทางการ ขณะที่ในปี 2020 อัตราการรีไซเคิลของมาเลเซียอยู่ที่เพียงร้อยละ 30 ซึ่งต่ำกว่าสิงคโปร์ถึงครึ่งหนึ่ง
รายงานของสหประชาชาติเผยว่า แต่ละปีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเข้าขยะพลาสติก กระดาษ และเหล็ก มากกว่า 100 ล้านตัน นับจากปี 2017 ถึง 2021 รวมมูลค่าแล้วราว 47 พันล้านยูโร
“รัฐบาลมาเลเซียยังคงยอมให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และความต้องการของอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศ อย่างไรก็ตาม ขยะพลาสติกที่นำเข้าจำนวนมากเป็นแบบใช้ได้ครั้งเดียว หรือไม่ก็ปนเปื้อน ซึ่งต้องนำไปฝังในหลุมฝังกลบ หรือต้องนำไปเผาเท่านั้น” เฮมา สุลักษณา จากองค์กรกรีนพีซ มาเลเซียกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงว่าการรีไซเคิลเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งหมายถึง จะมีขยะที่ถูกนำไปฝังกลบในหลุมหรือถูกนำไปเผา ซึ่งจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
แม้ว่า สหภาพยุโรปจะมีมติห้ามส่งออกขยะบางชนิดโดยเริ่มในปี 2026 ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ขยะอื่นๆ ที่ไม่ใช่พลาสติก อย่างเช่นขยะสิ่งทอยังคงสามารถส่งออกไปยังประเทศนอกกลุ่ม OECD ได้ และได้สร้างความกังวลให้กับนักสิ่งแวดล้อม เมื่ออุตสาหกรรมรีไซเคิลสิ่งทอของยุโรปกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ในการรับมือกับอุปสงค์ของการผลิตเสื้อผ้าสิ่งที่สูงกว่าอุปทานของตลาดส่งออก
ทางด้านสหภาพยุโรปประมาณการณ์ว่า มีการส่งออกขยะราวร้อยละ 15 ถึง 30 ที่ผิดกฎหมาย และย้ำว่าต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกว่านี้ ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็เริ่มหารือกับประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการติดตามการลักลอบขนส่งขยะผิดกฎหมาย
ที่มา
Malaysia struggles to halt European plastic waste imports