Skip to main content

นักวิจัยในสหรัฐ พบว่า สภาพอากาศที่ “ร้อนสุดขีด” มีผลทำให้อัตราการ “คลอดก่อนกำหนด” ของทารกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกับแม่ที่เป็นคนผิวดำ และอาจส่งผลเลวร้ายสุดๆ ถึงขั้นแท้งลูก

ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อากาศร้อนขยายตัวเข้ามายังหลายรัฐของสหรัฐ ภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาพบคลื่นความร้อนที่เข้าปกคลุมรัฐแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และเนวาดา ทำให้อุณหภูมิในวันที่ 6 และ 7 มิถุนายนสูงทำลายสถิติ ที่ลาสเวกัส รัฐเนวาดา อุณหภูมิสูงถึง 44 องศาเซลเซียส และที่เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา อุณหภูมิสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส ขณะที่เดดแวลลีย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย อุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส

รูปา บาซู นักวิจัยฝ่ายประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำการวิเคราะห์การให้กำเนิดทารกจำนวน 60,000 ราย ใน 16 เมืองของรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างเดือน พ.ค. ถึง ก.ย.จากปี 1999 ถึง 2006 เธอพบว่า อัตราการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นถี่ในช่วงที่สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูง

บาซูกล่าวว่า ความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดอันเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด เกิดกับแม่ที่เป็นคนผิวดำในสัดส่วนที่สูงกว่าแม่ซึ่งเป็นคนผิวขาวถึง 2.5 เท่า สอดคล้องกับการศึกษาของเคลย์ตัน อัลเดิร์น ที่พบว่า คนผิวสีอื่นๆ ต่างเผชิญความเสี่ยงต่อสภาพอากาศที่ร้อนจัด และการคลอดก่อนกำหนดมากกว่า โดยเฉพาะคนผิวดำ

“เรารู้เรื่องนี้ช้าขนาดนี้ได้ยังไง? เรามักจะมีการศึกษาเรื่องของผู้หญิงล่าช้าเสมอ ทั้งที่กลุ่มเปราะบางก็คือกลุ่มคนที่ตั้งครรภ์” บาซู กล่าว

การคลอดก่อนกำหนดนั้นส่งผลต่อสุขภาพของทารกหลายด้าน รวมถึงการเกิดภาวะโลหิตจาง ภาวะหายใจลำบาก โรคดีซ่าน การติดเชื้อในกระแสเลือด และหากเลวร้ายถึงขั้นสุด ก็คือ การแท้งลูก

ในปี 2020 บาซูเป็นหนึ่งของคณะผู้งานวิจัยที่พิจารณาการศึกษา 57 ชิ้น ซึ่งพบความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญของความร้อนและมลพิษทางอากาศ ที่ส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนดและการที่ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปรกติ

การศึกษาเมื่อปี 2023 พบว่า อัตราการคลอดก่อนกำหนดในอเมริกาเหนือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.9 ซึ่งเป็นสัดส่วนเดียวกันกับที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรปเมื่อปี 2020 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในระหว่างปี 2020 ถึง 2021 และพบว่า ประชากรหญิงผิวดำมีอัตราการคลอดก่อนกำหนดในสัดส่วนที่สูงกว่า คือ ร้อยละ 14.8 ขณะที่ประชากรหญิงผิวขาวพบที่ร้อยละ 9.5 และเมื่อเทียบกับภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดของโลก เช่น เอเชียใต้ อัตราการคลอดก่อนกำหนดจะอยู่ที่ร้อยละ 13.2  

ในปี 2023 ซึ่งสภาพอากาศร้อนทำลายสถิติ มีประชากรกว่า 6.3 พันล้านคนในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ รวมถึงบริเวณเขตรอยต่อของทะเลซาฮาราในแอฟริกา ต้องเผชิญวันที่อากาศร้อนสุดขีดถึง 31 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิระหว่างปี 1991 ถึง 2020 พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 มีสภาพอากาศที่ร้อนกว่า

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิจัยมุ่งความสนใจไปที่คนยากจนที่อยู่ในภูมิภาคของโลกที่อากาศร้อนกว่า มีการศึกษาคนงานที่ทำงานกลางแจ้งในอินเดียในเดือนมีนาคม พบว่า ที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่ 27 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงในแท้งลูกเป็น 2 เท่า ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้หญิงมีครรภ์ในเขตเมืองที่ร้อยละ 8.5 และร้อยละ 6.9 เกิดกับผู้หญิงที่อยู่ในชนบท

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจากการกระทำของมนุษย์ รวมถึงการเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นสาเหตุทำให้การคลอดก่อนกำหนดขยายไปทั่วโลก อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์และสุขภาพของตัวอ่อนทารก ขณะที่สภาพอากาศที่แล้งและมลพิษทางอากาศ จะเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์

การวิจัยนี้ระบุถึงสาเหตุเบื้องหลังของช่องว่างของการคลอดก่อนกำหนดของคนต่างสีผิวที่สัมพันธ์กับคลื่นความร้อนว่า เกิดจากหลายปัจจัย รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้แม่ที่ตั้งครรภ์ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ การต้องอยู่ท่ามกลางอากาศที่เป็นพิษ การเข้าไม่ถึงการสาธารณสุขที่ดี การไม่มีเครื่องปรับอากาศใช้ หรือการที่ต้องทำงานกลางแจ้ง โดยที่อากาศร้อนเป็นเพียงความเสี่ยงที่เลวร้ายที่สุด

องค์การนาซา ระบุว่า คลื่นความร้อนลักษณะนี้จะเกิดบ่อยขึ้นในสหรัฐในอีกไม่กี่สิบปีจากนี้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่านับจากปี 1980 ถึงปัจจุบัน การเกิดคลื่นความร้อนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า และเกิดเฉลี่ย 2-4 ครั้งต่อเดือน


อ้างอิง
Heat waves increase the number of risky, premature births
NASA map shows early summer heatwave across Nevada, Arizona and California as temperatures reach 122°F