Skip to main content

 

A Dialogue with Time นิทรรศการในประเทศญี่ปุ่น ที่ให้เสริมสร้างประสบการณ์ทางอารมณ์และความรู้สึกให้กับคนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ “ความแก่ชรา” ว่า ไม่ใช่เรื่องไกลตัว พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนทั้งสองวัยได้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงประสบการณ์ชีวิตของพวกเขา

ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวญี่ปุ่น ทำให้ครอบครัวขยายที่ประกอบด้วยปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และลูกหลาน มีน้อยลง ทำให้คนหนุ่มสาวอาจไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่กับผู้สูงอายุ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้สูงอายุที่กำลังกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ

โอกาสที่จะได้คลุกคลีกับผู้สูงอายุที่น้อยลง ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่เข้าใจ “ความแก่ชรา”  จนคล้ายกับว่า เป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกิน แม้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ความแก่ชราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคนก็ตาม ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นจึงจัดนิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘A Dialogue with Time’ ขึ้นในกรุงโตเกียว ระหว่างเดือนมีนาคมถึง กรกฎาคมที่ผ่าน เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้สัมผัสถึงความชราอันเป็นสัจธรรมของชีวิต

เมื่อเข้ามาในนิทรรศการ ทุกคนจะได้รับการต้อนรับจากไกด์ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งจะทำหน้าที่พาทุกคนไปชมนิทรรศการที่ถูกจัดไว้ในห้องต่างๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับความแก่ชรา โดย Dialogue Japan Society ผู้จัดงาน ระบุว่า วัตถุประสงค์ของนิทรรศการนี้ คือ การทำให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ฉุกคิดเรื่องความแก่ชรา ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์ทุกคน

 

 

 

ห้องแรกของนิทรรศการจัดแสดงภาพของเด็กน้อยที่ค่อยแปรเปลี่ยนไปเป็นผู้ใหญ่ ก่อนที่ริ้วรอยและผมหงอกจะปรากฏขึ้น จากนั้นผู้เข้าชมนิทรรศการจะเดินเข้าไปในห้องที่ฝาผนังเต็มไปด้วยคำถาม ที่จะช่วยให้ผู้ทุกคนได้คิดตามและหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านั้น  เช่น “อายุเท่าไรที่คุณคิดว่าแก่” “คุณอยากถูกมองว่าเป็นคนแก่ตอนอายุเท่าไร” หรือ “คุณอยากมีอายุถึงเท่าไร” เป็นต้น

ห้องต่อมาจะถูกแต่งแต้มด้วยแสงไฟสีเหลือง และทุกคนจะได้รับหูฟัง แว่นตาสีเหลือง และตุ้มน้ำหนักเพื่อสวมที่ข้อเท้า จากนั้นจะได้รับคำสั่งให้เดินไปรอบๆ ห้อง เพื่อให้ผู้ชมได้มองเห็นโลกและใช้ชีวิตผ่านสายตาของผู้สูงอายุที่เป็นต้อกระจก

ในห้องถัดไป ผู้เขาชมจะได้รับฟังเรื่องราวชีวิตของไกด์ที่ทำหน้าที่พาทัวร์ในรอบนั้นๆ เช่น เรื่องราวของ ฟูกิโกะ ฟูเสะ วัย 88 ปี ที่เล่าเรื่องราวของตัวเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การยอมจำนนของญี่ปุ่นทำให้เธอที่ขณะนั้นอาศัยอยู่ที่ปักกิ่ง ไม่มีรูปถ่ายในวัยเด็กเลยสักรูป ไปจนถึงเรื่องราวการทำหน้าที่เป็นผู้ประนอมในศาล ความรู้สึกสนุกสนานทุกครั้งที่เธอได้เต้นรำ และการเริ่มทำงานอดิเรกเมื่อเธออายุ 60 ปี

หลังจากฟังเรื่องราวของไกด์สูงอายุ ผู้เข้าชมจะได้สามารถเลือกรูปภาพของผู้สูงอายุที่อยู่บนโต๊ะ และพูดคุยถึงเรื่องอนาคตที่พวกเขาวาดฝันเอาไว้เมื่อตัวเองแก่ตัวลง โดยผู้เข้าชมนิทรรศการหลายคนสะท้อนว่า งานนี้ทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องความแก่ชราและผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงมีทัศนคติในแง่บวกกับช่วงวัยชรามากขึ้น และทำให้พวกเขาฉุกคิดว่าตัวเองจะใช้ชีวิตในวัยแก่เฒ่าของพวกเขาอย่างไร

นิทรรศการนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้เข้าชมวัยหนุ่มสาว ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นไกด์รู้สึกกระชุ่มกระชวย และได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนหนุ่มสาวมากขึ้น โดยผู้จัดงานวางแผนที่จะจัดนิทรรศการรูปแบบนี้อีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2568

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นิทรรศการที่มีธีมแปลกใหม่จะได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาว และธีมเรื่องความแก่ชราก็เป็นหนึ่งในนั้น” ศาสตราจารย์โยเฮ ฮาราดะ จากสถาบันเทคโนโลยีชิบะอุระ และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเยาวชน กล่าว


อ้างอิง
เว็บไซต์นิทรรศการ
Japan aging events give opportunities to put old heads on young shoulders