ปกติแล้วเวลาพูดถึง'รัฐสวัสดิการ' คนมักจะพูดถึงรัฐสวัสดิการในประเทศยุโรปเหนือซึ่งเป็นเลิศในโลก อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งเราก็น่าจะพูดได้เช่นกันว่าประเทศเหล่านี้ถือว่ามี "ทรัพยากร" อย่างเหลือเฟือ เพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่มีประชากรน้อยนิด (เช่นพื้นที่ของไทยและสวีเดนถือว่าใกล้เคียงกัน แต่ไทยมีประชากรของไทยมากกว่าสวีเดน 6-7 เท่า เป็นต้น) มันเลยมีฐานทรัพยากรที่มากพอจะแบ่งปันความมั่งคั่งไปให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง โมเดลแบบนี้จึงไม่มีทางเอาไปใช้ในการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นได้ ดังนั้นการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศประชากรหนาแน่นมันเลยมีรากฐานที่ต่างไป
'อังกฤษ' รัฐสวัสดิการจากการสูบทรัพยากรช่วงยุคอาณานิคมและการขูดรีดในระบบทุนนิยมสมัยใหม่
ในอดีต โมเดลในการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศประชากรหนาแน่น ส่วนใหญ่จะอ้างว่าเกิดจากฐานการจ่ายภาษีเงินได้ที่มั่นคงและหนักหน่วง พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้เพราะประชาชนยอมจ่ายภาษีรวมๆ เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ ซึ่งก็อาจไม่ผิดอะไรนักถ้ามองในบริบทหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่า มีแต่ "ประเทศร่ำรวย" เท่านั้นที่ทำแบบนี้ได้ หรือพูดง่ายๆ คนจำนวนมากต้องมีรายได้สูงก่อน รัฐถึงจะเก็บภาษีมาทำรัฐสวัสดิการแบบดีๆ ระดับไม่ใช่แค่มีประกันสุขภาพหรือประกันการตกงานเท่านั้น แต่เป็นสวัสดิการระดับที่รัฐสามารถจ่ายบำนาญเลี้ยงประชาชนในวัยเกษียณไปจนจบชีวิตได้
สิ่งที่คนไม่ถามก็คือ "ประเทศร่ำรวย" พวกนี้เอาเงินมาจากไหน? ถ้าอธิบายแบบ "เสรีนิยมใหม่" ประเทศเหล่านี้ล้วนร่ำรวยจากการลงทุนในประชาชนผ่านการศึกษา และสร้างภาคการผลิตมูลค่าสูง พอประชาชนรายได้สูง มูลค่าส่วนเกินจึงเกิด และรัฐก็เก็บภาษีมูลค่าส่วนนั้นมาสร้างรัฐสวัสดิการ
การอธิบายแบบนี้เป็นการ "โยนความผิด" ว่า นโยบายรัฐที่ส่งผลต่อการสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจได้ไม่ดี เป็นสาเหตุให้หลายประเทศมีรัฐสวัสดิการไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงไอเดียแบบนี้นักวิชาการสายหลังอาณานิคมเริ่มโจมตีกันหนักแล้ว เพราะมันคือการมองข้ามการสูบทรัพยากรผ่านการล่าอาณานิคม ซึ่งถ้าย้อนไปดู ก็คือช่วงเวลาเดียวกับที่ยุโรปก่อตัวรัฐสวัสดิการในศตวรรษที่ 19 แต่คนก็ไม่ถามเลยว่าทรัพยากรที่เจ้าอาณานิคมสูบมาช่วงนั้นมันหายไปไหน? และมันมีส่วนแค่ไหนในการสร้างคุณภาพชีวิตสไตล์รัฐสวัสดิการยุโรป อันเป็นที่ถวิลหาของชาวโลกในเวลาต่อมา?
ถ้าพูดในประเด็นนี้ เคสของอังกฤษน่าจะเป็นเคสที่ชัดเจนที่สุด เพราะเป็นเจ้าอาณานิคมที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุด และจริงๆ ก็เป็นชาติที่บุกเบิกนโยบายสวัสดิการสังคมด้วย
อังกฤษไม่เกิดปฏิวัติสังคมนิยมโดยชนชั้นแรงงาน เพราะรัฐสวัสดิการช่วยไว้
ดังที่รู้กัน อังกฤษเป็นชาติแรกที่เริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรม อังกฤษจึงเป็นชาติแรกๆ ที่เกิด "ชนชั้นแรงงาน" ซึ่งทำให้ผู้คนหลุดจากตาข่ายความปลอดภัยตามจารีตของสังคมเกษตร และต้องเผชิญหน้ากับการขูดรีดของระบบทุนนิยมสมัยใหม่
คำถามง่ายๆ ทำไมอังกฤษถึงไม่เกิดการปฏิวัติ หรือกระทั่งการลุกฮือในระดับเดียวกับชาติยุโรปจำนวนมากในศตวรรษที่ 19 ที่ "ทุนนิยม" ได้เข้าไปสร้างความลำบากยากเข็ญให้ผู้คนจนเกิดขบวนการแรงงานทั่วไปหมด?
