งานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เผยว่า การใช้โต๊ะทำงานแบบยืน ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมอง และหัวใจล้มเหลว ซ้ำยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดใหญ่ และอาการเส้นเลือดขอด
ขณะที่มีความเชื่อซึ่งแผ่ขยายเป็นวงกว้างว่า การยืนทำงานจะส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการนั่ง แต่การวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารระบาดวิทยานานาชาติ ทำการศึกษาข้อมูลของคนวัยผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรมากกว่า 83,000 คน และพบว่า การยืนทำงานไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วย เช่น โรคเส้นเลือดสมอง และหัวใจล้มเหลว แต่อย่างใด
คนวัยผู้ใหญ่กลุ่มดังกล่าว ไม่มีอาการของโรคหัวใจในตอนที่เริ่มต้นการศึกษา และสวมอุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนไหวไว้ที่ข้อมือ จากข้อมูลที่ได้รับทีมวิจัยพบว่า การยืนเป็นเวลานานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ในทุกๆ 30 นาทีของการยืนที่ยืดยาวออกไปจะทำให้ความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้นักวิจัย ไม่พบว่าการยืนทำงานจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจล้มเหลว โรคเส้นเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ
นักวิจัยระบุว่า โต๊ะทำงานแบบยืน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้นั้น ไม่ได้ช่วยลดปัญหาสุขภาพ และการยืนติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าสองชั่วโมงต่อวัน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น การเกิดลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดใหญ่ และเกิดอาการเส้นเลือดขอด
ดร.แมทธิว อะห์มาดี จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า คนที่นั่งหรือยืนเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ควรจัดเวลาให้ร่างกายได้มีการขยับหรือเคลื่อนไหวอยู่บ่อยๆ ไปตลอดทั้งวัน
“ข้อเท็จจริงก็คือ การยืนเป็นเวลานานเกินไป จะไม่ได้ชดเชยกับวิถีชีวิตที่ต้องมีการนั่งนานๆ และอาจเป็นความเสี่ยงสำหรับบางคนในเรื่องของการไหลเวียนของเลือด เราพบว่า การยืนมากๆ ไม่ได้ช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดหัวใจดีขึ้นในระยะยาว แต่กลับจะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องของการไหลเวียนโลหิตให้มากขึ้น” ดร.แมทธิว กล่าว
ศาสตราจารย์ เอมมานูเอล สตัมอาทาคิส ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย Mackenzie Wearables ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่นั่งเป็นเวลานานเป็นประจำ การเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ตลอดทั้งวัน รวมถึงการออกกำลังกายที่เป็นระบบ อาจเป็นวิธีที่ดีกว่าในการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
"ลองพักเป็นระยะๆ เดินไปมา เดินประชุม ใช้บันได พักเป็นระยะๆ เมื่อขับรถทางไกล หรือใช้เวลาพักเที่ยงเพื่อออกไปจากโต๊ะทำงานและออกกำลังกายบ้าง" ศาสตราจารย์ เอมมานูเอล กล่าว
เอมิลี แมคแกรธ พยาบาลอาวุโสจากมูลนิธิหัวใจของอังกฤษ ซึ่งไม่ได้ร่วมในการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ผลการวิจัยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างวัน ยิ่งสามารถหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่นิ่งๆ ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น และการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงนี้
ที่มา
Standing desks do not reduce risk of stroke and heart failure, study suggests