คำตอบเชิงนโยบาย คือ อังกฤษมีนโยบายบรรเทาความลำบากยากเข็ญของคนจนที่ดีมากๆ หรือว่ากันตรงๆ ก็คือ ถ้าพูดในเชิง "รัฐสวัสดิการ" ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษมีคุณภาพของสวัสดิการสังคมดีที่สุดในยุโรป และในปี 1929 วินสตัน เชอร์ชิลล์ ขณะที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษ ถึงกับบอกว่า อังกฤษคือชาติที่มี "บริการทางสังคม" ดีที่สุดในยุโรป และจริงๆ มันเป็นแบบนี้มาตลอดศตวรรษที่ 19
คำถามคืออังกฤษทำแบบนั้นได้อย่างไร? คำตอบก็ง่ายมาก เพราะถ้าจะแบ่งรายได้ของรัฐบาลอังกฤษปลายศตวรรษที่ 19 เป็น 5 ส่วน ก็จะเห็นเลยว่ามาจากในอังกฤษเองเพียง 2 ส่วน แต่อีก 2 ส่วนมาจากอินเดีย และอีก 1 ส่วนมาจากอาณานิคมที่อื่นๆ
พูดง่ายๆ รัฐบาลอังกฤษร่ำรวยระดับที่สามารถมีนโยบายช่วยคนจนที่เป็นแนวทางรัฐสวัสดิการพื้นฐานได้ ก็เพราะรายได้จากอาณานิคมนั่นเอง ซึ่งมีสัดส่วนเกินครึ่งของรายได้รัฐบาลอังกฤษในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 เลย
ดูแลคนจนในประเทศตัวเอง แต่ปล่อยให้คนนับล้านในดินแดนอาณานิคมอดตาย
สิ่งที่หลายคนอาจไม่เห็นก็คือ โลกของอาณานิคมอังกฤษ อังกฤษไปวางพื้นฐานหลายๆ อย่างให้ชาติอาณานิคมก็จริง แต่สิ่งที่อังกฤษไม่ได้วางก็คือ แนวทางของรัฐสวัสดิการ เพราะมีการบันทึกจำนวนมากว่า ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษมองว่าคนจนในอังกฤษสมควรได้รับความช่วยเหลือ แต่คนจนในชาติอาณานิคมจะถูกมองว่าเป็นทรัพยากรที่ถูกมองว่าใช้แล้วทิ้งได้ ซึ่งประเด็นนี้ไม่มีอะไรชัดกว่า ภาวะทุพภิกขภัย (famine) ในอินเดียช่วงปลายศตวรรษที่ 19
ในศตวรรษที่ 19 อินเดียประสบปัญหาอาหารขาดแคลนหลายต่อหลายครั้ง คนน่าจะตายไปหลายสิบล้านคน แต่อีกด้าน ถ้าไปดูภาคการผลิตจริงๆ อินเดียเป็นชาติที่ผลิตอาหารได้เหลือเฟือ แต่อาหารพวกนี้กลับถูกส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ และการส่งออกอาหารพวกนี้ก็เกิดพร้อมๆ ที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตนั้นขาดแคลนอาหารเสียเอง และทำให้คนอินเดียอดตายเป็นจำนวนหลักล้านคนได้ และจริงๆ เคสนี้ก็เป็นกรณีศึกษาระดับคลาสสิคว่า ชาติที่ผลิตอาหารเหลือเฟือก็อาจเกิดปัญหาความอดอยากอย่างร้ายแรงได้ ถ้าอำนาจในการควบคุมการแบ่งสรรค์อาหาร ไม่ได้อยู่ในมือรัฐบาลที่มีใจเป็นธรรมหรือกระทั่งเมตตาพอ
พวกนักวิชาการแนวยุคหลังอาณานิคม ก็ไปค้นพวกบันทึกของรัฐบาลอังกฤษในช่วงนี้ และพบข้อค้นพบที่อาจทำให้ช็อคว่า รัฐบาลอังกฤษมองว่า "คนจน" ในอินเดียเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วทิ้งได้จริงๆ คือ รัฐบาลอังกฤษไม่ได้ไม่ตระหนักว่าอินเดียขาดแคลนอาหาร และก็ไม่ใช่ไม่เคยมีการถกเถียงว่าควรจะมีมาตรการบรรเทาความอดอยากหรือไม่ แต่ข้อสรุปก็คือ รัฐบาลอาณานิคมต้องไม่ให้ความช่วยเหลืออะไรชาวอินเดียเลยทั้งสิ้น มิเช่นนั้น ชาวอินเดียจะเคยตัวและคิดว่าตัวเองมีสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือยามลำบาก
แน่นอน นี่เป็นความคิดของชาติที่สร้าง Poor Law ขึ้นมาเป็นชาติแรกๆ ในโลก เพื่อบรรเทาความยากลำบากของ "คนจน" ในประเทศตัวเอง และที่คนจนอังกฤษไม่ลุกขึ้นมาปฏิวัติอย่างที่ คาร์ล มาร์กซ์ ทำนายเอาไว้ ก็เพราะรัฐบาลอังกฤษช่วยเหลือดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่คนในอดีตไม่เคยถามคือ "เงิน" ที่ดูแลคนจนพวกนี้มาจากไหน? คำตอบก็คือหลักๆ มาจากธุรกิจและภาษีของรัฐบาลอาณานิคมนี่เอง
ณ ตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยเรื่องภาษีเงินได้ของยุคนั้น ที่ในความเป็นจริงเราไม่ได้พูดถึงเท่าไร เพราะคอนเซ็ปต์ภาษีเงินได้ของอังกฤษในยุคนั้น คือ จะเก็บเอาจากเฉพาะคนรวยมากๆ แบบรวยจริงๆ เท่านั้น คนจนไม่ต้องจ่าายภาษี ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องจ่าย
ดังนั้น ถ้าไปดูโครงสร้างรายได้ของรัฐอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ก็จะเห็นเลยว่า รายได้ส่วนใหญ่มาจากกิจการของรัฐ ซึ่งมันก็คือ มาจากการผูกขายกิจการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากอาณานิคมนั่นเอง
แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็จะเป็นว่าในระยะยาวนาน ภายใต้นโยบายอุ้มคนจนของรัฐบาล คนอังกฤษที่รายได้น้อยก็ค่อยๆ มีรายได้มากขึ้น และเพดานการละเว้นภาษีก็ค่อยๆ ลดลง จนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นี่แหละ ที่ชนชั้นแรงงานอังกฤษต้องเริ่มจ่ายภาษีเงินได้ เพราะพวกเค้ามีรายได้เกินรายได้ขั้นต่ำที่ไม่ต้องจ่ายภาษีแล้ว และภาวะที่ทุกคนในสังคมต้องจ่ายภาษีเงินได้ ก็กลายมาเป็นพื้นฐานของรายได้ของรัฐสวัสดิการอังกฤษที่มาจากภาษีเงินได้เป็นหลัก ตามสไตล์รัฐสวัสดิการทั่วไปในโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
นี่เลยนำเรากลับไปประเด็นแรกสุด คือเราจะเห็นว่าประเทศมีรัฐสวัสดิการดีๆ ได้ต้อง "รวย" ก่อน ประเทศยิ่งรวย รัฐก็จะยิ่งมีรายได้มาทำสวัสดิการผ่านพวกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งในกรณีอังกฤษ เราจะเห็นว่า กระบวนการเปลี่ยนคนจนในประเทศให้เป็นชนชั้นกลาง จริงๆ มันใช้เงินรายได้จากอาณานิคมทั้งนั้น ส่วนผู้คนในอาณานิคมเอง จะอดอยากถึงตาย รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ได้แคร์แต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้แน่นอน มันอธิบายว่าทำไมหลังจากอังกฤษเสียอาณานิคมจนหมดสิ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐสวัสดิการถึงเสื่อมลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอีกด้าน ถ้าเราตั้งคำถามและทำการขุดคุ้ยในแบบเดียวกัน เราก็อาจเห็นประบวนการตั้งไข่สร้างรัฐสวัสดิการผ่านการสูบทรัพยากรในการล่าอาณานิคม มาสร้างฐานรายได้และอุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่อื่นๆ อย่างฝรั่งเศส เบลเยียม สเปน หรือกระทั่ง อิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่น
แน่นอน คำถามพวกนี้สำคัญสำหรับอดีตประเทศอาณานิคมทั้งหลาย แต่สำหรับประเทศไซส์ใหญ่ๆ ที่มีคน "อยากจะให้เป็นรัฐสวัสดิการ" แบบประเทศไทย บางทีคำถามที่วนเวียนอยู่ว่า เราเป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้เพราะเราไม่ได้อยู่ในระดับสูงพอของห่วงโซ่การผลิตในโลก ก็อาจเป็นคำถามที่ผิด เพราะในความเป็นจริงปัญหาอาจเป็นเพราะในอดีต เราไม่เคยสูบทรัพยากรจากชาติอื่นมาสร้างความได้เปรียบอย่างคงทนถาวรเท่าพวกอดีตชาติเจ้าอาณานิคมมากกว่า